ส่องศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญใหม่ : โดย ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล

บทบัญญัติที่เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มีหลายๆ เรื่องที่น่าสนใจ และมีบทบัญญัติหลายๆ เรื่องที่มีความแตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในรัฐธรรมนูญปี 2550 และ 2560 ยังคงใช้หลักการเดียวกันคือ มาจากการคัดเลือกและการสรรหา โดยในส่วนของการคัดเลือกตามรัฐธรรมนูญปี 2560 นั้นยังคงเป็นการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจำนวน 3 คน และจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด จำนวน 2 คน

แต่ได้ลดที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ได้จากการสรรหามาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์จากเดิม 2 คน เหลือ 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ จากเดิม 2 คน เหลือ 1 คน

และตัดผู้ทรงคุณวุฒิสาขาสังคมศาสตร์ที่เดิมอยู่ในกลุ่มนี้ออกไป และเพิ่มผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการสรรหาจากผู้รับหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการหรือเทียบเท่า หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี จำนวน 2 คน เข้ามาแทน

และมีการแก้ไขอายุของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าต้องมีอายุไม่ถึง 68 ปี ในวันที่ได้รับการคัดเลือกหรือวันสมัครเข้ารับการสรรหา ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่กำหนดไว้แต่อายุขั้นต่ำว่าต้องไม่ต่ำกว่า 45 ปี

Advertisement

นอกจากนี้ ยังกำหนดลักษณะต้องห้ามที่น่าสนใจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีความแตกต่างจากเดิมไว้ในมาตรา 202 (4) ว่าต้องไม่เป็นหรือเคยเป็น ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะ 10 ปี ก่อนเข้ารับการคัดเลือกหรือสรรหา จากเดิมที่กำหนดแต่เพียงต้องไม่เป็น ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น เท่านั้น

และตามมาตรา 222 (5) ที่กำหนดข้อห้ามว่าต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นของพรรคการเมืองในระยะ 10 ปี ก่อนเข้ารับการคัดเลือกหรือสรรหา ซึ่งเป็นระยะเวลาการห้ามที่ยาวนานกว่าเดิม โดยในรัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดข้อห้ามต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นของพรรคการเมืองในระยะ 3 ปี ก่อนดำรงตำแหน่งเท่านั้น

คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีความแตกต่างจากเดิม โดยคณะกรรมการสรรหาตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่มีประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน เป็นกรรมการอยู่ด้วยดังเช่นที่รัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนด โดยรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 203 (4) กำหนดให้บุคคลซึ่งองค์กรอิสระแต่งตั้งขึ้นจากผู้ที่ไม่เคยปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ องค์กรละ 1 คน มาเป็นกรรมการแทน โดยตามรัฐธรรมนูญใหม่นี้องค์กรอิสระจะมี 5 องค์กร คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

Advertisement

และตามมาตรา 204 กำหนดให้ผู้ได้รับการคัดเลือกหรือสรรหาต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา หากวุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการสรรหาหรือคัดเลือกรายใด ให้ดำเนินการสรรหาหรือคัดเลือกบุคคลใหม่แทนผู้นั้น แล้วเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่คณะกรรมการสรรหามีสิทธิที่จะไม่เห็นด้วยกับวุฒิสภาและหากคณะกรรมการสรรหามีมติยืนยันตามมติเดิมด้วยคะแนนเอกฉันท์แล้ว ให้ส่งรายชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไปให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งต่อไป โดยวุฒิสภาไม่มีอำนาจพิจารณาเรื่องนี้ได้อีก

แต่หากมติของคณะกรรมการสรรหาที่ยืนยันตามมติเดิมไม่เป็นเอกฉันท์ คณะกรรมการสรรหาต้องเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่

วาระการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 207 ลดลงจากเดิมที่กำหนดไว้ 9 ปี เหลือ 7 ปี และตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 208 (4) ได้ขยายอายุการพ้นจากตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจากเดิมที่กำหนดไว้ 70 ปี ในรัฐธรรมนูญปี 2550 มาเป็น 75 ปี นอกจากนี้ องค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการนั่งพิจารณาและทำคำวินิจฉัย เพิ่มขึ้นจากเดิมที่กำหนดไว้ 5 คน ในรัฐธรรมนูญปี 2550 มาเป็น 7 คน ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 211

อำนาจและหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 210 และมาตราอื่นๆ โดยอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญใหม่ มีทั้งที่เหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 2550 และที่แตกต่างและเพิ่มขึ้นไปจากเดิม ดังนี้

1.พิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมาย

2.พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ ในข้อนี้มีความแตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 214 ที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยปัญหาเรื่องความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ไม่ใช่ศาลตั้งแต่ 2 องค์กรขึ้นไป โดยตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจที่กว้างขวางและมากขึ้นจากเดิม โดยมีอำนาจวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระได้ โดยไม่จำเป็นต้องให้มีความขัดแย้งระหว่างองค์กรเกิดขึ้นเสียก่อนดังเช่นรัฐธรรมนูญปี 2550

3.วินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 49 ซึ่งมีความแตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 68 โดยตามรัฐธรรมนูญใหม่ได้ตัดกรณีพรรคการเมืองกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขออกและตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 49 หากอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่มีผู้ร้องขอต่ออัยการสูงสุดให้ร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการ

กระทำดังกล่าว หรืออัยการสูงสุดไม่ดำเนินการภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้ร้องขอมีสิทธิยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 68 ไม่ได้บัญญัติให้สิทธิบุคคลผู้ร้องขอยื่นคำร้องต่อโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้หากเกิดกรณีดังกล่าว

4.วินิจฉัยการสิ้นสุดสมาชิกภาพของ ส.ส. และ ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 82

5.วินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติที่เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภามีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้หรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 139

6.วินิจฉัยว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติเรื่องการแปรญัตติร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับงบประมาณรายจ่าย ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 144 วรรคสอง ที่ห้ามการเสนอ การแปรญัตติหรือการกระทำด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้ ส.ส. ส.ว. หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย หรือไม่

หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติตามมาตรา 144 วรรคสอง ให้การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำดังกล่าวเป็นอันสิ้นผล ถ้าผู้กระทำการดังกล่าวเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. ให้ผู้กระทำการสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลนั้น

แต่ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้กระทำการหรืออนุมัติให้กระทำการหรือรู้ว่ามีการกระทำดังกล่าวแล้วแต่มิได้สั่งยับยั้ง ให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้อยู่ในที่ประชุมในขณะที่มีมติ และให้ผู้กระทำการดังกล่าวต้องรับผิดชดใช้เงินคืนพร้อมดอกเบี้ยด้วย

ซึ่งในเรื่องนี้ รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 168 กำหนดไว้แต่เพียงว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืนดังกล่าว ให้การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำสิ้นผลไปเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ดังกล่าว

7.วินิจฉัยว่าหนังสือสัญญาใดเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย หรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา และหนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 178

8.วินิจฉัยว่ามีการกระทำซึ่งขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ตามที่บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 213 ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 212 ที่บัญญัติให้บุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ได้เป็นการขอให้วินิจฉัยว่าการกระทำขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับที่รัฐธรรมนูญปี 2560 บัญญัติไว้

ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 2560 ในมาตรา 267 กำหนดให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ จำนวน 10 ฉบับ ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งรวมถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญด้วย ในเรื่องนี้ มีข้อสังเกตว่า ไม่เคยมีการออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญมาบังคับใช้ในการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญเลย ถึงแม้ว่าตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 216 วรรค 6 จะได้กำหนดให้วิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ และตามมาตรา 300 วรรค 5 บัญญัติให้ต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ตาม

โดยที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญอาศัยอำนาจตามมาตรา 300 วรรค 5 ออกข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 มาใช้ในการพิจารณาและวินิจฉัยคดี ในระหว่างที่ยังไม่ได้มีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวมาโดยตลอด

นอกจากนี้ ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 273 วรรค 3 ยังกำหนดว่าในระหว่างที่ยังไม่มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ การพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560

ซึ่งก็คือ ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550

อนึ่ง ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 273 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และเมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องได้จัดทำขึ้นตามมาตรา 267 และใช้บังคับแล้ว การดำรงตำแหน่งต่อไปเพียงใดให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว

ในระหว่างเวลาที่ยังไม่มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้น การพ้นจากตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2550 และตามบทเฉพาะกาล มาตรา 276 ศาลรัฐธรรมนูญยังมีหน้าที่ร่วมกับกับองค์กรอิสระในการร่วมกันกำหนดให้มีมาตรฐานทางจริยธรรมตามมาตรา 219 ขึ้นใช้บังคับแก่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ส.ส. ส.ว. และคณะรัฐมนตรี ภายใน 1 ปี นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วย

หากดำเนินการไม่แล้วเสร็จตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต้องพ้นจากตำแหน่ง

บทบัญญัติที่เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญปี 2560 จึงมีหลายๆ เรื่องที่มีความแตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2550 อย่างมีนัยสำคัญ และอำนาจหน้าที่และบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็ได้ขยายขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญให้กว้างขวางมากขึ้นกว่าเดิมในหลายๆ เรื่อง โดยยังอยู่บนพื้นฐานของโครงสร้างอำนาจหน้าที่เดิม

รวมทั้งได้เพิ่มอำนาจที่สำคัญให้แก่ศาลรัฐธรรมนูญในการลงโทษกรณีมีการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติเรื่องการแปรญัตติดังกล่าวมาแล้ว ซึ่งเป็นอำนาจเด็ดขาดเหมือนมอบดาบอาญาสิทธิ์เพิ่มเติมให้ไว้ประจำแก่ศาลรัฐธรรมนูญด้วย

ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล
อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image