ไทยพบพม่า : ลบอดีต ล้างความทรงจำ ในประวัติศาสตร์พม่าสมัยใหม่ : โดย ลลิตา หาญวงษ์

ประวัติศาสตร์อาจดูเป็นวิชาที่คร่ำครึและดูจะเป็นวิชาที่เน้นการท่องจำสำหรับใครหลายๆ คน แต่ในความจริงแล้ว ประวัติศาสตร์มีคุณูปการมหาศาลในกระบวนการสร้างชาติ พูดง่ายๆ คือความรับรู้สาธารณะเกี่ยวกับชาติเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยรัฐทั้งสิ้น มิได้ผุดขึ้นมาจากพงศาวดาร ศิลาจารึก หรือตำราแบบอัตโนมัติ ผู้นำรัฐยุคใหม่ต่างสร้างประวัติศาสตร์ฉบับของตนเองขึ้นมา แต่ในขณะเดียวกันก็เลือกที่จะลบความทรงจำบางอย่างออกไปจากความนึกคิดของประชาชนในชาติ จริงอยู่ความทรงจำบางอย่างลบเลือนได้ยาก แต่การกำจัดสัญลักษณ์ที่ดูจะ “ขวางหูขวางตา” บางอย่างก็กลายเป็นกุศโลบายของผู้นำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยใหม่ที่พบได้ทั่วไปภายใต้รัฐบาลแบบเผด็จการอำนาจนิยม การลบประวัติศาสตร์ตามอำเภอใจ หรือการปล่อยปละละเลยให้ประวัติศาสตร์หยุดนิ่งอยู่กับที่ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์บาดแผล หรืออดีตบางช่วงบางตอนที่มีริ้วมีรอยไม่ผ่องใส ก็อาจเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้อดีตบางช่วงบางตอนหลุดวงโคจรและหายไปจากความทรงจำของผู้คนได้ไม่ยาก

บาดแผลทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้พม่าบอบช้ำที่สุดไม่ใช่สงครามยุคจารีตระหว่างอังวะกับอยุธยาหรือกรุงเทพฯ หากแต่เป็นความพ่ายแพ้ให้กับจักรวรรดินิยมอังกฤษที่เข้าไปยึดครองพม่าเป็นอาณานิคมเป็นเวลารวมกว่า 120 ปี ขบวนการชาตินิยมที่ผุดขึ้นในพม่าตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 หรือประมาณยุครัชกาลที่ 5 โจมตีระบอบอาณานิคมว่าได้ทำลายอัตลักษณ์ของชาวพม่า และลดทอนคุณค่าของพุทธศาสนา นอกจากนี้การนำเข้าแรงงานหลายล้านคนจากอินเดียเข้ามาเป็นแรงงานในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมยังผลักให้ชาวพม่าเป็นประชากรชั้นสอง

เมื่อพม่าได้รับเอกราช ผู้นำในรัฐบาลจึงต้องช่วงชิงพื้นที่ทวงคืนอัตลักษณ์ของตนเอง ในขณะเดียวกันก็กดทับสัญลักษณ์ระบอบอาณานิคมที่มีมาแต่เดิม ในสมัยนายกรัฐมนตรีอู นุ นโยบายหลักของรัฐบาลพม่าคือการนำพุทธศาสนาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศยุคใหม่ ตั้งแต่การตั้งสมาคมชาวพุทธจำนวนมาก การตั้งสถานปฏิบัติธรรมขนาดใหญ่ ในขณะเดียวกัน วัฒนธรรมหรือ “ความศิวิไลซ์” แบบตะวันตกก็ยังคงอยู่ ตลอดทศวรรษ 1950 และต้นทศวรรษ 1960 (ประมาณ พ.ศ.2490-2505) ชาวพม่าที่มีการศึกษายังใช้เวลาว่างไปกับการเต้นลีลาศ การตีกอล์ฟ และการอ่านนวนิยายภาษาอังกฤษ

แต่ในกาลต่อมา วัฒนธรรมตะวันตกกลายเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ ในบรรยากาศที่ผู้นำคณะปฏิวัติอย่าง นายพลเน วิน ต้องการปิดประเทศ และโดดเดี่ยวพม่าออกจากวงโคจรของโลก โดยเชื่อว่าพม่าจะพัฒนาไปได้มั่นคงกว่าและปลอดภัยกว่าหากคนในชาติบริโภคของที่ผลิตได้ภายในประเทศ และโฟกัสกับวัฒนธรรมพม่าที่ดีงาม

Advertisement

การปิดประเทศของเน วิน นำไปสู่นโยบายทำให้เป็นพม่า (Burmanization) มากมายตั้งแต่ปี 1962 (พ.ศ.2505) รวมทั้งการเปลี่ยนชื่อเมืองและชื่อถนนจากที่เคยเรียกตามอังกฤษ มาเป็นชื่อพม่า นอกจากจะตอกย้ำให้เห็นศัตรูร่วมของคนทั้งชาติแล้ว ยังทำให้นายพล เน วินเป็นผู้สร้างพม่าสมัยใหม่ขึ้นมาตามภูมิปัญญาของชาวพม่าเองด้วย

ถึงกระนั้น ก็มีผู้สังเกตว่าการเปลี่ยนชื่อถนนหรือชื่อเมืองบางแห่งมิได้เกิดขึ้นจากความรู้สึกต่อต้านระบอบอาณานิคมเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องไสยศาสตร์หรือความเชื่อเรื่องโชคลางเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น เมืองเล็กๆ ในพม่าตอนล่างชื่อ “อาลัน” อันเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ นายพันอาร์ลัน (Arlan) ชาวอังกฤษ ก็ถูกเปลี่ยนให้เป็นเมือง “อ่อง ลาน” (Aung Lan) ที่แปลว่าธงแห่งความโชคดี เน วินได้รับแนวคิดการเปลี่ยนชื่อเมืองนี้มาจากหมอดูผู้หนึ่ง

สภาพของพะโค คลับในปัจจุบัน ภาพถ่ายโดยผู้เขียน ถ่ายเมื่อ พ.ศ.2556
พะโค คลับในต้นศตวรรษที่ 20

นอกจากนี้ ในยุคของเน วิน เขายังสั่งให้ทำลายวงเวียนดั้งเดิมหลายแห่งในย่างกุ้ง เช่น วงเวียนหงสาวดีและวงเวียนเลดาน (Hledan) และยังเปลี่ยนชื่อเมือง ถนน ซอย สวนสาธารณะ และชื่อสถานที่อื่นๆ ที่มีชื่อภาษาอังกฤษ เป็นภาษาพม่า เช่น ทะเลสาบวิคทอเรีย เปลี่ยนชื่อเป็นทะเลสาบอินยา (Inya Lake-อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง และบ้านพักของด่อ ออง ซาน ซู จี) ถนนอะนอระธา เดิมชื่อถนนเฟรเซอร์ (Fraser) อันเป็นชื่อของร้อยโทอเล็กซานเดอร์ เฟรเซอร์ ผู้วางแผนผังเมืองย่างกุ้งเป็นคนแรก เมืองบัสซีน (Bassein) เปลี่ยนชื่อเป็นปะเตง (Pathein หรือเมืองพะสิม) แม่น้ำอิระวดี เป็นแม่น้ำเอยาวดี และเมืองเมเมี้ยว (Maymyo) หรือเมืองของพันเอกเมย์ กลายเป็นเมืองปยิน อู ลวิน (Pyin Oo Lwin)

Advertisement

ทั้งนี้ ต้องกล่าวด้วยว่า เน วินมิได้เขียนประวัติศาสตร์ใหม่จากการลบอดีตเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เขายังเลือกที่จะสร้างอดีตขึ้นมา หรืออย่างน้อยคือสร้างของใหม่เพื่อผูกตัวเองไว้กับอดีตที่ดีงาม เห็นได้จากการที่เขาได้สร้าง เจดีย์มหาวิซายะ (Maha Wizaya Zedi) ไว้ใกล้กับประตูทางเข้าพระมหาเจดีย์ชเวดากองทางทิศใต้

เจดีย์มหาวิซายะที่เน วินสร้างขึ้นในปีปี 1980

นอกจากการเปลี่ยนชื่อสถานที่ทั่วประเทศแล้ว รัฐบาลเน วิน ยังมีกุศโลบายอื่นๆ เพื่อลบภาพของระบอบอาณานิคมออกไป อย่างการกำจัดสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นความเหนือกว่าของชาวตะวันตก เช่น การสั่งให้รื้ออาคารที่ทำการรัฐบาลอาณานิคม (Government House) อาคารขนาดใหญ่ศิลปะแบบควีนแอนน์ผสานกับแบบโคโลเนียลอันงดงาม เมื่อปี 1985 โดยอ้างว่าฐานรากไม่แข็งแรงและอาคารกำลังทรุดตัว อีกทั้งรัฐบาลต้องใช้เงินมหาศาลหากจะมีการบูรณปฏิสังขรณ์อาคารหลังนี้อย่างจริงจัง

ภายหลังการปฏิวัติ รัฐบาลของเน วิน มีนโยบายขับชาวตะวันตกออกจากพม่า ด้วยมาตรการตั้งแต่การไม่ต่อวีซ่า ใบอนุญาตทำธุรกิจ การควบรวมกิจการของต่างชาติมาเป็นของรัฐ ไปจนถึงการกล่าวหาชาวตะวันตกหลายคนว่าเป็นหน่วยสืบราชการลับซีไอเอ การตบเท้าเดินออกจากพม่าของชาวตะวันตกทำให้แหล่งปะทะสังสรรค์ของชาวตะวันตกหลายแห่งร้างลง โดยเฉพาะตามสโมสรต่างๆ ที่โดดเด่นมากที่สุดเห็นจะเป็น “เพคู คลับ” หรือ “พะโค คลับ” (Pegu Club) สโมสรกินดื่มและสปอร์ตคลับที่รับเฉพาะสมาชิกที่เป็นคนขาวเท่านั้น จอร์จ ออร์เวลล์ นักเขียนชื่อดังชาวอังกฤษ เคยบรรยายภาพของสโมสรแบบพะโคคลับไว้อย่างละเอียดไว้ในนิยายเรื่องแรกของเขา คือ Burmese Days (แปลเป็นภาษาไทยแล้วโดยใช้ชื่อ “พม่ารำลึก”) และมองว่าเป็นสถาบันที่เป็นภาพแทนความโหดร้าย ป่าเถื่อนและการเลือกปฏิบัติของระบอบอาณานิคมได้เป็นอย่างดี ในปัจจุบัน พะโคคลับถูกปล่อยให้ทิ้งร้าง อาคารขนาดใหญ่ที่สร้างด้วยไม้สักทั้งหลังมีสภาพทรุดโทรมตามกาลเวลา

ผู้เขียนมีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมพะโคคลับเมื่อ 4 ปีที่แล้ว แต่เมื่อกลับไปอีกครั้งในต้นปีที่ผ่านมาก็พบว่าบุคคลภายนอกไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปภายในพะโคคลับอีก เป็นไปได้ว่ารัฐบาลและกองทัพอาจให้เอกชนเช่าพื้นที่โดยรอบพะโคคลับ ซึ่งเป็นพื้นที่ของทหาร และอาจมีโครงการบูรณะปรับปรุงพะโคคลับในไม่ช้า

หลังนายพลเน วิน ลาออกจากตำแหน่งในรัฐบาลหลังเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างทหาร-ตำรวจและนักศึกษา-ประชาชนในปี 1988 SLORC ของนายพลซอ หม่อง (ก่อนจะเปลี่ยนผู้นำเป็นนายพลตาน ฉ่วย ในปี 1992) เข้ามารับไม้ต่อ รัฐบาลเผด็จการยังคงเดินหน้าลบอดีตบางอย่างต่อไป โดยมักให้เหตุผลว่า “เพื่อสร้างความสมานฉันท์ปรองดองภายในชาติ” ตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดคือการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “เบอร์ม่า” (Burma) อันเป็นชื่อที่อังกฤษเรียกพม่า มาเป็น “เมียนมา” ในปี 1989 การลบความทรงจำที่บอบช้ำในอดีตและการฟื้นฟูอำนาจนำของกองทัพและชาวพม่า

ที่เห็นได้ชัดที่สุดคงจะไม่พ้นการย้ายเมืองหลวงจากเมืองร่างกุ้ง (ย่างกุ้ง) ที่อังกฤษสร้างขึ้นให้เป็นเมืองท่าการค้าขนาดใหญ่ ขึ้นไปที่เมืองปยินมะนา (Pyinmana) หรือกรุงเนปิดอว์ในปัจจุบัน

ลลิตา หาญวงษ์
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image