บทเรียน เมียนมา ‘มโนทัศน์’ การเมือง สงคราม ‘สั่งสอน’

หากมองกันว่า “เกาหลีเหนือ” มีความเข้มในการอัดฉีด “มโนทัศน์” และกรอบทางความคิดเพื่อกำกับและควบคุมพลเมืองตนอย่างเข้มข้น

เมียนมาก็แทบมิได้แตกต่างไปจาก “เกาหลีเหนือ”

หาก “เกาหลีเหนือ” มีความเข้มข้นภายใต้อำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีคนในตระกูล “คิม” ยึดครอง “เมียนมา” ก็อยู่ภายใต้อำนาจแห่ง “คณะทหาร”

เริ่มต้นจาก นายพลเนวิน นับแต่ พ.ศ.2505 ยาวนานจนถึง พ.ศ.2531 เป็นเวลา 26 ปี

Advertisement

ที่กำหนดเอา พ.ศ.2531 เป็นเส้นแบ่งเพราะนั่นคือ การทดลองให้มี “การเลือกตั้ง” เป็นครั้งแรกหลังจากปิดประเทศอย่างยาวนาน

ผลก็คือ ต้องแพ้ให้แก่พรรคเอ็นแอลดีของ ออง ซาน ซูจี

รัฐบาลทหารจึงเริ่ม “ปรับตัว” จาก พ.ศ.2531 กระทั่ง พ.ศ.2558 ด้วยการทดลองให้มี “การเลือกตั้ง” อีกเป็นครั้งที่ 2

ผลก็คือ ต้องแพ้ให้แก่พรรคเอ็นแอลดีของ ออง ซาน ซูจี

ถามว่า “รัฐบาลทหาร” ของเมียนมาจัดให้มีการเลือกตั้ง 2 ครั้ง 2 คราวโดยไม่มีการตระเตรียมในทางความคิดเลยหรือ และในทางการเมืองเลยหรือ

คำตอบคือ ทหารเมียนมามิได้ “ประมาท” มิได้ชะล่าใจระดับนั้น

 

หากใครมีจุดสารความมั่นคงศึกษา ฉบับที่ 113 ซึ่งจัดพิมพ์เผยแพร่โดยโครงการความมั่นคงศึกษา อันมี สุรชาติ บำรุงสุข เป็นผู้รับผิดชอบ

จะตระหนักว่า รัฐบาลทหาร “เมียนมา” รอบคอบและรัดกุมยิ่ง

บทความเรื่อง “มโนทัศน์ทางการเมืองของรัฐทหารพม่า” ที่ศึกษาและเรียบเรียง โดย วิรัช นิยมธรรม แห่งศูนย์พม่าศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

จะเข้าใจได้อย่าง “ถ่องแท้” และ “ครบถ้วน”

ไม่เพียงแต่จะเข้าใจในเนื้อหาอันปรากฏผ่านคำประกาศ “เป้าหมายแห่งชาติ” ในทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม 12 ประการ

หากยังรับรู้ด้วยว่า เนื้อหานี้ส่งผ่านไปยัง “สื่อรัฐพม่า” อย่างสะพรึบพร้อม

วิรัช นิยมธรรม เปิดเผยว่า สื่อรัฐพม่าจึงเป็นพื้นที่แสดงนาฏกรรมรัฐ (state drama) หรือเวทีละครแห่งรัฐ

ได้แก่ การแสดงพลังมวลชนในการกำกับของรัฐ ภารกิจของกองทัพและรัฐบาลทหาร

ทาง 1 พรรณาให้เห็นความจำเป็นที่กองทัพ เหล่านายทหารต้องเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมือง ผู้นำทหารต้องเป็นผู้ปกครองสูงสุดเพื่อรักษาอธิปไตยของชาติ ขณะเดียวกัน ทาง 1 โน้มนำให้เชื่อว่า นักการเมืองจะพาชาติไปสู่ความล่มจม เพราะไม่มีสัจจะพรรคการเมืองแตกแยก มวลชนไม่มีอุดมการณ์

เป็นการปูพื้นฐานผ่าน “สื่อรัฐ” ก่อนเข้าสู่กระบวนการ “เลือกตั้ง”

 

ต้องยอมรับว่า รัฐของเมียนมาเป็นรัฐในแบบที่ศัพท์ทางรัฐศาสตร์เรียกว่า JUNTA มิได้ครองอำนาจเพราะประชาชนเลือก

หากแต่ครองอำนาจเพราะ “การยึดอำนาจ”

รัฐแบบนี้ย่อมยึดกุม “อำนาจ” ในกำมืออย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ว่าโดยกระบวนการของ “รัฐธรรมนูญ” ไม่ว่าโดยกระบวนการ “โฆษณาชวนเชื่อ”

การเผยแพร่ความดีผ่าน “โทรทัศน์” ผ่าน “วิทยุ” จึงเป็นเรื่องธรรมดา

ชาวเมียนมาจึงไม่มี “สิทธิ” ในการแสดงออกทางการเมือง ชาวเมียนมาจึงไม่มี “เสรีภาพ” ในการเลือกบริโภคข่าวสารและข้อมูล

ทั้งๆ ที่ยึดกุม “ช่องทาง” ได้อย่าง “เบ็ดเสร็จ” ระดับนี้

แล้วเหตุใด เมื่อเข้าสู่กระบวนการของ “การเลือกตั้ง” ไม่ว่าเมื่อ พ.ศ.2531 ไม่ว่าเมื่อ พ.ศ.2558 จึงประสบกับความพ่ายแพ้

พ.ศ.2531 ได้รับเลือกเข้ามาเพียงร้อยละ 20

พ.ศ.2558 ได้รับเลือกเข้ามาเพียงร้อยละ 10

ประชาชนซึ่งถูกปากกระบอก “ปืน” จ่อ กลับเลือกพรรคการเมืองของ ออง ซาน ซูจี พ.ศ.2531 ถึงร้อยละ 80 พ.ศ.2558 ถึงร้อยละ 90

เป็นไปได้อย่างไร

ความเป็นจริงอันสะท้อนผ่านกระบวนการของ “การเลือกตั้ง” จึงเท่ากับเป็นช่องทางและเป็นทางเลือก

เป็นช่องทางที่ชาวเมียนมาจะได้ทำสงครามสั่งสอนรัฐบาลทหาร เป็นทางเลือกที่จะแสดงให้รัฐบาลทหารรับรู้ว่าแท้จริงแล้วชาวเมียนมาคิดอย่างไร ชาวเมียนมารู้สึกอย่างไร

หูประชาไม่ใช่หูกระทะ ตาประชาชนไม่ใช่ตาไม้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image