แรกนาขวัญ “เบิกพรหมจรรย์” และนาตาแฮก

ที่ผาหม่อนน้อย อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มีภาพวาดลายเส้นเขียนสีการทำกิจกรรมของคนโบราณ ซึ่ง “สุจิตต์ วงษ์เทศ” ได้อธิบายไว้ในบทความ “ปักกกแฮก ในนาตาแฮก” ลงในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม 2557 ส่วนหนึ่งว่า

“ปักกกแฮก ในนาตาแฮก เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว มีต้นข้าวปักดำเป็นแถว มีวัวหรือควาย กับมีคนถืออาวุธทำท่าล่าวัวควาย และมีมือประทับทำแนวโค้ง พร้อมด้วยลายขีดข่วน รูปสัญลักษณ์ที่ยังไม่รู้ความหมาย” และยังอธิบายเพิ่มเติมถึงความเป็นมาของประเพณีแรกนาขวัญ พิธีกรรมโบร่ำโบราณที่นักประวัติศาสตร์โบราณคดีระบุว่ามีการสืบต่อมาหลายพันปีแล้วในย่านถิ่นพี่น้องไทย-ลาวแห่งอุษาคเนย์ตอนบน ลงในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 สิงหาคม 2557 อีกส่วนว่า

“แรกนาขวัญ เป็นภาษาของคนในภาคกลางที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตรงกับภาษาของคนบริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขงว่า นาตาแฮก (แฮก คือ แรก) หมายถึง การไถนาทำนาปลูกข้าวครั้งแรกในนาจำลองขนาดเล็กๆ ที่สมมุติขึ้น” “แล้วมีพิธีสู่ขวัญวิงวอนร้องขอต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ (บางทีเรียกผีนาหรือพระภูมินา) จงบันดาลให้ทำนาจริงๆ ได้ผลผลิตเป็นข้าวงอกงามอุดมสมบูรณ์เหมือนนาจำลองที่สมมุติขึ้นครั้งแรกนี้” และ “พิธีอย่างนี้มีมาแต่ดั้งเดิมในชุมชนดึกดำบรรพ์ราว 3,000 ปีมาแล้ว สมัยก่อนๆ ทุกคนมีอาชีพทำนาต้องทำกันทั่วไปก่อนจะลงมือทำนาจริง”

ชาวนาอีสานกำลังปลูกข้าวแรกหรือ “ปักกกแฮก” ในพิธีนาตาแฮก (ภาพจาก ปรานี วงษ์เทศ. ประเพณี 12 เดือน. สำนักพิมพ์มติชน, 2548)
ชาวนาอีสานกำลังปลูกข้าวแรกหรือ “ปักกกแฮก” ในพิธีนาตาแฮก (ภาพจาก ปรานี วงษ์เทศ. ประเพณี 12 เดือน. สำนักพิมพ์มติชน, 2548)

นอกจากนั้นในวารสารสังคมวิทยามานุษยวิทยา ฉบับ มกราคม-มิถุนายน 2557 ได้ลงบทความเก็บตกจากงานสัมมนาการบรรยายเรื่อง “วิถีข้าว วิถีชีวิตในการบูรณาการทางสังคมไท” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิเชฐ สายพันธ์ คัดมาในตอนที่เกี่ยวกับแบบแผนพิธีกรรมการเพาะปลูกข้าว อ้างถึงข้อสังเกตของ ปรานี วงษ์เทศ (2536) ต่อพิธีกรรมต่าง ๆ ในการทำนาของชาวจ้วงว่า

Advertisement

“ซึ่งมักให้ความสำคัญต่อบทบาทผู้หญิงและความเป็นหญิง ซึ่งพิธีของชาวจ้วงจะให้ชายแต่งเป็นหญิงตีกลองทัด ซึ่งชาวบ้านอธิบายว่าในอดีตผู้หญิงเป็นหัวหน้าหมู่บ้าน เป็นผู้ชี้แนะการเพาะปลูก บอกชุมชนให้เริ่มทำนา และพิธีหว่านของชาวจ้วงในกวางสี ผู้หญิงจะนำข้าวเหนียวนึ่ง 5 สี (ขาว เหลือง แดง เขียว ม่วง) ไก่ เหล้า ไปบูชาผีข้าวในนาก่อนจะทำการหว่านข้าว”
และคัดมาในอีกตอนที่เกี่ยวกับพิธีแรกนาของชาวจ้วงว่า

“ชาวจ้วงแฮกนาโดยให้หญิงชราลูกดกไปดึงกล้าแล้วนำไปดำเป็นเคล็ดในการแรกนา ซึ่งกลุ่มชาวจ้วงเชื่อว่าเป็นพิธีที่สะท้อนบทบาทหญิงที่เคยเป็นผู้นำชุมชนเกษตรกรรมการเพาะปลูกข้าวของสังคมไทมาก่อน”

พิธีกรรมแบบ “นาตาแฮก” ก่อนลงมือปลูกพืชผลตามฤดูกาลนั้น ก็มีปรากฏในประเพณีครั้งเก่าของทางอินโดนีเซีย ตั้งแต่พวกดายัคลงไปไปจนถึงพวกซุนด้าและชวาแห่งอุษาคเนย์ตอนล่าง เพียงแต่เรียกในชื่อต่างกันออกไป เช่นว่า “upacara adat tanam padi – อูปาจาร่า อาดั๊ต ตานัม ปาดี้” แปลว่าพิธีกรรมดำนาข้าว หรือ “upacara adat bertani – อูปาจาร่า อาดั๊ต เบอร์ตานี” แปลว่าพิธีกรรมปลูกพืชพันธุ์ หรือ “upacara adat buka tanah อูปาจาร่า อาดั๊ต บูก้า ตานาฮ์” แปลว่าพิธีกรรมการเปิดผืนดิน

Advertisement

 

พิธี “แฮกนา” หรือแรกนา ของชาวเหนือ ทำตาเหล๋ว (เฉลว) ขนาดใหญ่บนยอดไม้รวก มีโซ่ทำด้วยตอกแขวนจากตาเหล๋ว (เฉลว) ปลายโซ่ผูกปลาตะเพียนทำด้วยไม้เส้นละตัว รอบๆ เสาไม้รวก 4 ทิศมีแท่นวางสะตวง(เครื่องเซ่น)ทิศละแท่น (ภาพจาก “ฮีตไผ ฮีตมัน” ใน คนเมือง วารพิเศษรายเดือน พ.ศ. 2498 บทความโดย แมน เมืองเหนือ, ภาพโดย นิคม กิตติกุล)
พิธี “แฮกนา” หรือแรกนา ของชาวเหนือ ทำตาเหล๋ว (เฉลว) ขนาดใหญ่บนยอดไม้รวก มีโซ่ทำด้วยตอกแขวนจากตาเหล๋ว (เฉลว) ปลายโซ่ผูกปลาตะเพียนทำด้วยไม้เส้นละตัว รอบๆ เสาไม้รวก 4 ทิศมีแท่นวางสะตวง(เครื่องเซ่น)ทิศละแท่น (ภาพจาก “ฮีตไผ ฮีตมัน” ใน คนเมือง วารพิเศษรายเดือน พ.ศ. 2498 บทความโดย แมน เมืองเหนือ, ภาพโดย นิคม กิตติกุล)

 

มีคำที่น่าสนใจคือคำว่า “tanam อ่านว่า ตานัม” มีความหมายว่าปลูกฝังแช่เมล็ดหรือต้นกล้าพันธุ์ลงไปในดิน (ที่ชุ่มชื้นไปด้วยน้ำ) เพื่อรอให้งอกงามเจริญเติบโต ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “to plant” และตรงกับภาษาของพวกไท-ไต ว่า “ดำ” ซึ่งเป็นคำที่พิเศษและถูกใช้ในหลากหลายสถานภาพทั้ง สีดำ การปักดำ การรดน้ำและการดำหัว

และอีกคำว่า “buka อ่านว่า บูก้า” ที่น่าสนใจไม่แพ้คำว่า “tanam” โดยคำว่า “buka” มีความหมายในภาษาอินโดนีเซียว่าเปิดออก เปิดเผยสิ่งที่ปกปิดอยู่ให้เป็นที่รับรู้ แสดงการเปิดผลักออกไปข้างหน้าที่ไม่ใช่การดึงกลับเข้ามา ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “open” และตรงกับคำว่า “บุก” หรือ “เบิก” ของพวกไท-ไต คำสองคำนี้แปลในทำนองว่าการล่วงล้ำเข้าไปเพื่อเปิดทาง เช่น บุกป่าฝ่าดง บุกรุกแผ้วถาง บุกตะลุย เบิกทางเส้นใหม่ ทำให้เปิดกว้างถ่างออก เบิกไร่เบิกนา หรือเบิกบายศรี

ซึ่งจะเห็นความคล้ายกันทั้งในรูปคำและความหมาย ระหว่างคำของพวกอินโดนีเซีย ซึ่งเป็น “Austronesian” สายหนึ่ง กับคำของพวกไท-ไต ซึ่งเป็น “Tai-Kadai” สายหนึ่ง และคงกล่าวได้อย่างไม่เก้อเขินว่า พิธีกรรมแรกนาขวัญนั้นเป็นวัฒนธรรมร่วมดั้งเดิมของชาวอุษาคเนย์อย่างแท้จริง

คำของพวก ไท-ไต ว่า “แรกนา” ซึ่งเป็นคำเดียวกับ “นาตาแฮก” นั้น ได้เจาะจงลงไปเป็นพิเศษที่ “แรก” และ“แฮก” ว่า เป็นการทำพิธีกรรมของผู้คนที่ต้องการสื่อสารกับสิ่งเหนือไปจากการรับรู้ทั่วไป เป็นการเฉพาะ ในการทำกิจกรรมเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เป็นการสื่อความหมายอย่างชัดเจนของการใช้คำว่า “แรก” หรือ “แฮก” อย่างตรงไปตรงมา บอกให้รับรู้ถึงการเริ่มต้น การบุกเบิก การเปิดทาง เพื่อกิจกรรมแห่งการก่อกำเนิดชีวิต ในแนวทางเดียวกับการ “ชำแรก” หรือ “แทรก” เปิดพรหมจรรย์ของแท่งศิวะลึงค์ เพื่อให้ชีวิตใหม่ได้ปฏิสนธิในอุ้งครรภ์มารดาอย่างสมบูรณ์ เป็นพิธีกรรมโบราณของผู้คนในย่านนี้ที่มีมาก่อนพิธีพราหมณ์อย่างยาวนาน

ซึ่งสอดคล้องต้องกันกับข้อสังเกตของนักวิชาการหลายท่านที่ว่า แม่หญิงต้องเป็นผู้นำในพิธีศักดิ์สิทธิ์นี้ และผู้บ่าวคนแบกรับภาระไว้บนบ่าก็ต้องแต่งเป็นแม่หญิงเท่านั้น เพื่อทำหน้าที่ตีกลองร้องส่งเสียงบอกผีฟ้าให้รับรู้ เพราะนี่คือพิธีกรรมแห่งการสืบสานเผ่าพันธุ์ ระหว่างผีฟ้าผู้เป็นพ่อที่ให้กำเนิดเชื้อชีวิตลงมาชำแรกแทรกตัวเข้าปฏิสนธิกับเชื้อไข่ในอู่ครรภ์มดลูกของแม่ธรณียังเบื้องล่าง โดยมีหยาดน้ำเป็นสื่อสัมพันธ์ระหว่างผีฟ้าและแม่ดิน เพื่อช่วยให้พิธีกรรมสืบสานเผ่าพันธุ์ส่งผลอย่างสมบูรณ์เต็มที่

นอกจากนี้ ในภาษาของอินโดนีเซียยังมีคำที่สื่อความหมายของคำว่า “แรก” และ “แฮก” อย่างชัดเจน คือคำว่า “sarak อ่านว่า ซารัค” แปลตรงๆ ว่าแบ่งแยก ซึ่งถ้าสังเกตจะเห็นว่าออกโทนเสียงได้สำเนียงใกล้เคียง และยังมีความหมายอันเดียวกับคำว่า “ชำแรก” “แทรก” “แรก” และ “แฮก” นั่นคือการเปิดแหกแยกบางสิ่งออกจากกัน จึงขอเสนอรากความหมายดั้งเดิมของประเพณีเก่าแก่แห่งอุษาคเนย์ “แรกนา” และ “แฮกนา” ไว้ ณ ที่นี้

 

สุพัฒน์

เกิดที่จันทบุรี เมื่อ พ.ศ 2512 จบการศึกษาจากภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วเดินทางไปสำรวจเหมืองถ่านหินในป่าฝนดิบชื้นแห่งหมู่เกาะทะเลใต้ ประเทศอินโดนีเซียเป็นเวลาหลายปี มีความสนใจพิเศษในด้านภาษาศาสตร์ จึงค้นคว้ารวบรวมข้อมูล พร้อมเสนอแนวคิดใหม่ผ่านบทความในชุด ‘สืบสานจากภาษา เชื่อมมหาสมุทร ขุดรากเหง้า คนไทยอยู่ที่นี่’ เผยแพร่ครั้งแรกใน ‘มติชนออนไลน์’

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image