หนังสือกับราคาที่คุณอยากจ่าย : โดย กล้า สมุทวณิช

เร็วๆ นี้ มีประเด็นเรื่องราคาหนังสือขึ้นมาในวงการวรรณกรรม ที่พาดพิงไปถึงหนังสือแปลของออร์ฮาน ปามุก นักเขียนรางวัลโนเบลชาวตุรกี ที่บังเอิญมีการพิมพ์ขึ้นมาในระยะเวลาเดียวกันถึงสองเล่มโดยสองสำนักพิมพ์ซึ่งตั้งราคาไล่เลี่ยกัน ซึ่งก็มีเสียงติติงมาจากนักอ่าน (และรวมถึงคนวรรณกรรมด้วยกันในอีกฝั่งหนึ่ง) ว่ามีราคา “แพง” ไปหน่อยหรือไม่

และยังต่อประเด็นไปถึงหนังสือสำนักพิมพ์อิสระอีกหลายเล่มที่โดนหางเลขไปด้วย หากพิจารณากันจาก “ขนาด” เล่มของหนังสือกับราคาที่ขาย

อันที่จริงแล้ว เรื่องของการ “ถูก” หรือ “แพง” นั้น เป็นข้อเท็จจริงแบบอัตวิสัย ข้อเท็จจริงแท้ๆ นั้นมีเพียงว่า หนังสือ XXX มีราคา YYY บาท เพียงเท่านั้น เรื่องว่าราคา YYY บาท นั้นจะ “ถูก” หรือ “แพง” นั้นเป็นการประเมินแบบของใครของมัน

แต่หากเราเปลี่ยนไปใช้เป็นคำว่า “ราคาสูง” นั้นก็อาจจะพอชี้วัดกันได้บ้าง เมื่อเปรียบเทียบราคาหนังสือนั้นกับราคาหนังสือประเภทเดียวกัน หรือเปรียบเทียบกับค่าครองชีพ หรือแม้แต่กับเงินในกระเป๋าของคนซื้อ

Advertisement

แต่คงจะไม่ได้วัดกันง่ายๆ ด้วยการใช้เครื่องคิดเลขมากดเอาจำนวนหน้ามาหารเข้ากับราคาเล่มว่าหนังสือเล่มนี้มีราคาหน้าละกี่บาท หรือไปเอาราคาของหนังสือต่างประเทศมาเทียบ

ซึ่งถ้าจะเทียบกับราคาหนังสือของต่างประเทศ ก็ขอให้เทียบจำนวนพิมพ์ของเขาด้วยเพื่อความเป็นธรรม และไม่นับว่าธรรมเนียมของต่างประเทศนั้นเขาจะมีหนังสือแบบราคาแพงที่พิมพ์ปกแข็งด้วยกระดาษอย่างดี กับแบบราคาถูกที่พิมพ์ด้วยปกอ่อนและกระดาษที่พออ่านได้ หรือพิมพ์ขนาดพิเศษอย่างที่ญี่ปุ่นเรียกว่าหนังสือขนาดบุงโกะออกมาขายในราคาย่อมเยา แต่นั่นเพราะกลุ่มผู้อ่านของเขามีจำนวนมาก เสียจนมีหนังสือรุ่นแพงหรือรุ่นถูกออกมาขายให้เป็นทางเลือกได้

ในขณะที่หนังสือแนววรรณกรรมในประเทศที่เราอาศัยอยู่นี้ สำหรับนักเขียนที่มีชื่อเสียงปกติ ไม่ได้รับรางวัลใหญ่ระดับชาติ ขายได้เกินกว่าสองสามพันเล่มก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

Advertisement

ครั้งหนึ่ง “กูรู” ผู้เขียนหนังสือขายดี (และปั้นหนังสือขายดีหลายเล่ม) เคยสอนไว้ว่า การที่ผู้คนจะควักเงินจ่ายให้แก่อะไรสักอย่างหนึ่งนั้น สิ่งที่เขาคาดหวังคือสิ่งที่เขาจ่ายเงินไปให้นั้นจะต้องแก้ปัญหาบางอย่างให้แก่เขาได้

ยิ่งการแก้ปัญหานั้นทำได้ “ง่าย” และ “เร็ว” หรือเป็นรูปธรรมเท่าไร สินค้านั้นของคุณก็มีโอกาสจะขายดิบขายดียิ่งขึ้นไปเท่านั้น คำสอนนี้นำไปใช้ได้กับการ “ขาย” อะไรต่ออะไรหลายอย่าง ทั้งคอร์สสัมมนา การให้คำปรึกษาส่วนตัว และรวมถึงเรื่องของ “หนังสือ” ด้วย

หลักฐานพิสูจน์ความจริงของคำสอนนี้ปรากฏชัดบนแผงหนังสือขายดีในร้านหนังสือทั้งหลายแทบทุกแห่ง ที่หนังสือขึ้นแท่นเบสต์ เซลเลอร์ ก็ได้แก่หนังสือประเภท “ชีวิตดีขึ้นได้พริบตา ด้วยการซักผ้าอาทิตย์ละครั้ง” หรือ “ไม่ต้องขยันทำงาน ก็รวยเป็นล้านกับเขาได้”
อะไรทำนองนั้น

เมื่อความน่าจะจริงเป็นเช่นนั้น ก็อาจจะอธิบายภาวะความอยู่รอดของหนังสือแนว “วรรณกรรม” ในทุกวันนี้ได้เป็นอย่างดี

เพราะถ้าเป็นหนังสือนิยายแนวสนุกสนานเริงรมย์ไปเลย ก็ยังสามารถช่วยทำให้คนอ่านได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินแบบตรงไปตรงมาในชั้นแรกที่อ่าน ซึ่งจะว่าไปก็เข้ากับทฤษฎีอย่างหนึ่งนั่นเอง คือการอ่านหนังสือช่วยแก้ปัญหาความเบื่อหน่ายหรือความเครียดจากการทำงานหรือชีวิตได้

แต่หนังสือนวนิยายแนววรรณกรรมนั้น นอกจากอ่านแล้วจะไม่ช่วยแก้ปัญหาชีวิตให้ดีขึ้นได้ในสิบห้าวัน หรืออ่านจบแล้วรวยหรือมีพอร์ตหุ้นหลักล้าน หรืออ่านแล้วไม่สามารถทำให้หัวเราะร่าน้ำตาริน หรือขวยเขินม้วนต้วนไปด้วยบทรักของพระเอกนางเอกแล้ว ดีไม่ดีอ่านแล้วสร้างปัญหาชีวิตมากขึ้นอีกต่างหาก

วรรณกรรมชั้นดีที่นับถือกันหรือได้รางวัลระดับชาติหรือระดับโลก เป็นหนังสือที่อ่านแล้วจิตตกไปเป็นวันๆ เพราะความหนักหนาสาหัสของชะตากรรมต่างๆ ของตัวละคร หรือโลกที่เคยสวยงามมีอันหม่นหมองลงพลันเพราะได้เห็นความอยู่ยากของสังคมในมุมที่ไม่เคยคาดคิดก็เยอะ

หนังสือแนว “วรรณกรรม” ที่ออกจะขายดีมีที่ทางอยู่บ้าง เช่นหนังสือที่แปลมาจากนักเขียนชื่อดังของโลกระดับศาสดาเบสต์เซลเลอร์ หรือหนังสือวรรณกรรมที่ได้รับรางวัลระดับชาติ ก็อาจจะหมายถึงการขายได้มากกว่าหนังสือในกลุ่มเดียวกันสักเท่าหรือสองเท่า หรือได้พิมพ์ซ้ำเกินกว่าสี่ห้าครั้ง แต่ถ้าเอายอดพิมพ์หรือยอดขายแล้วน่าจะสู้พวกหนังสือ “ขายดี” ประเภทที่กล่าวไปตอนแรกไม่ได้เท่าไรนัก (นักเขียนหนังสือแนวพัฒนาตนเองที่ขายท่านหนึ่งที่รู้จักกันเคยแย้มๆ ว่า รายได้จากค่าลิขสิทธิ์ในแต่ละเดือนของหนังสือสี่ห้าเล่มที่ติดตลาดอยู่นั้น เฉลี่ยออกมาที่หลักแสนบาท)

ก็คงเป็นอย่างที่เคยเขียนไว้ครั้งหนึ่งนั่นแหละว่า สภาพของงานเขียนและหนังสือแนว “วรรณกรรม” ขณะนี้นั้นเป็นเหมือน “สัตว์หายาก” ที่นอกจากจะต้องหาทางรอดกันเองแล้ว ผู้คนในวงการยังต้องช่วยสงวนหรือคุ้มครองเอาไว้เพื่อให้ยังเหลือที่เหลือทางของงานแนวนี้อยู่ด้วย เหมือนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

พื้นที่เล็กน้อยที่ให้สัตว์พันธุ์วรรณกรรมได้รอดชีวิตเติบโตหรือมีลูกมีหลานสืบไปนั้น ก็ได้แก่สำนักพิมพ์น้อยใหญ่ที่ยังเห็นคุณค่าของงานวรรณกรรมที่ยังคงจัดพิมพ์หรือทำการแปลงานของนักเขียนในแนวทางนี้ออกมาอย่างสม่ำเสมอ แต่ก็อาจจะปรับยอดพิมพ์หรือราคาจำหน่ายบ้างตามความเหมาะสม สำนักพิมพ์เล็กๆ หลายสำนักพิมพ์อาจจะใช้วิธีการให้สั่งจองล่วงหน้าเพื่อจะได้ประเมินยอดพิมพ์หรือต้นทุนอันควรจะเป็นได้ชัดเจนขึ้น นักเขียนหลายท่านที่มีแฟนประจำชัดเจนแน่นอนใช้ระบบการตั้งสำนักพิมพ์พิมพ์และขายงานของตัวเอง ทั้งยังเผื่อแผ่ไปยังนักเขียนมิตรสหายในแนวทางเดียวกันอีกด้วย

ที่กล่าวมาข้างต้น คือการดิ้นรนเพื่อให้สิ่งที่เรียกว่า “งานวรรณกรรม” รอดชีวิต ซึ่งการ “รอดชีวิต” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการรอดชีวิตเฉพาะสำหรับนักเขียนคนไหน หรือหนังสือเล่มใดเป็นส่วนตัว แต่เหมือนกับการช่วยให้วงการวรรณกรรมทั้งหมดรอดชีวิตอยู่ได้ ด้วยการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยังเอื้อต่อการสร้างการเขียนหรือการผลิตงานแนววรรณกรรมอยู่ หรือการแปลงานวรรณกรรมระดับคลาสสิกจากต่างประเทศมาเป็นภาษาไทย ก็เหมือนการสร้างสะพานข้ามอุปสรรคทางภาษาเพื่อให้ผู้คนเข้าถึงหรือสัมผัสโลกวรรณกรรมผ่านวรรณกรรมของโลกได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น

จริงอยู่ว่าการทำหนังสือออกมาในรูปของสำนักพิมพ์จะเล็กใหญ่ หรือในรูปของผู้เขียนพิมพ์เองขายเอง ก็ถือเป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเรามองว่าการทำหนังสือแนววรรณกรรมออกมาเป็นรูปเล่มเป็น “แค่ธุรกิจ” ที่ทำเพื่อหวังเงินหวังทองไม่ต่างจากการขายขนมถ้วยหรือยาลดความอ้วน ก็บอกตรงๆ ว่าออกจะเป็นการมองแบบสุดโต่งที่ “ใจร้าย” เกินไปหน่อย

เพราะถ้าคนมีเงินมีทุนหรือเรี่ยวแรงและอยากจะ “แค่ทำธุรกิจ” อะไรสักอย่างที่จะหวังร่ำหวังรวยจริงๆ คงไม่มีใครเลือกทำธุรกิจที่เขาว่ากำลังเดินไปสู่ขาลงด้วยการรุกรานของเทคโนโลยีอย่างการทำสิ่งพิมพ์หนังสือเล่ม ทั้งยังเป็นงานที่ยุ่งยาก มีขั้นตอนการทำงานซับซ้อนที่มีโอกาสของความผิดพลาดซ่อนอยู่ได้ทุกขั้นตอน ซ้ำต้นทุนยังจมหายไปนาน กำไรเป็นกอบเป็นกำก็คืนกลับมาช้า

หรือต่อให้มีโจทย์ว่าอยากทำธุรกิจหนังสือแบบมุ่งหวังกำไรเป็นกอบเป็นกำ แทนที่จะไปเลือกเอาวรรณกรรมตุรกีสักเล่มมาแปลเป็นภาษาไทย (ที่แม้ว่าผู้เขียนจะได้รางวัลโนเบลก็เถอะ) หรือเลือกเอานักเขียนหน้าใหม่ที่ยังไม่มีใครรู้จัก พิมพ์เป็นหนังสือแล้วจะขายได้กี่เล่มก็ไม่รู้มาเสี่ยงพิมพ์ ก็ควรจะไปซื้อลิขสิทธิ์หนังสือฮาวทูมีชีวิตดีได้ง่ายนิดเดียว หรือพิมพ์นิยายทารุณรักเจ้าชายทะเลทราย ที่น่าจะหวังผลในทางยอดขายกำไรสุทธิ รวยไปเงียบๆ ไม่ต้องโดนแซะให้เสียอารมณ์อีกต่างหาก

แปลว่ามันคงต้องมีอะไรสักอย่าง ที่เราอาจจะเหมาเอาว่าคือความรักใคร่ลุ่มหลงในสิ่งที่เรียกว่า “วรรณกรรม” ที่ทำให้พวกเขาเลือกเดินทางยากเช่นนั้น

ซึ่งหากเราก็เป็นคนหนึ่งที่รักและยังเชื่อในพลังของวรรณกรรม และมีหัวจิตหัวใจที่เป็นธรรมพอ คงไม่อยากเห็นใครต้องบาดเจ็บล้มตาย เพราะความพยายามทำในสิ่งที่ทั้งเราทั้งเขามีความรักและศรัทธาอยู่ร่วมกัน แม้ว่าอาจจะเดินบนถนนคนละสาย หรือแม้แต่อยู่คนละฝั่งกับที่เราเดินอยู่ก็ตามที

ยิ่งถ้าเราเป็นคนที่เวียนว่ายอยู่ในแวดวงของ “วรรณกรรม” อย่างน้อยก็ควรจะมีมุทิตาจิต ยินดีที่คนที่ทำงานเพื่อสร้างที่สร้างทางให้วงการวรรณกรรมเช่นนั้นสามารถอยู่รอดเลี้ยงตัวได้ ยิ่งถ้าสามารถอยู่แบบสบายตัวได้มากเท่าไรยิ่งน่าจะยินดีด้วยมากขึ้นไปเท่านั้น ในฐานะของคนที่สร้างพื้นที่เพิ่มลมหายใจให้แวดวงในภาพรวมนั้นอยู่รอดต่อไปได้

“ราคา” ของหนังสือประกอบด้วยต้นทุนมากมาย ไม่ได้มีแต่ราคาของกระดาษค่าพิมพ์ หรือค่าจัดจำหน่ายเพียงเท่านั้น แต่ยังมีค่าทรัพย์สินทางปัญญา หรือ “ค่าเรื่อง” ของผู้เขียน ถ้าเป็นหนังสือแปลก็ยังต้องมีค่าการทำงานและความพยายามของผู้แปลที่ทำงานหนักหนาไม่ผิดจากนักเขียนเท่าไรนัก ค่าบรรณาธิการที่ยิ่งเป็นงานแปลวรรณกรรมต่างประเทศยิ่งต้องทำการบ้านอย่างหนักทั้งในด้านของภาษาและวัฒนธรรม
ค่างานศิลปกรรมที่ใช้ประกอบในเล่ม ค่าจัดรูปเล่ม ค่าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์รวมซอฟต์แวร์ ค่ายิบย่อยอีกร้อยแปด

และที่เหลือคือ “ค่าน้ำใจ” ที่เราจะให้กับคนทำหนังสือที่เราอยากอ่านได้อีกบ้างหรือไม่
เราอาจจะรู้สึกว่าหนังสือราคาสูงได้ในบางเล่ม

แต่หนังสือจะ “แพง” หรือไม่ คงขึ้นกับ “ค่าน้ำใจ” ของแต่ละคน

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image