การจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาที่เน้นภารกิจหลัก : โดย สุรชัย เทียนขาว

สภาพปัจจุบันของการศึกษาไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอุดมศึกษาของไทย ดูเหมือนว่ายังอยู่ในภาวะที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง พัฒนาระบบรวมทั้งยังเผชิญกับปัญหาการจัดอุดมศึกษาทั้งด้านธรรมาภิบาล และมาตรฐานการจัดการศึกษา ทั้งสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน รวมทั้งได้มีการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น

ปัจจุบันนักศึกษาเข้าสู่อุดมศึกษาเป็นจำนวนมาก ทำให้อุดมศึกษาของไทยพ้นภาวะที่เป็นอุดมศึกษาเฉพาะกลุ่ม (elite education) และกำลังเข้าสู่อุดมศึกษาสู่มวลชน (mass education) หากพิจารณาในด้านการกระจายโอกาสทางการอุดมศึกษาของไทย ถือได้ว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จพอสมควร จากการที่ประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และมีหลากหลายกลุ่ม แม้ว่ารัฐบาลปัจจุบันจะพยายามปรับยุทธศาสตร์กลุ่มมหาวิทยาลัยต่างๆ (reprofiling) ให้มีการกำหนดจุดเน้นของภารกิจหลักที่ชัดเจน แต่ก็ยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจน

ข้อเสนอที่น่าสนใจจากรายงานวิจัยเชิงเอกสาร เรื่อง อุดมศึกษาสู่ปวงชนโดยสุธรรม อารีกุล ในปี พ.ศ.2543 แม้ว่าได้ศึกษามาแล้วประมาณ 17 ปี ก็ตาม มีการเสนอให้จัดการอุดมศึกษา เป็น 3 ระบบได้แก่ 1) ระบบมหาวิทยาลัย เน้นการให้การศึกษาระดับสูง ปริญญาตรี โท เอก หลายสาขาวิชา มุ่งการวิจัยสู่ความทันสมัย และระดับสากล เพื่อแข่งขันกับนานาประเทศได้ 2) ระบบสถาบันอุดมศึกษาระดับสูง เน้นการให้การศึกษาระดับปริญญาตรี อุดมศึกษาทั่วไป และบัณฑิตศึกษาบางสาขาวิชา มุ่งอุดมศึกษาสู่ปวงชนและอุดมศึกษาตลอดชีวิต เพื่อให้สามารถพัฒนาชุมชนในท้องถิ่น และ 3) ระบบวิทยาลัยหรือวิทยาลัยวิชาชีพเฉพาะ เน้นการให้การศึกษาระดับปริญญาตรีหรือต่ำกว่า มุ่งอุดมศึกษาเฉพาะกลุ่มเพื่อสามารถประกอบอาชีพเฉพาะ และการศึกษาต่อเนื่องและตลอดชีวิต

ข้อเสนอระบบอุดมศึกษาทั้ง 3 ระบบนี้ ควรนำมาใช้เป็นแนวทางในการปรับพระราชบัญญัติของสถาบันอุดมศึกษาให้มีจุดยืนที่ชัดเจนไม่มีความซ้ำซ้อน ลดการแข่งขันลง แต่เพิ่มความร่วมมือช่วยเหลือกันในรูปของเครือข่าย การประกันคุณภาพการศึกษาของแต่ละระบบจะมีความเป็นธรรมขึ้น ในการสร้างกระทรวงอุดมศึกษาใหม่ในครั้งนี้ควรวางระบบอุดมศึกษาไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน และเป็นรูปแบบเพื่อเป็นกรอบให้สถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ปรับแก้กฎหมายของตนให้เข้าระบบนั้นๆ จะมีความเป็นเอกภาพสูง หากยังมีความคลุมเครือในภารกิจหลักที่ผลิตบัณฑิต/กำลังคนที่เหมือนกัน

Advertisement

และท้ายที่สุดประเมินมาตรฐานและประกันคุณภาพด้วยบรรทัดฐานเดียวกัน ซึ่งอาจไม่เป็นธรรมสำหรับสถาบันอุดมศึกษาที่มีทรัพยากรที่แตกต่างกัน ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

และเมื่อพิจารณาข้อเขียนของกฤษณพงศ์ กีรติกร (2557) ในหนังสือ อุดมศึกษาไทยเวทีไทย เวทีโลก ที่ได้เสนอผลการวิเคราะห์ของ Jamil Salmi นักวิชาการอุดมศึกษาของธนาคารโลก เกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก (World Class University) มี 3 ประเด็น คือ

1) การกำกับและบริหารที่เอื้อ – Favourable governance (กฎเกณฑ์ ระเบียบ กติกาที่เกื้อหนุนอัตตาภิบาล เสรีภาพทางวิชาการ ทีมที่มีสภาวะผู้นำวิสัยทัศน์ เชิงยุทธศาสตร์ วัฒนธรรมที่สร้างความเป็นเลิศ)

Advertisement

2) การรวมผู้ที่มีความรู้ ความสามารถสูง – Concentration of Talent (นักศึกษา อาจารย์ นักวิจัย) และ

3) ความสมบูรณ์และเพียงพอของทรัพยากร – Abundant Resources (งบประมาณจากภาครัฐทรัพยากรรายได้จากกองทุนประเมิน – endowment รายได้จากค่าบำรุง ค่าธรรมเนียม ทุนวิจัย)

เมื่อนำปัจจัยทั้ง 3 ด้านนี้ไปทาบกับสภาพที่เป็นอยู่ (Actual State) ของสถาบันอุดมศึกษาของไทย จะใช้เวลานานเท่าไร จึงจะเข้าสู่เป้าหมายที่ต้องการ ดังนั้นการจัดระบบมหาวิทยาลัยต่างๆ ของไทยให้เข้ากลุ่มจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรม มิใช่เข้ากลุ่มมหาวิทยาลัย กำกับรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยเอกชน เท่านั้น จะต้องจัดเข้ากลุ่มในภารกิจหลักที่เน้นเป็นพิเศษ เช่น กลุ่มที่มุ่งพัฒนาของชาติ และความเป็นผู้นำในวิทยากรเป็นภารกิจหลัก มุ่งพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเป็นภารกิจหลัก มุ่งพัฒนากลุ่มอาชีพเป็นภารกิจหลัก เป็นต้น

ดังนั้นอุดมศึกษาของไทยควรมีระบบที่สามารถเข้าสู่ใน 100 ลำดับแรกของโลกได้นั่นคือ ระบบที่ 1 ซึ่งมีลักษณะสำคัญ (กฤษณพงศ์ กีรติกร 2557) ได้แก่ 1) มีชื่อเสียงระดับนานาชาติด้านการวิจัย 2) มีชื่อเสียงระดับนานาชาติด้านการเรียนการสอน 3) มีดารา (Stars) ด้านงานวิจัยและเป็นผู้นำในสาขาวิชาของโลก 4) เป็นที่ยอมรับ ยกย่องจากมหาวิทยาลัยระดับโลกและสังคมทั่วไป 5) มีจุดเน้นถึงหัวข้อวิจัยที่สามารถใช้ความรู้หลายสาขาที่มหาวิทยาลัยมีความเข้มแข็งและความสามารถในการตอบโจทย์ 6) บุคลากรมีความสามารถในการสร้างนวัตกรรม และผลิตทั้งผลงานวิจัย ประเภทพื้นฐานและผลงานวิจัยประยุกต์ในปริมาณมาก 7) บุคลากรที่สามารถสร้างงานวิจัยที่ทำให้เกิดการปฏิวัติองค์ความรู้ (break through) เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ 8) เป็นมหาวิทยาลัยที่ดึงดูดนักศึกษาระดับหัวกะทิของประเทศ และขณะเดียวกันก็สามารถสร้างนักศึกษาระดับหัวกะทิ 9) มีความสามารถในการดึงดูดและรักษาบุคลากรชั้นนำไว้ได้ 10) มีความสามารถในการดึงดูดนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาให้เข้ามาเรียนหรือทำวิจัยได้ และ 11) มีจำนวนนักศึกษาชาวต่างชาติสูงมาก มหาวิทยาลัยในระบบที่ 2 น่าจะเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งสู่อุดมศึกษาสู่ปวงชน

สถาบันอุดมศึกษากลุ่มนี้ องค์การการศึกษาโลก ได้เคยเสนอภารกิจที่ต้องทำโดยเร่งด่วน 4 ประการ (สุธรรม อารีกุล, 2543) คือ 1) กำหนดพันธกิจเพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนงานโครงการโดยคำนึงถึงความต้องการของสังคม ทั้งปัจจุบันและอนาคต 2) ให้บริการชุมชน กิจกรรมวิชาการ ที่มีเป้าหมายกำจัดความใฝ่รู้ ความยากจน ความรุนแรง ความอดอยากหิวโหย และโรคภัยไข้เจ็บในสังคม 3) เปิดกว้างให้โอกาสทางการศึกษา กำจัด กฎ ระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการเข้ามาศึกษา สร้างระบบเทียบโอนและอุดมศึกษาต่อ และ 4) สร้างความสัมพันธ์กับสถานประกอบการให้เกิดความร่วมมือในเรื่องการฝึกอบรมการวิจัย และการเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานได้เข้ามาศึกษาต่อ ส่วนในระบบที่ 3 นั้น มุ่งเน้นให้มีคุณสมบัติพร้อมเข้าสู่งาน สามารถสอบผ่านมาตรฐานวิชาชีพของแต่ละอาชีพเป็นบัณฑิตนักปฏิบัติ

การจัดสถาบันอุดมศึกษาให้เข้าสู่ระบบอุดมศึกษาให้กับสถาบันอุดมศึกษาที่กล่าวข้างต้นทั้ง 3 ระบบ เป็นการสร้างเอกภาพให้กับสถาบันอุดมศึกษา และจะต้องสร้างบทบาทให้สถาบันอุดมศึกษาของไทยทุกระบบในการช่วยประเทศไทยให้ออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap – MIT) เพื่อสร้างความรุ่งเรืองให้กับประเทศ

สุรชัย เทียนขาว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image