หัวเลี้ยว หัวต่อ ‘รัฐธรรมนูญ 2560’ กับการเลือกตั้ง

แม้จะเคยหงุดหงิดกับ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ไม่ว่าจะเป็นฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ไม่ว่าจะเป็นฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์

แม้จะเคยหงุดหงิดกับกระบวนการ “ประชามติ”

เพราะเป็นประชามติในแบบ “มัดมือชก” ไม่ยอมให้มีแม้กระทั่ง “ศูนย์ปราบโกง” ซึ่งจัดตั้งโดยแกนนำ “นปช.” ทั้งในส่วนกลางและในส่วนภูมิภาค

แต่เมื่อประกาศและบังคับใช้ “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560”

Advertisement

ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ว่าพรรคชาติพัฒนา

ล้วน “ได้หมด” แม้ไม่ค่อยจะ “สดชื่น”

เพราะแม้ “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” จะประกาศและบังคับใช้แล้ว แต่ก็ยังไม่มีการปลดล็อกประกาศและคำสั่ง คสช. พรรคการเมืองและนักการเมืองก็ยังถูกดึงแข้งดึงขา ไม่อาจเรียกประชุม ไม่อาจเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องใจ

Advertisement

ถามว่าเหตุปัจจัยอะไรทำให้ “นักการเมือง” ถึงรับได้

 

ที่นักการเมืองและพรรคการเมืองสามารถยอมรับได้และพร้อมเข้าสู่กระบวนการตาม “โรดแมป” เพราะทุกคน ทุกพรรคล้วนมีความต้องการตรงกัน

นั่นก็คือ การเลือกตั้ง

เหมือนกับนักการเมืองจะเร่งเร้าอยากให้ได้ “เลือกตั้ง” ภายในเร็ววัน นั่นก็คือ เร็วกว่าที่กำหนดไว้ภายใน 240 วัน

แต่เมื่อทาง “คสช.” ยังยืนตามเดิม

ท่าทีของทุกพรรคการเมืองก็มิได้เดือดเนื้อร้อนใจอะไร แม้กระทั่งจะเลื่อนไปจนถึงต้นปี 2562 ทุกพรรคการเมืองก็ยังยอมรับ

การยอมรับในที่นี้หมายถึง “การเลือกตั้ง”

ท่าที 2 ท่าทีที่สัมผัสได้ในขณะนี้ก็คือ บรรดา “นักลากตั้ง” จากรัฐประหารพยายามยื้ออย่างสุดแรงให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปให้ยาวนานที่สุด แต่บรรดา “นักเลือกตั้ง” จากทุกพรรคการเมืองต่างเร่งให้การเลือกตั้งมาเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้

2 ท่าทีนี้สะท้อนความสำคัญของ “การเลือกตั้ง”

 

ทําไมเมื่อ “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” ประกาศและบังคับใช้ ก็มีหลายคนให้นิยามความหมายว่าหมายความถึงการนับถอยหลังของขบวนการ “รัฐประหาร”

พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าเป็นการนับ 1 ไปสู่ “การเลือกตั้ง”

การเลือกตั้งนั้นเองคือเครื่องมือและอาวุธอันทรงความหมายยิ่งของ “นักการเมือง” จะมีบทบาทและมีโอกาสตีกลับไปยัง “นักลากตั้ง” อันมาจากขบวนการรัฐประหาร

มีความชอบธรรมอย่างเต็มเปี่ยม เพราะมาจากการเลือกของ “ประชาชน”

แม้จะมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 แต่หลังเลือกตั้งเดือนเมษายน 2522 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็ต้องอำลาไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2523

แม้จะมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 แต่หลังเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2535 พล.อ.สุจินดา คราประยูร ก็ต้องอำลาไปในเดือนพฤษภาคม 2535

เห็นหรือไม่ว่า “การเลือกตั้ง” มีฤทธานุภาพเพียงใด

ตรงนี้เองที่ทำให้ทุกพรรคการเมือง ทุกนักการเมืองยินยอมอดทนและรอคอยเพื่อที่จะก้าวเข้าไปสู่โหมดแห่ง “การเลือกตั้ง”

 

นับจากเดือนเมษายน 2560 เป็นต้นไป กล่าวสำหรับ คสช.และ “แม่น้ำ 5 สาย” หมายถึงเวลาแห่งการนับถอยหลัง

นับถอยหลังไปจาก “อำนาจ” ที่ได้มาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

วันใดที่มีการกำหนด “วันเลือกตั้ง” นั่นหมายถึงวินาทีแห่งความระทึกใจ ว่าจะสามารถ “ยื้อ” อำนาจให้อยู่ในมือได้ยาวนานเพียงใด

“การเลือกตั้ง” จึงสำคัญยิ่งสำหรับ “นักการเมือง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image