ไทยพบพม่า : แด่อู วิน ติน และนักโทษการเมืองในพม่า : โดย ลลิตา หาญวงษ์

เป็นเวลา 3 ปีแล้ว ที่ อู วิน ติน (U Win Tin) อดีตนักโทษการเมืองและแกนนำพรรคเอ็นแอลดี พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ทรงอิทธิพลสูงสุดในพม่า เสียชีวิตไป ในวันที่ 21 เมษายนของทุกปี นอกจากชาวพม่าผู้รักประชาธิปไตยจะมารวมตัวกันเพื่อระลึกถึงอู วิน ตินแล้ว ยังมาร่วมส่งพลังใจให้กับนักโทษการเมืองอีกนับร้อยคนที่ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำทั่วประเทศ อู วิน ติน เกิดเมื่อ 12 มีนาคม ค.ศ.1930 (พ.ศ.2473) และเสียชีวิตในวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ.2014 (พ.ศ.2556) เมื่ออายุได้ 84 ปี ก่อนเข้าสู่ถนนสายการเมือง อู วิน ตินเคยเป็นบรรณาธิการให้หนังสือพิมพ์ “เจม่ง” The Mirror และหนังสือพิมพ์หงสาวดีรายวัน (Hanthawaddy Daily) และได้รับการยกย่องให้เป็นนักหนังสือพิมพ์สายปฏิรูปคู่กับปฏิวัติ แม้จะอยู่ในยุคเผด็จการทหารภายใต้นายพลเน วิน แต่อู วิน ตินยังยืนหยัดรักษาจรรยาบรรณในวิชาชีพสื่อและเป็นกระบอกเสียงให้กับฝ่ายประชาธิปไตยเรื่อยมาจนหนังสือพิมพ์หงสาวดีรายวันถูกสั่งปิดถาวรในปี 1978 (พ.ศ.2521) ในปลายทศวรรษ 1980 อู วิน ตินเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคเอ็นแอลดี ร่วมกับด่อออง ซาน ซูจี (ปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรค), อู ติน อู (ปัจจุบันเป็นประธานพรรค) และนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยอีก 3 คน

หลังเหตุการณ์ความรุนแรงในการล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนที่ออกมาเดินขบวนประท้วงรัฐบาลทหารในปี 1988 และภายหลังการก่อตั้งพรรคเอ็นแอลดีได้ไม่นาน อู วิน ตินและสมาชิกพรรคอีกหลายคนถูกจับกุม ในขั้นแรก อู วิน ตินถูกตัดสินให้จำคุก 3 ปี แต่รัฐบาลก็ขยายเวลาการควบคุมตัวเขาไปเรื่อยๆ เมื่อปี 1996 อู วิน ตินเขียนจดหมายถึงสหประชาชาติเพื่อเปิดโปงสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำอินเส่งและความยากลำบากของนักโทษการเมืองในพม่า แต่รัฐบาลทหารก็สั่งให้คุมขังเขาต่อไปอีก 6 ปี และเลื่อนกำหนดปล่อยตัวเขาออกมาเรื่อยๆ แต่เขาเลือกที่จะเดินหน้าเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยให้กับพม่าต่อ ในช่วง 19 ปี ระหว่าง ค.ศ.1989-2008 (พ.ศ.2532-2551) อู วิน ตินใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำอินเส่ง เขาเป็นนักโทษการเมืองที่ใช้ชีวิตอยู่ในคุกยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของพม่า แม้นจะได้รับการปล่อยตัวในปี 2008 อู วิน ตินยังคงยืนหยัดเป็นกระบอกเสียงให้ประชาธิปไตยและนักโทษการเมืองในพม่า เขาไม่เคยสวมเสื้อสีอื่นใดนอกจากสีฟ้า อันเป็นสีของชุดนักโทษในพม่า และปฏิญาณว่าจะไม่มีวันเลิกสวมเสื้อสีฟ้าตราบใดก็ตามที่พม่ายังมีนักโทษการเมืองอยู่

โครงการรณรงค์ใส่เสื้อสีฟ้าเพื่อรำลึกถึงอู วิน ติน และนักโทษการเมืองในพม่า
อู วิน ติน (ภาพจากหนังสือ Abhaya-Burma’s Fearlessness โดยช่างภาพ James Mackay)

ในอัตชีวประวัติของเขา What’s That? A Human Hell หรือ “อะไรหรือนั่น? นรกสำหรับคนนั่นเอง” อู วิน ตินเล่าว่าเขาใช้เวลาทั้งหมดกว่า 7,000 วัน ที่เรือนจำอินเส่ง เรือนจำขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ยุคอาณานิคม บ่อยครั้งที่ตัวเขาเอง ที่แม้อายุจะล่วงเลยจนแตะเลข 6 แล้วเขาถูกจับกุมเมื่อปี 1989 ถูกทรมานทางร่างกายหลายครั้ง ครั้งหนึ่งเขาเคยถูกซ้อมจนฟันบนหักทั้งหมด เขาต้องใช้เหงือกบดเคี้ยวอาหารเป็นเวลา 8 ปี ก่อนเรือนจำจะอนุญาตให้เขาพบทันตแพทย์ได้ เวลาส่วนใหญ่ตลอด 19 ปี เขาถูกขังเดี่ยวในเรือนจำที่มีสภาพย่ำแย่ที่สุด สภาพความเป็นอยู่ในคุกอินเส่งสำหรับนักโทษการเมืองคนสำคัญอย่างอู วิน ตินและอีกหลายคนไม่ต่างกับนรกบนดิน แต่อู วิน ตินมีจิตใจที่กล้าแกร่ง และเช่นเดียวกับนักโทษการเมืองอีกจำนวนมาก คุกคุมขังได้เพียงร่างกายของพวกเขา แต่ไม่สามารถพันธนาการจิตวิญญาณแห่งเสรีภาพและประชาธิปไตยที่โชติช่วงในดวงใจพวกเขาได้

อู วิน ตินเคยเล่าว่าเขาอยู่รอดปลอดภัยจากคุกอินเส่งได้เพราะกำลังใจจากเพื่อนนักโทษการเมืองด้วยกัน ซึ่งเขามองว่าเป็นมิตรและญาติสนิท หลายครั้งที่เขาป่วยหนักในคุก แต่ก็ประคับประคองเอาตัวรอดมาได้ด้วยการแต่งกลอน โดยใช้อิฐที่เขาลักลอบนำเข้าไปฝนกับน้ำจนกลายเป็นหมึกที่พอจะเขียนบทกวีบนผนังคุกได้ หรือไม่ก็ใช้ชอล์กคำนวณคณิตศาสตร์เล่นๆ อู วิน ตินให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ส เมื่อปี 2009 หลังได้รับการปล่อยตัวเพียง 1 ปี ว่าเขาไม่มีวันยอมศิโรราบให้กับรัฐบาลทหาร เขายิ้มสู้ความอยุติธรรมนี้เพราะเขาเชื่อมั่นว่าเขาและนักโทษการเมืองคนอื่นๆ ไม่มีความผิดใดๆ และมิได้เป็นภัยคุกคามของรัฐ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่เขาต้องทำ แม้รัฐบาลทหารจะร้องขอหลายครั้งให้เขาลงนามว่าจะเลิกเคลื่อนไหวทางการเมืองและลาออกจากพรรคเอ็นแอลดีเพื่อแลกกับการปล่อยตัว

Advertisement

เมื่อเดือนเมษายน ปี 2016 หลังพรรคเอ็นแอลดีชนะการเลือกตั้งไม่นาน รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีถิ่น จอ และด่อออง ซาน ซูจี ประกาศนิรโทษกรรมให้นักโทษการเมืองกว่า 100 ชีวิต แต่ยังมีนักโทษการเมืองจำนวนมากที่ยังถูกคุมขังในเรือนจำทั่วพม่า จากสถิติเดือนมีนาคม 2017 ของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า (Assistance Association of Political Prisoners หรือ AAPP Burma) ยังมีนักโทษการเมืองอีก 93 คน ที่ถูกคุมขังอยู่ 85 คน ที่รอการพิจารณาคดีอยู่ภายในเรือนจำ และอีก 121 คน รอการพิจารณาคดีอยู่ภายนอกเรือนจำ เป็นที่น่าสังเกตว่าคดีของนักโทษการเมืองในปัจจุบันมักเป็นความผิดจากการประท้วงรัฐบาล (รัฐบาลผสมระหว่างพลเรือนและทหาร) เช่น การประท้วงต่อต้านเหมืองทองแดงที่เลตปะด่อง และนักศึกษาที่ประท้วงกฎหมายปฏิรูปการศึกษา นอกจากนี้ กฎหมายที่เป็นปัญหามากในปัจจุบันคือมาตรา 66(d) ในกฎหมายด้านคอมพิวเตอร์ที่รัฐบาลพม่านำออกมาใช้ในปี 2013 (สมัยประธานาธิบดีเต็ง เส่ง) ซึ่งทำให้มีนักโทษการเมืองหลายคนที่ถูกตัดสินให้มีความผิดจากการหมิ่นประมาท กรณีที่สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมพม่าอย่างมากคือการจับกุมส่วย วิน (Swe Win) บรรณาธิการบริหารเว็บไซต์ข่าว Myanmar Now ที่ถูกฟ้องด้วยข้อหาหมิ่นประมาทพระวีระทู พระที่เป็นที่รู้จักจากการเทศนาเฮทสปีชให้ชาวพุทธในพม่าต่อต้านชาวมุสลิม หลังส่วย วินออกมาวิจารณ์อู วีระทูอย่างรุนแรง ภายหลังฝ่ายหลังกล่าวชมเชยฆาตกรผู้ลอบสังหารอู โกนีที่ปรึกษาทางกฎหมายของพรรคเอ็นแอลดีที่เป็นชาวมุสลิม

แม้ในปัจจุบัน พม่าจะอยู่บนถนนสายปฏิรูป และหลายคนอดตั้งความหวังอันสูงลิบไว้กับเอ็นแอลดีและด่อออง ซาน ซูจีไม่ได้ แต่การจับกุมนักโทษการเมืองในพม่ายังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และประชาชนที่ออกมาวิจารณ์รัฐหรือกลุ่มธุรกิจที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องยังถูกกดทับอยู่ต่อไป ก็เป็นการยากที่จะพูดแบบเต็มปากว่าวันนี้พม่ากำลังขับเคลื่อนรัฐนาวาลำน้อยของตนเองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ นักการเมืองที่เคยเป็นความหวัง มาในวันนี้กลับสร้างความผิดหวัง และยิ่งสร้างความแตกแยกในสังคมพม่า อู วิน ตินเคยกล่าวไว้ว่าเขาเชื่อมั่นว่าสักวันหนึ่งประชาชนจะได้รับชัยชนะ พม่าจะเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ และผู้ที่เคยกดขี่ข่มเหงประชาชนจะถูกฉีกหน้ากากออกมา ตรงกับสำนวนในภาษาพม่าที่ว่า “อะโย ทุ่น เหน่ กวิ้ง” หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า “กระดูกจะร้องระงม” หรือหมายความว่าสักวันหนึ่งผีก็จะกลับมาตามหลอกหลอนคนเหล่านี้เอง

หากท่านผู้อ่านอยากร่วมมอบกำลังใจให้นักโทษการเมืองในพม่า สามารถร่วมกิจกรรมได้โดยการสวมเสื้อสีฟ้า โพสต์ลงสื่อโซเชียล และติดแฮชแท็ก #blueshirt4burma

Advertisement

ลลิตา หาญวงษ์
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image