เสียงเพรียกถึง”เสรีภาพ” โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

ในรายละเอียดของการจัดการประเทศในหลายๆ เรื่องสะท้อนให้เห็นทิศทางที่ “วิ่งกลับ” ของการเมืองการปกครองไทย จากที่พากันมุ่งไปสู่ “กระจายอำนาจ” พลิกตัวหันหลังกลับมาเป็น “รวมศูนย์อำนาจ”

จากความเชื่อที่ว่าสังคมไทยจะพัฒนาได้มีแต่จะต้องเพิ่มเสรีภาพให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิในการจัดการตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

เป้าหมายอยู่ที่ให้ทุกคนรับผิดชอบในการดูแลจัดการตัวเอง โดยผู้บริหารมีหน้าที่อำนวยการให้แต่ละคนจัดการตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในแนวทางนี้แน่นอนว่ารัฐจะต้องมีอำนาจในการควบคุมไม่ให้เสรีภาพส่วนบุคคลนั้นล้ำเส้นจนคุกคามชีวิตความเป็นอยู่ของคนอื่น

Advertisement

กลไกรัฐมีภาระที่จะต้องอำนวยความเป็นธรรมให้กับการใช้เสรีภาพของประชาชน

ในแนวทางนี้ผลที่จะเกิดขึ้นคือ ต้นทุนการบริหารจัดการประเทศจะต่ำลง เพราะเมื่อทุกคนสามารถรับผิดชอบตัวเองได้ ย่อมไม่เป็นภาระที่จะต้องสร้างกลไกขึ้นมาดูแลจัดการอะไรมากมาย หน่วยงานของรัฐจะเหลือเพียงภารกิจอำนวยการเป็นหลัก

ประชาชนรับผิดชอบสร้างความสุขสงบให้ชีวิตตัวเองได้มากขึ้นเท่าไร งานของรัฐจะลดน้อยลง ค่าจ้างภาครัฐจะมีเพียงเท่าที่จำเป็นกับการอำนวยการ ไม่ใช่ต้องทำจ้างมาทำทุกอย่างแล้ว กระทั่งไม่สามารถควบคุมประสิทธิภาพ กลายเป็นความล้มเหลวไปทุกเรื่องเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้

Advertisement

อย่างเช่นเสียงบประมาณมหาศาลเพื่อจัดการศึกษาที่ไม่มีประสิทธิภาพให้ประชาชน มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่นับวันยิ่งทำให้ชีวิตเกษตรกรตกต่ำลงไปเรื่อยๆ พร้อมๆ กับความล้มเหลวของระบบสหกรณ์ หรืออะไรอื่นๆ ที่เหมือนๆ กันทุกกระทรวง

ในทิศทางที่ให้เสรีภาพกับประชาชนไปจัดการชีวิตตัวเอง จะทำให้สามารถลดงบประมาณที่ต้องใช้จ่ายไปอย่างไรประสิทธิภาพเหล่านี้ได้มากมาย

ภาษีทีเก็บจากประชาชนแทนที่จะสิ้นเปลืองไปกับภารกิจที่ไร้ประสิทธิภาพของกระทรวงต่างๆ จะสามารถนำมาอำนวยการให้ประชาชนที่มีเสรีภาพที่จะใช้สิทธิของตัวเองสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาเป็นผลผลิตของประเทศชาติ เพื่อยืนอยู่ในเวทีโลกได้ดีกว่า

แต่ถึงวันนี้ แนวทางการจัดการการอยู่ร่วมกันในประเทศที่มุ่งไปที่เป้าหมาย เพิ่ม “สิทธิ เสรีภาพให้ประชาชน” ปรับอำนาจส่วนกลางให้เหลือเพียง “อำนวยการ” ดูจะถูกโล๊ะทิ้งไปเรียบร้อย

ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นกระบวณการจัดการประเทศเรา กำลังไปสู่ระบบ “รวมศูนย์”

อำนาจรัฐจะต้องจัดการ ตั้งแต่กำหนดวิถีชีวิตของประชาชนว่าจะต้องอยู่กันอย่างไร อยู่ด้วยความคิดความเชื่อแบบบไหน จะทำมาหากินอย่างยังไง อาชีพไหนต้องเลิก อาชีพไหนจะยังอยู่

อำนาจรัฐต้องเข้าไปจัดการชีวิตของประชาชนอย่างละเอียด ตั้งแต่ “เกิด แก่ เจ็บ ตาย” และระหว่างมีชีวิตทุกขั้นตอน

ทั้งวางแผนให้เป็น ควบคุมให้ดำเนินไป จัดการที่ออกนอกลู่นอกทาง

ด้วยภาระที่เพิ่มขึ้นนี้จะทำให้ “โครงสร้างอำนาจรัฐ” จะต้องขยายใหญ่ขึ้นอย่างมหาศาล หน่วยงานของรัฐจะต้องเพิ่มงบประมาณอีกมากมายเพื่อรับภารกิจเข้าไปจัดการประชาชน

จึงเป็นเรื่องปกติที่จะต้องออกกฎหมายในเชิงควบคุมขึ้นมากมาย เพื่อให้รับภาระที่เพิ่มขึ้นนั้นให้ได้

ในทิศทางของรัฐที่ “รวมศูนย์อำนาจ” นี้ “สิทธิ เสรีภาพ” ไม่เพียงเป็นเรื่องไม่จำเป็น แต่การปล่อยให้เรียกร้องมีสร้างปัญหา เพราะจะทำให้ยากต่อการควบคุม ยากต่อการสร้างภาวะจำยอม

ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงทิศทางการเมืองการปกครองประเทศแบบหันหลังกลับเช่นนี้

ย่อมเป็นธรรมดาที่จะต้องมีเรื่องราวกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของคนกลุ่มต่างๆ

เสรีภาพของคนกลุ่มใดมีอิทธิพลและก่อให้เกิดการฝืนความเปลี่ยนแปลงมากกว่า ย่อมโดนริลิดรอนก่อน

จึงเป็นเรื่องปกติที่เสียงเรียกหาสิทธิและเสรีภาพจะดังจากตรงโน้นบ้าง ตรงนี้บ้าง

“สื่อมวลชน” ที่กำลังเจ็บปวดกับการตกเป็นเป้า “ลิดรอนเสรีภาพ” เวลานี้เป็นแค่เริ่มต้น

อีกไม่นาน “เสียงร้องของกลุ่มอื่นๆ” ก็จะตามมา

ด้วยเป็นเรื่องธรรมดา “อำนาจรวมศูนย์” ย่อมดำเนินไปในทางตรงกันข้ามกับเสรีภาพ

ไม่ว่าจะเป็น “เสรีภาพ” ของใคร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image