พลโท ดร.พงศกร รอดชมภู : ภัยใกล้ตัว : รัฐธรรมนูญปราบโกงควรทำอย่างไร

ปกติเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญจะมีการวิพากษ์ วิจารณ์ และแสดงข้อดีข้อเสียมาตลอด แต่ในคราวนี้มีการปิดกั้นข่าวสารและพยายามบังคับให้ผ่านการลงประชามติ ซึ่งก็ไม่ใช่ของยากถ้าเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องให้การสนับสนุน ผลก็จะออกมาแบบโพลล์ที่จะชี้นำไปก่อนและคะแนนอาจจะออกมาเท่ากับโพลล์พอดีอย่างเหลือเชื่อก็เป็นได้

แต่ในครั้งนี้คงไม่ขอพูดเรื่องรัฐธรรมนูญที่กำลังจะนำมาเสนอให้ลงประชามติเนื่องจากห้ามการพูดถึง ก็เลยจะเอาคำขวัญที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงมาใช้เพื่อที่ว่าหากจะใช้รัฐธรรมนูญปราบโกงจริงๆ ควรจะดูที่องค์ประกอบอะไรบ้างสำหรับประกอบการอ่านรัฐธรรมนูญให้เข้าใจ

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ประเทศอื่นๆอย่างสิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี หรือสหรัฐฯ ในรัฐธรรมนูญเขาไม่มีตรงไหนเขียนไว้ปราบโกง แต่ก็น่าแปลกที่อัตราการโกงแม้จะมี แต่ก็น้อยกว่าของเรามากนัก เป็นที่รู้กันว่าของไทยเราข้าราชการการเมืองไม่ว่าจะแต่งตั้งหรือเลือกตั้งร่วมกับข้าราชการประจำฉ้อฉลเงินงบประมาณไปประมาณ ๑ ใน ๓ หรือเกือบล้านล้านบาทในทุกปี แต่ประเทศเหล่านั้นกลับหาการโกงได้ยากเหลือเกิน

ทีนี้ถ้าจะบอกว่าใครโกง สิ่งที่ต้องคิดคือ คนไทยมีอะไรแตกต่างจากประเทศเหล่านั้นถึงได้โกง คนไทยชั่วโดยสันดานหรือ? เพราะคงไม่ใช่เฉพาะนักการเมืองทั้งเลือกตั้งและแต่งตั้ง รวมถึงข้าราชการประจำจะโกง มันต้องหาว่าอะไรต่างจากเขาถึงได้มีการโกง และแน่นอนว่าเรื่องของอำนาจพิเศษหรือการมีเส้นสายคือต้นธารของการโกง เพราะเมื่อโกงแล้วมีเส้นก็ไม่มีใครทำอะไรได้ ทำอย่างไรก็ไม่ผิด ต่างจากขบวนการยุติธรรมในประเทศที่กล่าวมาแล้ว ทีนี้อาจถามว่าก็มีนักการเมืองโดนคดีไปแล้วมิใช่หรือ นั่นก็จริงแต่คงเป็นเพียงส่วนน้อย ถ้าคิดจะทำอะไรกันก็ควรจะวางอะไรให้เป็นระบบมากกว่าที่ผ่านมา

Advertisement

ลองมาดูกันว่าจะทำอย่างไรจึงจะถอนราก ถอนโคนระบบเส้นสาย อภิสิทธิ์ การฮั้วกันทำมาหากินของข้าราชการทุกฝ่ายทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำ เพื่อให้คนที่ซื่อสัตย์ ทำงานตรงไป ตรงมา สามารถมีที่ยืนและเติบโตได้โดยไม่ต้องเกรงใจกัน และนั่นคือทุกอย่างต้องเปิดหมด ไม่ซุกซ่อน แอบซุกที่ไหนได้อีกต่อไป

สมมติว่าจะมีการสร้างระบบป้องกันหรือปราบโกงไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็ต้องช่วยกันอ่านรัฐธรรมนูญว่า มีหลักการปราบคอรัปชั่นหรือไม่ หลักการนี้เป็นหลักสากลจากการวิจัยของนักวิชาการชาวอเมริกันและสหประชาชาตินำไปเป็นแนวทางให้ประเทศต่างๆนำไปใช้และเป็นตัวชี้วัดด้วยว่าประเทศไหน มีความสามารถในการปราบคอรัปชั่นหรือการฉ้อฉลได้เพียงใดด้วย

หลักนี้มีสูตรซึ่งมีที่มาจากนักวิชาการชื่อ Robert Klitgaard ว่า การคอรัปชั่นเกิดจากการผูกขาดอำนาจ การใช้ดุลพินิจตามใจชอบ การจะแก้ต้องถ่วงดุลด้วย ความรับผิดชอบดังสูตรว่า

Advertisement

C=M+D-A

เมื่อ C แทนการฉ้อฉล (corruption) M แทนการผูกขาดอำนาจ (monopoly) D แทนการมีอิสระในการตัดสินใจมากเกินไป (discretion) A แทนการรับผิดชอบ (accountability)

ต่อมาสหประชาชาติได้นำไปปรับปรุงเป็นสูตรใหม่ เพิ่มเติมขึ้นในเรื่อง I แทนการซื่อสัตย์ระยะยาว (integrity) และ T (transparency) แทนการโปร่งใสที่ประชาชนและสื่อมวลชนได้เห็นขั้นตอนการทำงานของราชการและเอกชนและสามารถเข้ามาตรวจสอบได้ จึงกลายเป็นสูตรดังต่อไปนี้

C=(M=D)-(A+I+T)

แนวทางนี้ก็คือ ต้องถ่วงดุลการใช้อำนาจผูกขาดและการใช้อำนาจตามใจจากดุลยพินิจที่มีอิสระในการตัดสินในเรื่องต่างๆอย่างไม่จำกัด ด้วย ความรับผิดอย่างหนีไม่ออก ความซื่อสัตย์ต่อเนื่องยาวนานและความโปร่งใสด้วยการมีทั้งประชาชนและสื่อมวลชนเข้ามามีส่วนร่วมและรับรู้ทุกขั้นตอนของระบบราชการ

เมื่อจะนำสูตรนี้มาใช้ในรัฐธรรมนูญ ประชาชนก็เพียงจำง่ายๆว่า

ต้องไม่ให้องค์กรใดในรัฐธรรมนูญ มีอำนาจผูกขาดเพียงฝ่ายเดียวเป็นอันขาด ต้องมีการถ่วงดุลอำนาจกัน ในต่างประเทศใช้การแต่งตั้งข้ามอำนาจอธิปไตยกัน ได้แก่ฝ่ายนิติบัญญัติที่เป็นต้นทางที่ได้อำนาจตรงมาจากประชาชนเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ฝ่ายนิติบัญญัติและคณะรัฐมนตรีร่วมกับฝ่ายตุลาการเลือกฝ่ายตุลาการ ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ยุบสภาได้ ตุลาการก็ตีความกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติได้ รวมถึงการฟ้องคดีต่อรัฐบาลได้ ฝ่ายนิติบัญญัติก็ควบคุมรัฐบาลด้วยการตั้งกระทู้ถาม หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจ ทุกอย่างก็เป็นระบบกันไป

ต่อไปต้องไม่ให้ใครมีอภิสิทธิ์ในการตัดสินอะไร แบบใดก็ได้ตามใจ เข้าทำนองไร้มาตรฐาน เรื่องเดียวกัน แบบเดียวกัน ฝ่ายหนึ่งผิดฝ่ายหนึ่งถูกต้องกระทำไม่ได้ เรื่องนี้คงไม่ต้องอธิบาย สิ่งที่เป็นกรณีตัวอย่างในการบริหารราชการคือระบบ one stop service ที่ทำให้ระบบจ่ายรายโต๊ะลดลง หรือใช้ shipping แบบอัตโนมัติ ทำให้เจ้าหน้าที่หมดโอกาสในการใช้ดุลยพินิจในการตัดสินเรื่องต่างๆ กลายเป็นแค่หากมีข้อมูล หลักฐานถูกต้อง ทุกคนจะต้องได้รับบริการนั้นโดยมีค่าใช้จ่ายที่ชัดเจนเป็นต้น

แต่แม้บัญญัติกฎหมายจำกัดอำนาจของทั้งสองเรื่องคืออำนาจและการตัดสินตามอำเภอใจทั้งองค์กรอิสระและราชการไว้ดีแล้ว แต่ก็ต้องมีการถ่วงดุลที่เชื่อถือได้ การถ่วงดุลที่ว่าคือการกำหนดผู้รับผิด ความซื่อสัตย์ที่ชัดเจนไม่ใช่การหาเสียงกับสื่อว่าตนเองซื่อและทุกขั้นตอนเห็นได้ชัดเจนไม่ใช่มีแต่การพูดและกลบเกลื่อนไปวันๆ

เรื่องแรกคือหากมีใครใช้อำนาจเด็ดขาด ผูกขาดโดยไม่มีใครถอดถอนหรือปลดได้ ก็ต้องไม่ยอมให้เกิดขึ้นโดยต้องมีกฎหมายให้รับผิด เช่นกรณีฝ่ายตุลาการตัดสินคดี ต้องสามารถมีความผิดได้แม้จะมีความอิสระในการตัดสินคดีก็ตาม หรือกรณีจัดซื้อ จัดจ้างต่างๆ ในรูปคณะกรรมการก็ต้องให้มีผู้เกี่ยวข้องรับผิด ไม่สามารถไปแอบสั่งได้ทั้งนี้ก็เพื่อจำกัดการใช้ดุลพินิจโดยไม่ระมัดระวังนั่นเอง

เรื่องที่สองคือ ความซื่อสัตย์ระยะยาว ก็คือผู้ที่จะดำรงตำแหน่งสำคัญ ต้องมีการบันทึกการทำงานมาตั้งแต่เข้าบรรจุทำงาน สำหรับไทย ข้าราชการทุกระดับทั้งประจำและการเมืองควรต้องมีระบบการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน และมีการใช้เงินแบบการ์ดในเรื่องทางราชการและส่วนตัวแยกจากกันก็จะคุมระบบธุรกรรมได้ทั้งหมด รวมถึงควรมีกฎหมายเรื่องค่าคอมมิชชั่นมีการจ่ายเงินให้กับทุกคนได้อย่างเปิดเผยตามกฎหมาย

เรื่องที่สามคือ ความโปร่งใส ที่การบังคับใช้กฎหมายและระเบียบทุกประเภท ต้องมีการเปิดเผยให้ประชาชนทราบและต้องมีประชาชนและสื่อมวลชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเพียงพอ ปัญหาคือจะมีการนำพรรคพวกหรือสื่อมวลชนที่รู้กันมาเป็นพยาน ดังนั้น ต้องมีการกำหนดให้ไปบัญญัติกฎหมายลูกให้ มีการเชิญประชาชนเข้ามาเป็นพยานในเรื่องต่างๆโดยหน่วยงานกลางที่ใช้การสุ่มอย่างเป็นระบบทำให้ไม่สามารถฮั้วกันได้ และมีการให้เงินสนับสนุนต่อองค์กรภาคประชาชนต่างๆให้ตรวจสอบรัฐบาลและข้าราชการทุกระดับ

การต่อสู้กับการฉ้อฉล หรือคอรัปชั่น ดูจะเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าประชาชนร่วมกันผลักดัน ไม่ช้าก็จะสามารถที่มีรัฐธรรมนูญที่จะ ไม่เอาอำนาจผูกขาดและตัดสินอะไรตามอำเภอใจไปไว้ที่ใครหรือหมู่คณะใดได้อีก คำว่าเผด็จการคงจะหมดไปจากสังคมไทยเสียที แนวทางการถ่วงดุลกับฝ่ายเผด็จการที่มักจะฉ้อฉลก็คือ การจับเป้าว่าใครควรต้องรับผิดชอบ ตรวจสอบความซื่อสัตย์อย่างเข้มข้นและเรียกร้องให้มีความโปร่งใสในทุกเรื่อง

สุดท้ายนี้ ก็ขอนำทฤษฎีปรัชญาทางการเมืองในเรื่องอำนาจว่าฉ้อฉลมาเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ โดยเป็นข้อเสนอของ ลอร์ด แอคตัน (Johm Dalberg-Acton) 1st Baron Acton รัฐบุรุษผู้หนึ่งของอังกฤษ กล่าวไว้เป็นภาษาที่สละสลวยว่า

“Power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely. Great men are almost always bad men.”

ความหมายนั้นกระแทกใจยิ่งนักคือ “อำนาจมักจะฉ้อฉล และ อำนาจยิ่งเบ็ดเสร็จก็จะยิ่งฉ้อฉลอย่างเบ็ดเสร็จ ผู้ยิ่งใหญ่เกือบทั้งหมดมักจะกลายเป็นคนชั่วเสมอ”

รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร จะปราบโกงได้หรือไม่ แต่อย่างน้อยการมีหลักในการพิจารณาก็มีความสำคัญและสามารถเป็นเครื่องมือเพื่อใช้พิจารณาว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะปราบโกงได้จริงหรือไม่ต่อไป ขอให้ทุกท่านโชคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image