จับตา เลือกตั้ง ลมหายใจ ‘การเมือง’ ปลายปี 2561

 

ไม่ว่า คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แห่งเพื่อไทย ไม่ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แห่งประชาธิปัตย์ ไม่ว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล แห่งภูมิใจไทย ล้วนมีการขยับ

ไม่เว้นแม้กระทั่ง นายวราวุธ ศิลปอาชา แห่งชาติไทยพัฒนา

ไม่เว้นแม้กระทั่ง นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แห่งชาติพัฒนา

Advertisement

พลันที่ “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน และหลังจากนั้นอีก 2 สัปดาห์ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งผ่านวาระแรกของ สนช.

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็น “ระฆัง” อันส่ง “สัญญาณ”

อย่างน้อย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็ยืนยันอย่างหนักแน่นและจริงจัง

Advertisement

“การเลือกตั้งจะประมาณปลายปี 2561”

ที่โหรต้องการให้เลื่อนไปจนถึงปี 2562 ไม่น่าจะใช่ ที่บรรดา “นักลากตั้ง” อยากลากให้ยาวที่สุดเท่าที่จะสามารถก็ไม่น่าจะเป็นไปได้

“การเลือกตั้ง” กำลังย่างสามขุม”เข้ามา”

 

ทั้งๆ ที่ทุกพรรคการเมืองล้วนเห็นใจเจตนารมณ์ “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” ที่ต้องการ “มัดตราสัง” มิให้เกิดสภาพในแบบที่เคยเกิดจาก “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540”

นั่นก็คือ ไม่ยอมให้มีพรรคใดมีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ

อันเป็นบทเรียนจากที่พรรคไทยรักไทยเคยมีในเดือนมกราคม 2544 และโดดเด่นอย่างยิ่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2548

ทั้งยังตกทอดมายังพรรคพลังประชาชนในเดือนธันวาคม 2550

และยังตกทอดมายังพรรคเพื่อไทยในเดือนกรกฎาคม 2554 ส่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรีทั้งที่เพิ่งสัมผัสการเมืองเพียง 49 วัน

แต่ทุกพรรคการเมืองก็แสดง “ความพร้อม”

ทั้งหมดนี้สะท้อน “ธรรมชาติ” และความเป็นจริงอันเป็นความต้องการของทุกพรรคการเมือง นั่นก็คือ ต้องการ “การเลือกตั้ง”

 

หากถามว่าทำไมพรรคการเมืองจึงผูกติดการเติบใหญ่ทางการเมืองไว้กับกระบวนการของ “การเลือกตั้ง” กระทั่งแทบยอมรับกับทุกกติกาที่วางอยู่เบื้องหน้า

ไม่ว่าจะจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 ในยุค จอมพลถนอม กิตติขจร

ไม่ว่าจะจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 ในยุค พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ไม่ว่าจะจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 ในยุค พล.อ.สุจินดา คราประยูร ไม่ว่าจะจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ในยุค พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

คำตอบที่ตรงเป้าที่สุด ก็เพราะว่า “การเลือกตั้ง” เป็นเหมือนดัง “ลมหายใจ”

มีแต่การเลือกตั้งเท่านั้นที่จะทำให้ “นักการเมือง” มีพื้นที่ทางการเมืองของตน และที่สำคัญก็คือโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้งเป็นเหมือนกระดานหกให้นักการเมืองทะยานไปสู่ศูนย์กลางแห่ง “อำนาจ” โดยอาศัยพรรคการเมือง

“ทหาร” อาจอาศัยปากกระบอกปืนได้มาซึ่ง “อำนาจ” แต่ “นักการเมือง” ต้องอาศัย “การเลือกตั้ง” เท่านั้นจึงจะได้มาซึ่งอำนาจ

การได้มาซึ่ง “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” อาจเป็นจุดเริ่มต้น

“การเลือกตั้ง” ต่างหากคือคำตอบสุดท้ายว่า “อำนาจ” ทางการเมืองจะอยู่ในมือของ “ใคร”

 

อย่าได้แปลกใจหากนับแต่วันที่ 6 เมษายน เป็นต้นมา จะสัมผัสได้ในความคึกคักของ “นักการเมือง”

ไม่ว่าจะเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ว่าจะเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล

ไม่ว่าจะเป็น นายวราวุธ ศิลปอาชา ไม่ว่าจะเป็น นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ

ความคึกคักจะยิ่งเพิ่มมากยิ่งขึ้นเป็นทวิทวีคูณกระทั่งผลของ “การเลือกตั้ง” ปรากฏออกมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image