การบังคับใช้ กม.ลิดรอนสิทธิฯ กับ‘หลักนิติธรรม’ : โดย ไพรัช วรปาณิ

จากการที่ผู้เขียนเคยเล่าเรียนวิชากฎหมายมาครึ่งค่อนชีวิต จนจบนิติศาสตร์และเนติบัณฑิตไทย ทำให้มีอุปนิสัยใฝ่รู้และใฝ่แสวงหาเหตุผลของการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสัจธรรม หลักยุติธรรม ตลอดจนการติดตามดูว่า การนั้นๆ เป็นไปตามเหตุและผล “ตรรกวิทยา” หรือไม่?..โดยเฉพาะกรณีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลิดรอนสิทธิของปัจเจกบุคคล เป็นการขัด หรือแย้งกับ “หลักนิติธรรม” หรือ “The Rule of Law” อันเป็น “เสาหลัก” แห่งหลักประกันความยุติธรรมชั้นพื้นฐาน ที่ทั่วโลกยอมรับ อย่างไร หรือไม่?..น่าสนใจ
การตั้งโจทย์เพื่อค้นหาคำตอบ ความถูกต้อง ชอบธรรมในประเด็นปัญหาทางกฎหมายอย่างเป็นระบบ จึงเชื่อว่าจะก่อเกิดประโยชน์ทั้งในเชิงวิชาการและภาคปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมในขณะเดียวกัน

ความสำคัญในเรื่องหลักนิติธรรม ศาสตราจารย์พิเศษจรัญ ภักดีธนากุล ได้แสดงความคิดเห็นอันมีคุณค่าในการอภิปรายร่วมหัวข้อ.. “หลักนิติธรรม รัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย : ต่างมุมมอง ต่างความเข้าใจ จุดหมายเดียวกัน” (ในจุลนิติรัฐสภา) ตอนหนึ่งว่า…

“หลักนิติธรรม” เป็นหลักการสำคัญที่จะช่วยให้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง ซึ่งไม่เพียงแต่จะต้องกำหนดให้มีในระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น หากแต่ต้องกำหนดให้หลักนิติธรรมเป็นหลักการที่สำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและการใช้อำนาจรัฐทุกประเภทด้วย นอกจากนี้ ยังต้องกำหนดให้หลักนิติธรรมมีความเชื่อมโยงและครอบคลุมถึงหลักสิทธิมนุษยชน การบริหาร จัดการ และวัฒนธรรมของสังคม ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรมาแล้วเป็นจำนวนทั้งสิ้น 19 ฉบับ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งเป็นฉบับที่ 18 ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้มีการบัญญัติคำว่า “หลักนิติธรรม”” ไว้ในกฎหมายสูงสุดของประเทศ

Advertisement

โดยได้บัญญัติไว้ในมาตรา 3 วรรคสอง ความว่า “การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม”…..ซึ่งการบัญญัติหลักนิติธรรมไว้ในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศดังกล่าวเป็นการบังคับให้องค์กรของรัฐที่ใช้อำนาจรัฐทุกระดับต้องปฏิบัติหน้าที่โดยอยู่ภายใต้หลักนิติธรรมและแสดงให้เห็นถึงคุณค่าและลำดับชั้นของหลักนิติธรรมด้วยว่า มีสภาพบังคับเป็นกฎหมายสูงสุด …มิใช่กฎหมายลำดับรองหรือเป็นเพียงปรัชญาเท่านั้น

ดังนั้น หลักนิติธรรมจึงเป็นหลักการพื้นฐานของระบอบการปกครอง กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และการใช้อำนาจ รวมทั้งดุลพินิจต่างๆ ซึ่งผู้ใดจะฝ่าฝืนหลักการนิติธรรมไม่ได้ ตลอดจนหลักนิติธรรมต้องสอดคล้องและเชื่อมโยงกับสังคมโลก ไม่ว่าจะเกิดจากพันธกรณีหรือจากจารีตประเพณี”

ผู้เขียนยังจำได้ว่า ครูบาอาจารย์ผู้สอนกฎหมายที่มีจุดยืนมั่นคงต่อวิชาชีพนักกฎหมาย เคยพร่ำสอนเสมอว่า นักกฎหมาย หรือการบัญญัติกฎหมายที่ดี ต้องเคร่งครัดกับ “หลักนิติธรรม” (The Rule of Law) เพราะเป็นพื้นฐานแห่งกฎหมาย ดังนั้น หากกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม หรือการกระทำใดๆ ที่ฝ่าฝืน, ขัด หรือแย้งกับ “หลักนิติธรรม” แล้วไซร้ ย่อมไม่มีผลบังคับ

Advertisement

หลักนิติธรรม นอกจากหลักความเป็นอิสระและความเป็นกลางของผู้พิพากษา, พนักงานอัยการ ที่ทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม จำต้องมีความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี และการพิจารณาสั่งฟ้อง-ไม่ฟ้องคดีภายใต้หลักกฎหมายอย่างอิสระ เพื่อเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐาน ดำรงตนด้วยความเป็นกลาง โดยปราศจากอคติไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใด โดยเที่ยงธรรมตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย หากมีกฎหมายที่ลิดรอนหรือทำให้ผู้พิพากษาหรือพนักงานอัยการไม่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ หรือมีอคติในการปฏิบัติหน้าที่ กฎหมาย คำพิพากษา คำสั่งฟ้อง-ไม่ฟ้องคดี หรือคำวินิจฉัย คำสั่งดังกล่าวย่อมไม่มีผลใช้บังคับ ด้วยเหตุขัดต่อหลักนิติธรรมนั่นเอง

สาระสำคัญในหลักนิติธรรมยังมีนัยครอบคลุมถึง….หลักต้องใช้บังคับเป็นการทั่วไป -,หลักต้องมีการประกาศใช้ให้ประชาชนทราบโดยทั่วถึง -,หลักผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีต้องมีสิทธิในการต่อสู้คดี -,หลักเจ้าหน้าที่ของรัฐจะใช้อำนาจเท่าที่กฎหมายให้อำนาจ และหลักกฎหมายจะยกเว้นความรับผิดให้แก่การกระทำที่ยังไม่เกิดขึ้นไม่ได้ …พร้อมกับการเน้นให้เห็นว่า…
“กฎหมายที่ดีทุกฉบับ ต้องนำพาไปสู่ความเป็นธรรม”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สาระสำคัญยิ่งอีกประการหนึ่ง ก็คือ…กฎหมายอาญาต้องไม่มีผลย้อนหลังในทางที่เป็นโทษ ซึ่งหมายถึงว่า กฎหมายอาญาต้องไม่มีผลย้อนหลังในทางที่เป็นโทษ หากในขณะกระทำการใดๆ ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้การกระทำนั้นเป็นความผิดทางอาญา กฎหมายอาญาที่บัญญัติในภายหลังจะกำหนดให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดและลงโทษมิได้

นอกจากนี้ หากการกระทำใด มีกฎหมายอาญาบัญญัติความผิดและโทษอยู่ในขณะกระทำความผิด กฎหมายอาญาที่บัญญัติในภายหลังจะกำหนดให้การกระทำดังกล่าวนั้นมีความผิดและให้บุคคลต้องรับโทษที่หนักขึ้นไม่ได้

ฉะนั้น การบัญญัติกฎหมายอาญาใช้ย้อนหลังแก่การกระทำที่เกิดขึ้นมาแล้ว ย่อมเท่ากับกฎหมายมุ่งจะให้บุคคลได้รับโทษก่อนที่จะมีกฎหมาย…จึงผิดหลักนิติธรรมอย่างเห็นได้ชัด…ว่าไหม?

ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไป ย่อมไม่สามารถทราบ หรือไม่ตระหนักได้ว่า การกระทำของตนเองจะได้รับโทษทางอาญา ซึ่งรุนแรงกว่าโทษผู้อื่น กฎหมายดังกล่าวจึงกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินกว่าสังคมจะรับได้!!!

ดังนี้แล้ว กฎหมายต่างๆ ก็จะกลายเป็นเครื่องมือให้ผู้มีอำนาจที่ฉ้อฉล ใช้อำนาจออกกฎหมายกลั่นแกล้งลงโทษบุคคลอื่นในทางที่เป็นโทษ?

จึงขัดต่อ “หลักนิติธรรม” อันน่าจะไม่มีผลใช้บังคับได้เลย

ดังนั้น การวิเคราะห์ประเด็นปัญหา ที่กำลัง “ฮอตสุดๆ” ในขณะนี้ คือเรื่องการกำหนดคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญใหม่ พ.ศ.2560 ที่เพิ่มเงื่อนไขและคุณสมบัติเกี่ยวกับสถานภาพเจ้าพนักงานในองค์กรอิสระทั้งสามแห่ง คือ ป.ป.ช., กกต. และศาลรัฐธรรมนูญ ..สุดท้ายแล้วจะออกมารูปใด จึงน่าติดตามสอดส่อง เจาะลึก เพื่อประโยชน์ในเชิงวิชาการอย่างไม่กะพริบตา
พิจารณาตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 232 ว่า ผู้ได้รับการสรรหาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ (1)รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ ป.ป.ช. (2)รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ ป.ป.ช.

ส่วนคุณสมบัติต้องห้ามนั้น ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 216 ว่า ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ (3)ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 202 ซึ่งรัฐธรรมนูญใหม่ในมาตรา 202 ได้บัญญัติลักษณะต้องห้ามของกรรมการ ป.ป.ช.ไว้ดังนี้ (1)เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรใด…(4)เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง ในระยะ 10 ปีก่อนเข้ารับการคัดเลือกหรือสรรหา

เมื่อนำเอาคุณสมบัติของกรรมการ ป.ป.ช.และคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญใหม่มาศึกษาดู ปรากฏว่านักกฎหมายได้ตีความออกมาแตกต่างกัน บางสำนักเห็นว่า กรรมการ ป.ป.ช.หลายคนอาจเข้าข่ายขาดคุณสมบัติ ในกรณีที่ตีความในทำนองให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ตามที่ตั้งธงไว้

แต่สำหรับนักกฎหมายระดับปรมาจารย์บางท่านกลับมองว่า หากตีความโดยยึด “หลักนิติธรรม” ที่ห้ามใช้กฎหมายออกภายหลังย้อนกระทบสิทธิอันเป็นโทษแก่บุคคลผู้บริสุทธิ์

ฉะนั้น เพื่อความถูกต้องชอบธรรมตามนัยแห่งหลักนิติธรรมดังกล่าว จึงควรหาทางแก้ด้วยการตรากฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญที่กำลังออกต่อไปนั้น มีบทบัญญัติเฉพาะกาลยกเว้น ให้คงสถานภาพเดิมจนครบวาระ เพื่อมิให้เกิดผลกระทบ เป็นโทษย้อนหลัง ต่อคนเดิม ผู้ทำหน้าที่ดีอยู่แล้ว

ที่ต้องจับตาคือ คณะอนุฯว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ คอ.นธ.ของ ดร.คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด สรุปให้ฟังว่า “นักกฎหมาย ผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดี ต้องซื่อสัตย์สุจริต ยึดหลักคุณธรรม เมตตาธรรม และสันติธรรม

“หมายความว่า กฎหมาย ผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดี จักต้องบัญญัติกฎหมาย การใช้, การตีความ และการบังคับใช้กฎหมาย โดยยึดเจตนารมณ์ของกฎหมาย ยึดหลักคุณธรรม เมตตาธรรม และสันติธรรม ซึ่งจะเป็นส่วนประกอบอันสำคัญทำให้การบริหารประเทศมีประสิทธิภาพ มีความเป็นธรรม”

เพื่อสนองความอยากรู้ในเชิงวิชาการดังกล่าว ผู้เขียนจึงขอตั้ง “ปุจฉา” ต่อท่านกูรูทางกฎหมายไทย อาทิ อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ และอาจารย์วิษณุ เครืองาม เพื่อเป็นแนวทางศึกษาหาความรู้ในเชิงวิชาการและสำหรับนักศึกษากฎหมายรุ่นน้องๆ ต่อไปว่า…

หากมีการตีความในเรื่องคุณสมบัติ “ย้อนหลังเป็นโทษ” แก่ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กร ป.ป.ช.ซึ่งได้ทราบมาว่ามีผลงานเป็นที่ประจักษ์นั้น

เป็นการลิดรอนสิทธิมนุษยชนหรือไม่?

และที่สำคัญ จะเป็นการขัด หรือแย้งกับ “หลักนิติธรรม” หรือ “The Rule of Law” อันเป็น “เสาหลัก” แห่งระบบประกันความยุติธรรมระดับสากล…หรือไม่ครับ??

ไพรัช วรปาณิ
กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image