สถานะ ของหมุด เนื่องแต่ 24 มิ.ย.2475 เปี่ยม จิตวิญญาณ

แฟ้มภาพ

 

การย้าย “หมุดคณะราษฎร” แล้วนำเอาหมุดใหม่ว่าด้วย “ประชาชนสุขสันต์หน้าใส” เข้ามาแทนที่เหมือนกับเป็นเรื่องของ “วัตถุ”

แต่วัตถุนี้มากด้วย “ความอ่อนไหว”

หากไม่มากด้วยความอ่อนไหวเหตุใดด้านอันเป็น “ฝ่ายกระทำ” ในปฏิบัติการครั้งนี้จึงเก็บตัวเงียบเชียบไม่มีใครกล้าแสดงตัว

Advertisement

“เขตดุสิต” อันเป็นเจ้าของพื้นที่ก็ “แบะ แบะ”

ยิ่ง “กรมศิลปากร” ซึ่งเป็นผู้ดูแลและรับผิดชอบพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งประดิษฐาน ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า

ยิ่งบอกไม่ถูก กระดูกเสือพากย์ไทย

Advertisement

หากเห็นว่าเป็นเรื่องดี หากเห็นว่าเป็นเรื่องถูกต้องและเหมาะสม เหตุใดจึงปิดปากเงียบกันถ้วนทั่วทุกตัวคน

ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องอันเกิดขึ้น “กลางเมือง”

 

ความอ่อนไหวอย่างยิ่งยวดเพราะว่า “หมุดคณะราษฎร” มิได้เป็นโบราณวัตถุซึ่งมีอายุมากกว่า 80 ปี ประการเดียว

หากเป็น “หมุด” อันสัมพันธ์กับ “ประวัติศาสตร์”

1 เป็นประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และ 1 เป็นประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ “รัฐธรรมนูญ” ซึ่งประกาศและบังคับใช้ในปี 2476

ตรงนี้จึงเป็นเรื่องในทาง “ความคิด”

ความพยายาม “เปลี่ยนหมุด” จากที่เคยวางเมื่อเดือนธันวาคม 2479 มาเป็น “หมุดใหม่” ในเดือนเมษายน 2560

จึงมิได้เป็นเรื่องของ “หมุด” ล้วนๆ ตรงกันข้าม ยังเป็นเรื่องในทาง “การเมือง”

และเพราะเป็นเรื่องในทางประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องในทางความคิดและในทางการเมือง จึงดำเนินการอย่างเร้นลับ

เร้นลับอย่างผิดปกติ สะท้อนว่าเป็นเรื่องอ่อนไหว

 

หากการกระทำครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อลดทอนและเบี่ยงเบนบทบาทและความหมายของเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475

เหมือนกับการพุ่งเป้าไปยัง “หมุด” จะเป็นการเริ่มต้น

เป้าหมายอาจเพื่อลดทอนความสำคัญ เป้าหมายเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจต่อเหตุการณ์และโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2476

แต่ผลและความต่อเนื่องก็ยิ่งชวนสงสัยว่าจะบรรลุหรือไม่

เนื่องจาก “หมุด” เดิมมีความสัมพันธ์กับ “คณะราษฎร” และคณะราษฎรคือผู้มีบทบาทด้านหลักในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อเดือนมิถุนายน 2475

แทนที่จะเป็นการบดขยี้ อาจกลายเป็นเรื่องในทางตรงกันข้าม

แทนที่จะเป็นการทำให้ “หมุดคณะราษฎร” หายไป แต่เรื่องราวและรายละเอียดอันเกี่ยวกับ “คณะราษฎร” กลับจะเข้ามาแทนที่

มีการฟื้นคืนแม้กระทั่ง “แถลงการณ์ ฉบับที่ 1” ของ “คณะราษฎร”

นักประวัติศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ นักสันติศึกษา ต่างรื้อสร้างบทบาทและความหมายของสถานการณ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 อย่างคึกคัก

ที่คิดจะให้ลืม ที่คิดจะให้มองข้าม กลับไม่เป็นเช่นนั้น

 

เพราะทั้งหมดนี้มิได้เป็นเรื่องของ “วัตถุ” อันไร้ชีวิต วิญญาณ ตรงกันข้าม “หมุด” มีชีวิต มีวิญญาณ

ทั้งยังเป็นวิญญาณแห่ง “การต่อสู้” เป็นวิญญาณอันก่อให้เกิด “การเปลี่ยนแปลง” อย่างลึกซึ้งในทางความคิดภายในสังคมไทย

อาจจะดูเหมือนเลือนหายและจางคลายลงบ้างในบางครั้ง

แต่เมื่อมี “สถานการณ์” ตะกอนอันนอนก้นก็กลับฟื้นคืน “สปิริต” ทุกคราวไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image