ฟร้อนต์เพจ ออนไลน์: เราจะเอายังไงกับหมุด “คณะราษฎร”?

วันหยุดเทศกาลสงกรานต์ นั่งเล่น นอนเล่น หลบร้อนอยู่ใต้ร่มไม้

ท่องโลกออนไลน์ อ่านเรื่องราวเรื่อยเปื่อยเรื่อยไป จู่ๆ ก็มาสะดุดจนถึงขั้นสะดุ้งกับข่าว “มือดี” ทำการเปลี่ยน “หมุดคณะราษฎร” เป็นแบบใหม่ ถัดมาไม่กี่อึดใจ คำว่า “ประชาชนหน้าใส” ถูกนำมาแซวเล่นกันอย่างแพร่หลายในโซเชียล

จากหมุดสำคัญ สัญลักษณ์ให้ระลึกถึง “การอภิวัฒน์สยาม” วันที่ 24 มิถุนายน 2475

มีข้อความว่า “ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ”

Advertisement

กลายมาเป็นหมุดที่แทบไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์นั้น

หมุดใหม่มีข้อความว่า “ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน”

Advertisement

“หมุดคณะราษฎร” เป็นหมุดทองเหลือง ฝังอยู่บนถนนราชดำเนินนอก บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า

จุดที่ฝังเป็นตำแหน่งที่พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ยืนอ่านประกาศคณะราษฎร เมื่อวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง

กระทรวงมหาดไทย จัดทำขึ้น มีพีธีฝังหมุดเมื่อ 10 ธันวาคม 2479 โดยพระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ตอกตรึงไว้มายาวนาน ผ่านเหตุการณ์ทั้งทำลายและเชิดชูสารพัด

กระทั่งเมื่อ 14 เมษายน 2560 จึงถูกงัดออกไปแล้วเอาหมุดใหม่มาเปลี่ยน

คุณูปการอย่างหนึ่งของการ “เปลี่ยนหมุด” คือทำให้สังคมหันมาสนใจสัญลักษณ์ดังกล่าวมากขึ้น

อย่างไร? มาจากไหน?

เพราะต้องยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ผู้คนรับรู้ และให้ความสนใจเกี่ยวกับหมุด รวมถึงเหตุการณ์เกี่ยวข้องน้อยมากๆ โดยเฉพาะในช่วงหลายสิบปีมานี้ เหตุการณ์เกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คล้ายจะถูกทำให้หลงลืม

มีเพียงนักวิชาการ นักกิจกรรมไม่กี่คนร่วมจัดงานรำลึก ง่ายๆ เงียบเหงาในช่วงเช้าบริเวณจุดฝังหมุด ขณะที่ช่วงบ่ายหรือเย็นกิจกรรมเสวนาแทบจะฟังกันเอง

แต่เชื่อว่าถ้าลองจัดขึ้นหลังจากหมุดหาย จะมีคนฟังแน่นเอี้ยด

เพราะสังคมขับเคลื่อนไปด้วยความสงสัย สิ่งที่ไม่เคยเคลียร์ ไม่เคยชัด ย่อมเป็นสิ่งที่คนอยากรู้อยากเห็น

และสิ่งที่เป็น “คำถาม” ของคนในสังคมตอนนี้คือ ใครมีหน้าที่เสาะแสวงหาตัวผู้เปลี่ยนหมุดคณะราษฎร ได้หมุดมาแล้วจะเปลี่ยนกลับคืนหรือไม่ และ “มือดี” นั้นจะมีความผิดอะไรหรือเปล่า?

เพราะขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเรื่อง “เจ้าภาพ”

“เหตุใดต้องให้รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ ถ้าเป็นเช่นนั้น แปลว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบสิ่งของที่หายไปทุกชิ้นในประเทศนี้น่ะสิ” เป็นคำพูดจากฝ่ายรัฐบาลที่ได้ยินได้ฟังมาเมื่อวันก่อน อ่านระหว่างบรรทัดก็ชัดเจนว่ามีท่าทีอย่างไร

เราจะเอาอย่างไรกับ “หมุดคณะราษฎร”?

หลังการหายไปอย่างไร้ร่องรอยหลายวัน และไม่มีทีท่าว่าหน่วยงานไหนจะแอ่นอกตามหา ขณะกำลังนั่งเคาะแป้นพิมพ์อยู่ที่โรงพิมพ์ริมคลองประปา จู่ๆ ก็มีโทรศัพท์จากผู้หลักผู้ใหญ่มาช่วยให้แง่คิด

ประโยคคำถามชวนคุย แต่ตรงเป้า เปรี้ยง!

หมุดคณะราษฎรเป็นหลักฐานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ไหม?

ถนนราชดำเนินมีความสำคัญ ทางประวัติศาสตร์ไหม?

ทั้ง 2 คำถามได้คำตอบว่า “เป็น” และ “มีความสำคัญ” อย่างแน่นอน ด้วยหมุดคณะราษฎรคือสัญลักษณ์ถึงวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ขณะที่ถนนราชดำเนินผ่านเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองมาตลอดหลายยุคหลายสมัย

หมุดจึงเป็น “โบราณวัตถุ”

ถนนราชดำเนินจึงเป็น “โบราณสถาน”

เป็นสมบัติของชาติ แม้ไม่ได้ขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบ ในการติดตามสมบัติของชาติกลับคืนมา

เว้นแต่ว่ารัฐไทยจะให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์แค่ 2-3 หัวข้อ ไม่เอาเหตุการณ์อื่นเข้ามาปะปน

ถ้าอย่างนั้นแล้วไซร้ “ประชาชนหน้าใส” ที่อยากเห็นหมุดกลับมาฝังไว้ในตำแหน่งเดิมคงต้องกินยาแอสไพริน

“ทำใจ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image