กก.ยุทธศาสตร์ชาติ ภาคบังคับ : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2560 ส่งต่อเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติรับหลักการวาระแรกวันที่ 21 เมษายน 2560 ด้วยคะแนนเสียง 196 ต่อ 0 ตั้งกรรมาธิการวิสามัญ 33 คน พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน เพื่อส่งเข้าที่ประชุมวาระสอง สามต่อไป
คณะกรรมาธิการวิสามัญเลือก พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร อดีต ผบ.สส. เป็นประธาน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รองประธานคนที่ 1 นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธาน

คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ รองประธานคนที่ 2 พล.อ.ชูศักดิ์ เมฆสุวรรณ์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) รองประธานคนที่ 3 พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี รองประธานคนที่ 4 พล.ร.อ.ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์ สนช.เป็นเลขานุการ นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นรองเลขานุการ

ครับ ที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาทวนความจำเพราะเป็นกฎหมายสำคัญมีผลต่อชะตากรรมของประเทศชาติบ้านเมือง พี่น้องประชาชนทุกหมุู่เหล่าต่อไปในอนาคตอีกยาวไกล

ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกหลายคนอภิปรายประเด็นสำคัญๆ คือ การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติยาวถึง 20 ปี สอดคล้องกับความเป็นจริงของโลกและสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาหรือไม่ หรือควรเป็นเพียงวิสัยทัศน์จะเหมาะสมกว่า หลายประเทศกำหนดยุทธศาสตร์ชาติเป็นแนวทางนำพาประเทศเดินไปข้างหน้าอย่างมีเป้าหมายมีความต่อเนื่อง ต่างจากประเทศไทยจึงจำเป็นต้องออกกฎหมายรองรับให้เกิดสภาพบังคับไว้ องค์ประกอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและกรรมการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมีความเหมาะสมเพียงไร ฯลฯ

Advertisement

ข้อคิดเห็นเหล่านี้สุดท้ายแล้วจะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนในชั้นกรรมาธิการและที่ประชุมวาระสองสามหรือไม่ ต้องติดตามจนถึงนัดสุดท้ายเสร็จสิ้นนั่นแหละ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์ประกอบกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่มีปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นโดยตำแหน่ง มีการอภิปรายมากในทำนองจะทำให้น้ำหนักการกำหนดยุทธศาสตร์เน้นไปทางความมั่นคงเป็นพิเศษหรือไม่

เรื่องนี้มองได้หลายมุม ด้านหนึ่งอ้างในนามของความปรารถนาดีเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยง ยุทธศาสตร์ชาติกับมิติด้านความมั่นคง แต่มองอีกมุมเป็นความต้องการมีบทบาทกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์ชาติให้เป็นไปตามความคิดเห็น ความต้องการของฝ่ายตน

Advertisement

ฟังอภิปรายนวัตกรรมการบริหารจัดการประเทศยุคปฏิรูป 20 ปี แล้วต้องย้อนกลับไปดูตั้งแต่ต้น จะเห็นพัฒนาการและความคิดที่อยู่เบื้องหลังการออกแบบในแต่ละช่วง ดังนี้

ร่างกฎหมายฉบับนี้ เริ่มตั้งแต่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กำหนดกรรมการไว้ 2 ระดับ คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ ชุดแรกจำนวน 23 คน ประกอบด้วย นายกรัฐมตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ จำนวน 20 คน ประธานและรองประธาน มาจากผู้ทรงคุณวุฒิ มีคณะกรรมการสรรหาผู้มีคุณสมบัติเข้ามาเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ วาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี

ระดับถัดลงมาเป็นคณะกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบด้วย เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะรัฐมนตรี อัยการสูงสุด ผู้อำนวยการสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยรัฐ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย ผู้แทนคณะกรรมการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้ทรงคุณวุฒิ 12 คน รวมไม่เกิน 26 คน

ต่อมากฎหมายส่งผ่านมาถึงสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีการแก้ไขจนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ชาติกับกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ

คณะแรกประกอบด้วย ประธานคือนายกรัฐมนตรี รองประธานคนที่ 1 ประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานคนที่ 2 ประธานวุฒิสภา กรรมการโดยตำแหน่ง คือ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประธานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกรรมการโดยตำแหน่งที่มาจากองค์กรวิชาชีพที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นจำนวนไม่เกิน 14 คน วาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี

ไม่ปรากฏว่ามีกรรมการโดยตำแหน่งที่มาจากแม่ทัพนายกองทั้ง 6 ท่าน ที่เป็นระเด็นอภิปรายกันในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งก็ผ่านการลงมติให้ความเห็นชอบไปตามนั้น
ประเด็นจึงมีว่ากรรมการโดยตำแหน่งดังกล่าว เพิ่มเติมเข้าไปในขั้นตอนไหนของกระบวนการยกร่างกฎหมาย ใครเป็นต้นทางความคิด มีเหตุผลสนับสนุน ความจำเป็นประการใด ให้ทำหน้าที่นี้อีกเก้าอี้หนึ่ง นอกจากเป็นวุฒิสมาชิกซึ่งบัญญัติไว้รัฐธรรมนูญ 2560 นั่นเอง

การปรับเปลี่ยนองค์ประกอบและโครงสร้างของกรรมการที่มีนัยสำคัญทั้งหลายเหล่านี้ ผ่านการรับฟังความเห็น ผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่ แค่ไหน

ทำให้เกิดข้อน่าเป็นห่วงในขั้นตอนการปฏิบัติ การจัดความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารคือคณะรัฐมนตรีกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 11 ด้าน และกลไกเพื่อการปฏิรูป คณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ อย่างต่ำ 7 ด้าน ตลอดจนกลไกรองรับในฝ่ายประจำที่เพิ่มขึ้นอีกไม่น้อย

จะดำเนินบทบาทอย่างไรให้ไปด้วยกันอย่างราบรื่น ไม่เกิดอุปสรรคขัดขวางจากความอุ้ยอ้าย เทอะทะมากมายหลายขั้นตอน เกิดการทับซ้อน อำนาจขัดกัน จนกระทบถึงประสิทธิภาพการแปรยุทธศาสตร์สู่ความเป็นจริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image