กฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ บทสะท้อนมุมมองที่หายไปต่อกรณีเจ้าของสัตว์อำพราง : โดย ผช.ศ.นพดล ปกรณ์นิมิตดี

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ (บางคนเรียกสั้นๆ ว่ากฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์) คือ เนื่องจากสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกและเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งแวดล้อม จึงควรได้รับการคุ้มครองมิให้ถูกกระทำการทารุณกรรม และเจ้าของสัตว์ซึ่งนำสัตว์มาเลี้ยงจะต้องจัดสวัสดิภาพให้เหมาะสมตามประเภทและชนิดของสัตว์ ทั้งในระหว่างการเลี้ยงดู การขนส่ง การนำสัตว์ไปใช้งาน หรือใช้ในการแสดง ดังนั้น เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อให้สัตว์ได้รับการคุ้มครองตามธรรมชาติของสัตว์อย่างเหมาะสม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ใจความของเหตุผลในการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้มี 2 ประเด็นที่น่าสนใจ กล่าวคือ

1.“สัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกและเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งแวดล้อม จึงควรได้รับการคุ้มครองมิให้ถูกกระทำการทารุณกรรม…”

ข้อนี้ให้ความสำคัญต่อสัตว์โดยตรง สิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึก (เหมือนมนุษย์กระมัง) บางคนถึงขั้นเรียกว่าเป็นสิทธิของสัตว์ เสมือนยกฐานะของสัตว์เทียบเท่ามนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจหรือบุคคลในทางกฎหมาย ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สัตว์น่าจะถือเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของบุคคลด้วยซ้ำ เพราะบทบัญญัติในเรื่องการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ได้กล่าวถึงเรื่องการได้มาซึ่งความเป็นเจ้าของสัตว์ตามกฎหมาย ด้วยเหตุที่กรรมสิทธิ์มีได้กับสิ่งที่เป็นทรัพย์สิน

Advertisement

2.“เจ้าของสัตว์ซึ่งนำสัตว์มาเลี้ยงจะต้องจัดสวัสดิภาพให้เหมาะสมตามประเภทและชนิดของสัตว์ ทั้งในระหว่างการเลี้ยงดู การขนส่ง การนำสัตว์ไปใช้งาน หรือใช้ในการแสดง…”

ใจความข้อนี้น่าจะพุ่งเป้าไปที่เจ้าของสัตว์โดยตรง

เจ้าของสัตว์คือใคร

Advertisement

“เจ้าของสัตว์” หมายความว่า เจ้าของกรรมสิทธิ์ และให้หมายความรวมถึงผู้ครอบครองสัตว์หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแล ไม่ว่าจะได้รับมอบหมายจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ให้ดูแลด้วย

นิยามคำว่าเจ้าของสัตว์นี้ ในความหมายของกฎหมาย ได้ปรากฏในพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 มาตรา 3

ประเด็นที่น่าคิดก็คือ กฎหมายบัญญัติว่า เจ้าของสัตว์ หมายความว่า เจ้าของกรรมสิทธิ์สัตว์ กรรมสิทธิ์เป็นทรัพยสิทธิหรือสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สิน ฉะนั้น ใครที่บอกว่าสัตว์เขามีสิทธิตามกฎหมายนะ หรือพยายามไปตีความโดยยกกฎหมายต่างประเทศมาพูดอาจทำให้เกิดความสับสนได้ เพราะกฎหมายของแต่ละประเทศมีระบบกฎหมายที่แตกต่างกัน และการบัญญัติหลักการ สิทธิ และเสรีภาพที่แตกต่างกัน

แต่สำหรับประเทศไทยเรา สัตว์ (บทความในที่นี้จะกล่าวถึงตัวอย่างกรณีสุนัขกับแมวเท่านั้น) จึงควรเรียกว่าทรัพย์สินของมนุษย์หรือบุคคลตามกฎหมาย แต่การให้ความสำคัญกับสัตว์ที่มีชีวิต ในฐานะเพื่อนร่วมโลก หรือในฐานะสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ โดยการออกกฎหมายคุ้มครองก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่ต้องการลงโทษมนุษย์หรือบุคคลธรรมดาในทางกฎหมาย ที่มีจิตใจไม่ค่อยดี ไปทารุณกรรม รังแก หรือทำร้ายสัตว์

ฉะนั้น กฎหมายป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ จึงควรถือเป็นกฎหมายที่มุ่งยกระดับจิตใจของมนุษย์ให้ดีขึ้นมากกว่าการยกฐานะของสัตว์ให้ดีขึ้น เพียงเพื่อเทียบเท่าบุคคลในทางกฎหมาย

กลับมาสู่ประเด็นคำว่า “เจ้าของสัตว์” กฎหมายบัญญัติศัพท์นี้ไว้ชัดเจนแล้วว่าหมายถึงเจ้าของกรรมสิทธิ์ และให้หมายความรวมถึงผู้ครอบครองสัตว์……ปัญหาของสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุนัขและแมว จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นปัญหาคู่สังคมไทย สำหรับบางคน กับผู้คนที่มีบ้านเดี่ยวหรือทาวน์เฮาส์ที่ได้มาอาศัยร่วมกันเป็นจำนวนมากในหมู่บ้าน การปล่อยปละละเลยของคนที่เป็นอดีตเจ้าของสัตว์ จนมีสุนัขจรจัด แมวจรจัดเต็มไปหมดในบางพื้นที่จะทำอย่างไร

การให้องค์กรภาคเอกชนหรือหน่วยงานรัฐบางหน่วยมาจับและนำไปเลี้ยงก็ทำได้แค่บางส่วนและน้อยมาก การนำสุนัข-แมวไปปล่อยที่วัดก็กลายเป็นปัญหาของพระสงฆ์ เป็นปัญหาของวัด เคยถามหน่วยงานของรัฐในบางพื้นที่ ถามว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรกับสุนัขจรจัด ซึ่งถูกเรียกว่าสุนัขไม่มีเจ้าของ

คำตอบที่ได้รับคือ “จะจับไปทำหมัน และนำกลับไปปล่อยที่เดิมค่ะ”

ถามต่อไป เทศบาลจับไป แล้วนำไปเลี้ยงได้ไหม คำตอบก็คือ “ไม่มีงบประมาณค่ะ”

สุนัขหรือแมวที่มีเจ้าของกรรมสิทธิ์ หากไปก่อเหตุทำร้ายบุคคลอื่น ผู้เสียหายอาจแจ้งความร้องทุกข์เอาเรื่องทั้งทางแพ่งและอาญากับเจ้าของสัตว์ได้ ขอยกตัวอย่าง

มาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้เจ้าของสัตว์ปล่อย ละทิ้ง หรือกระทำการใดๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร”

หากสุนัขหรือหมาที่มีปลอกคอ มีเจ้าของ ไปเที่ยวไล่กัดคนได้ ก็แสดงว่าเจ้าของสัตว์ปล่อย ละทิ้ง ตามมาตรา 23 ซึ่งต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท

บางคนที่เลี้ยงสุนัขหรือแมวเกิดอยากหัวหมอและไม่อยากรับผิดชอบใดๆ ในทางกฎหมาย เวลาหมา-แมวของตนไปก่อเรื่อง จึงใช้วิธีแบบง่ายๆ คือ ไม่ใส่ปลอกคอให้หมา-แมวตัวเอง กลางวันปล่อยหมา-แมวตัวเองวิ่งเล่นออกนอกบ้าน ขี้หรือขับถ่ายนอกบ้าน โดยไม่สนใจว่ามันจะไปขับถ่ายที่บ้านใคร พอตกกลางคืนค่อยเปิดประตูรับแมว-หมาเหล่านี้เข้าบ้าน

พอเกิดปัญหาหมา-แมวที่คนเลี้ยงซ่อนรูปเป็นเจ้าของอำพราง สร้างปัญหา ความเดือดร้อน กัดทำร้ายแก่บุคคลอื่น ทำให้รถยนต์ผู้อื่นเป็นรอย ฯลฯ ก็อ้างทันทีว่า ตนเป็นเพียงผู้ให้อาหาร อ้างตนเป็นคนดี โดยมนุษยธรรมบ้าง ไม่ใช่เจ้าของ ไม่ต้องรับผิด จะมาเอาผิดฉัน เพราะฉันเพียงแค่ให้อาหารได้อย่างไร

เช่นนี้แล้วกฎหมายฉบับนี้จะสามารถมีส่วนไปช่วยแก้ไขปัญหาอะไรให้กับผู้ที่เดือดร้อน จากสุนัขที่มีเจ้าของแบบอำพราง ที่ไปเที่ยวกัดลูกหลานชาวบ้านหรือกัดคนแก่ ได้หรือไม่ได้ล่ะ

หากอ้างตามหลักกฎหมาย คนเหล่านี้ก็พร้อมจะบอกว่า เขาไม่ใช่เจ้าของสัตว์ ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์สัตว์ ไม่ได้ครอบครองด้วย ทั้งๆ ที่โดยพฤตินัยคนเหล่านี้คือเจ้าของสัตว์อำพราง แต่มีบางคนไปยกฐานะเขาว่าเป็นผู้ให้อาหารสัตว์ แล้วย้อนถามสื่อกลับว่า จะเอาผิดเขาฐานะให้อาหารสัตว์ มันเกินไปหรือไม่

คำตอบ มันก็เกินไปจริงๆ หากบุคคลนั้นไม่ใช่เจ้าของสัตว์แบบอำพราง เป็นเพียงผู้ผ่านมาพบและสงสารสัตว์ เช่น หมา แมว อยากให้ทาน อยากให้อาหารสัตว์ เหล่านี้มันก็ไม่สมควรออกกฎหมายไปเอาผิดเขาหรอกครับ

พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่าขาดมุมมองการบังคับใช้กฎหมาย ที่มีต่อเจ้าของสัตว์อำพราง หรือเจ้าของสัตว์ที่ทอดทิ้งสัตว์ และการจัดระเบียบ ขึ้นทะเบียนผู้เลี้ยงสัตว์ที่ชัดเจนและเข้มงวด ทำให้การพิสูจน์ทราบเจ้าของสัตว์ที่แท้จริง ที่ปล่อยทิ้งสัตว์ เช่น หมา แมว กระทำได้ยาก อีกทั้งการฝังไมโครชิพในสัตว์ก็มีค่าใช้จ่าย

กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ดี และเป็นหนึ่งในกฎหมายไม่กี่ฉบับที่ออกมาเพื่อสัตว์ และสมควรแก่เวลาแล้วที่ควรจะมีกฎหมายแบบนี้สำหรับสังคมไทย แต่อย่างไรก็ตาม ก็อาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาคนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ หรือมีเจ้าของสัตว์แบบอำพรางได้อย่างเต็มที่ และกฎหมายฉบับนี้ก็อาจไม่สามารถจัดสวัสดิภาพให้แก่สัตว์ที่ไม่มีเจ้าของได้อีกเช่นกัน ด้วยเพราะมีแต่บทบัญญัติกำหนดให้เจ้าของสัตว์มีหน้าที่จัดสวัสดิภาพแก่สัตว์ แล้วสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ ใครจะจัดสวัสดิภาพให้ล่ะครับ

ฉะนั้น ปัญหาของสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ ปัญหาของเจ้าของสัตว์ที่ทอดทิ้ง ไม่ดูแลสัตว์เลี้ยงของตน และปัญหาของคนที่หลีกเลี่ยงกฎหมาย โดยการขอเป็นเจ้าของสัตว์แบบอำพรางตนเองในคราบนักบุญ ขอเป็นแค่ผู้ให้อาหารสัตว์ คือมุมมองที่ถูกมองไม่เห็นหรืออาจเผลอลืมไปแล้วจริงๆ สำหรับกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์หรือไม่ คงแล้วแต่ดุลพินิจและมุมมองของผู้อ่านแต่ละคนแล้วกระมังครับ

ผช.ศ.นพดล ปกรณ์นิมิตดี
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ศรีปทุม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image