ที่มา | มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ |
เผยแพร่ |
ความจริงอยากจะตั้งชื่อบทความนี้ให้ดูเท่ๆ ตั้งหลายแบบ แต่ก็ดูจะยาวไป เลยขอตั้งชื่อง่ายๆ แบบนี้ ทั้งที่อยากจะตั้งชื่อว่า “การเมืองวัฒนธรรม : ว่าด้วยอัตลักษณ์และเศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องจักรวรรดินิยมจีนใหม่ในขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองและการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในประเทศในกลุ่มวัฒนธรรมการเมืองแบบ “จีน”
แหม่ ตั้งแบบยาวๆ นี้อาจจะได้สาวกเพิ่มหลายคน ยอดกดไลค์กดแชร์ในฉบับออนไลน์อาจจะมีมากในหมู่นักศึกษา แต่หน่วยงานฝ่ายความมั่นคงจะไม่อ่าน ก็เลยอยากจะตั้งชื่อง่ายๆ เพื่อรักษาฐานลูกค้าสำคัญเอาไว้สักหน่อย
ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ผมมีโอกาสได้ไปเปิดหูเปิดตาครั้งสำคัญจากความกรุณาของทางภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ผมสังกัดอยู่ และคณาจารย์อีกหลายคนในภาค ให้ติดตามนิสิตในหลักสูตรโครงการปริญญาโท สาขาการเมืองและจัดการปกครอง ที่ทางภาควิชาดูแล ไปศึกษาดูงานยังเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ซึ่งก็พูดไม่ยากว่า เป็นส่วนหนึ่งของ “จีน” แต่ถามว่าเป็น “ส่วนไหน” ของจีน หรือเป็น “ส่วนหนึ่งที่สัมพันธ์กับส่วนอื่นอย่างไร?” นั้นตอบยากอยู่
ส่วนสำคัญที่เราไปดูงานก็คือ ศึกษาประวัติศาสตร์และการบริหารเมืองฮ่องกง ฟังบรรยายและแลกเปลี่ยนความเห็นกับคณาจารย์จากศูนย์วิจัยด้านเอเชียของมหาวิทยาลัยแห่งนครฮ่องกง (มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องเมืองไทยหลายคน โดยเฉพาะเรื่องเมืองไทยในบริบทของประชาธิปไตยในเอเชีย) และที่สำคัญก็คือ ได้มีโอกาสพูดคุยกับนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับขบวนการ “ร่มเหลือง” ที่มีบทบาทเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งเป็นการทั่วไปจากรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อปีสองปีที่ผ่านมา
มากไปกว่านั้น การเดินทางครั้งสำคัญนี้ยังเกิดขึ้นในบริบทของการหาเสียงโค้งสุดท้ายและการเลือกตั้งประธานาธิบดีของไต้หวัน ซึ่งผลการเลือกตั้งก็ออกมาแล้วว่า “อาจารย์ไซ” หรือไซอิงเวิน (ผมอ่านแบบของผม ไม่แน่ใจว่าเขาสะกดอย่างไร) แห่งพรรคฝ่ายค้าน (พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า Democratic Progressive Party) มีชัยชนะขาดลอยจาก “อาจารย์เอริค” หรือเอริค จู แห่งพรรคก๊กมินตั๋ง หรือพรรค “ชาตินิยมจีน” ซึ่งเป็นพรรคที่กำลังจะเป็นพรรคอดีตรัฐบาลอย่างขาดลอย
ข้อมูลจากเว็บไซต์ของ Channel News Asia หรือสำนักข่าวหลักในประเทศสิงคโปร์ระบุว่า อาจารย์ไซนั้นชนะอาจารย์เอริคถึงร้อยละ 51.18 กับร้อยละ 31 ทีเดียว และถ้ามาบวกกับลำดับสามคือ เจมส์ ซุง อีกร้อยละ 12.82 อาจารย์ไซก็ยังชนะขาดลอย
ที่เรียกว่าอาจารย์ไซกับอาจารย์เอริค ก็เพราะทั้งสองท่านนี้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมาก่อน อาจารย์ไซนั้นเป็นอาจารย์สอนนิติศาสตร์ ก่อนมาเล่นการเมือง และเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีน เมื่อครั้งที่พรรคฝ่ายค้านเป็นรัฐบาลเมื่อ 2000-2008 ขณะที่อาจารย์เอริคมีพื้นเพมาจากการเป็นนายกเทศมนตรี คราวนี้ลงสมัครเพราะประธานาธิบดีหม่าจากพรรคเดียวกันครบการดำรงตำแหน่งสองวาระ ไม่สามารถลงสมัครอีกได้ตามข้อบังคับของรัฐธรรมนูญไต้หวัน
อาจารย์นิติศาสตร์ของไต้หวันนี่ก็แปลกนะครับ สนใจมาเล่นการเมืองผ่านการเป็นนักการเมือง ไม่ยักเหมือนประเทศบางประเทศที่อาจารย์สายนี้สนใจไปนั่งองค์กรอิสระหรือช่วยทหารร่างรัฐธรรมนูญมากกว่า
ที่ผมโม้เรื่องพวกนี้เป็นคุ้งเป็นแคว ก็ไม่ใช่เพราะติดตามเรื่องเกี่ยวกับการเมืองแบบ “จีนๆ” ทั้งหลายหรอกครับ แต่เผอิญประสบการณ์การไปอยู่ที่ฮ่องกงในช่วงวันหยุดนี้มันพาให้สนใจ เริ่มตั้งแต่สกู๊ปข่าวต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน South China Morning Post ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์หลักของฮ่องกง ที่ไม่ได้จะเออออไปในทางเดียวกับรัฐบาลจีน (หรือประเภทถ่ายเซลฟี่กับนายกรัฐมนตรีที่มาจากการทำรัฐประหาร) และที่สำคัญมีโอกาสได้รับชมข่าวต่างประเทศจากสำนักข่าว NHK ภาคภาษาอังกฤษที่จัดโดยญี่ปุ่น เรื่องราวสีสันต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เรื่องความเป็นจีนหรือจักรวรรดินิยมจีนนี้ก็ยิ่งดูน่าสนใจไปกันใหญ่
โดยเฉพาะในโลกที่อะไรๆ ก็ดูจะกลับตาลปัตรไปเสียหมด ราวกับว่าถ้าใครหลายคนเพิ่งตื่นมาจากการแช่แข็งโดยเฉพาะในยุคสงครามเย็นแล้ว อาจจะงงนักงงหนาว่านี่มันการเมืองของไต้หวันสมัยไหนหว่า? ที่ประชาชนเลือกผู้หญิงเป็นประธานาธิบดีและไม่เลือกพรรคก๊กมินตั๋งที่ตั้งประเทศ และที่สำคัญพรรคก๊กมินตั๋งนั้นพ่ายแพ้การเลือกตั้งเพราะที่ผ่านมาดำเนินนโยบายสานความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน
ผมชอบคำสัมภาษณ์ของอาจารย์ไซในสกู๊ปข่าวโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งที่สถานีโทรทัศน์ญี่ปุ่นไปสัมภาษณ์มา รวมทั้งสกู๊ปเรื่องโค้งสุดท้ายของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของประชาชนไต้หวันที่น่าสนใจ อยากนำมาเล่าสู่กันฟัง
ประเด็นสำคัญในเรื่องของโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนั้นอยู่ที่ว่า อะไรคือเหตุผลของการที่พรรคฝ่ายค้านภายใต้การนำของอาจารย์ไซมาแรงแซงพรรครัฐบาล ซึ่งถ้าจะให้อธิบายง่ายๆ ก็คือ จากสารคดีข่าวที่ผมได้รับชมนั้น เขาวิเคราะห์ว่ามีส่วนสำคัญอยู่จากสามเรื่องใหญ่ๆ
เรื่องที่หนึ่งคือ เรื่องของการจัดความสัมพันธ์กับจีน โดยเฉพาะในมุมของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ท่ามกลางความสัมพันธ์ของจีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวันที่ยาวนานมาตั้งแต่ตั้งประเทศของทั้งสองประเทศ
อาจารย์ไซนั้นให้ความสำคัญกับการยืนอยู่ได้ของไต้หวันมากกว่าที่จะมุ่งหน้าเข้าร่วมกับจีนอย่างที่รัฐบาลก๊กมินตั๋งพยายามทำอยู่ ยิ่งการประชุมที่มีผลในเชิงนัยยะทางสัญลักษณ์ เช่น การพบกันระหว่างประธานาธิบดีหม่าของไต้หวันและประธานาธิบดีสีของจีนที่สิงคโปร์เมื่อปลายปีที่แล้ว ก็ยิ่งเห็นภาพที่เด่นชัดมากถึงทิศทางการร่วมมือกันของทั้งสองประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์ของหลายสำนักข่าวนั้น ก็ยังไม่แน่ชัดว่าตกลงการจัดความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีนที่เหมาะสมนั้นมันคืออะไรกันแน่ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและความเชื่อมโยงกันระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวันในเรื่องการลงทุนและการค้าขายแลกเปลี่ยน รวมทั้งการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้น
เรื่องที่สองคือ ความชัดเจนที่อาจารย์ไซกล่าวกับนักข่าวญี่ปุ่นว่า สิ่งสำคัญที่อาจารย์ไซในฐานะผู้สมัครเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวัน มองว่าเรื่องสำคัญที่จะกำหนดความเป็นไต้หวันที่สำคัญประการหนึ่งก็คือเรื่องของประชาธิปไตยในไต้หวัน ตรงนี้เรื่องสำคัญอาจไม่ได้อยู่ที่สารัตถะว่าประชาธิปไตยคืออะไรมากเท่ากับว่าการชี้ให้เห็นตัวตนของความเป็นไต้หวันนั้น ก็คือการมีประชาธิปไตยและการฟังเสียงของประชาชนในฐานะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ส่วนเรื่องที่สามที่น่าสนใจไม่แพ้สองเรื่องแรกคือ การที่สำนักข่าว NHK ลงไปทำสารคดีข่าวของนักศึกษามหาวิทยาลัยรายหนึ่งที่กลายเป็นกำลังหลักในการสนับสนุนการรณรงค์เลือกตั้งของอาจารย์ไซ โดยชี้ให้เห็นถึงการเติบโตทางความคิดและจุดยืนทางการเมืองของนักศึกษาท่านนี้ว่า เขาเริ่มจากการที่เขาก็เป็นเพียงนักศึกษาคนหนึ่งที่เรียนหนังสือไปเรื่อยๆ แต่ต่อมาเขาเริ่มพบกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ในรูปแบบใหม่ที่สัมพันธ์กับการเชื่อมโยงกับจีน โดยเฉพาะกับสิ่งที่น่าจะเข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องของ “จีนแผ่นดินใหญ่” และทำให้คนรุ่นใหม่ของไต้หวันเริ่มรู้สึกว่า “พวกเขาไม่ใช่คนจีน” “พวกเขาเป็นคนไต้หวัน”
เรื่องที่ผมจะพูดถึงนี้มีประเด็นน่าสนใจกับตัวผมเองอยู่อย่างหนึ่ง นั่นก็คือผมไม่ได้สนใจเรื่องของการเมืองจีนหรือเศรษฐศาสตร์การเมืองจีนสักเท่าไหร่ จำได้ว่าความรู้ในระดับการสรุปรวบยอดความคิดนั้นวนเวียนอยู่ระหว่างยุคที่เรียนหนังสือกับท่านศาสตราจารย์เขียน ธีระวิทย์ ที่ทำให้เราเห็นประวัติศาสตร์และโครงสร้างทางการเมืองของจีนสมัยพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นสู่ตำแหน่ง และงานสมัยหนุ่มๆ ของผู้ช่วยศาสตราจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล ที่นำเสนอประเด็นเรื่องของ “ทุนนิยมโดยรัฐ(จีน)” ที่ชี้ว่าทุนนิยมที่พัฒนาขึ้นจากระบอบสังคมนิยมนั้นก็มีอยู่ นอกนั้นก็เป็นแฟนงานเรื่องการเมืองวัฒนธรรมของ “จีนสยาม” ของท่านศาสตราจารย์เกษียร เตชะพีระ
จากสารคดีและข้อมูลที่ผมได้ไปสัมผัสมาเล็กๆ น้อยๆ ทำให้ผมนึกถึงประเด็นว่าด้วย “จักรวรรดินิยมรูปแบบใหม่” ที่เป็น “จักรวรรดินิยมจีนใหม่” ที่ไปไกลกว่าประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งเรื่องของเศรษฐศาสตร์การเมืองภายในประเทศของจีน หรือมองแค่ประเทศทุนนิยมตะวันตกนั้นมันมีบทบาทอะไรต่อการร่วมมือกับจีน มาสู่ประเด็นเรื่องของการที่จีนเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ที่พัฒนาทุนนิยมในแบบของตัวเอง และสามารถขยายเครือข่ายและจัดวางความสัมพันธ์ทั่วโลก
กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือนอกเหนือไปกว่าอุดมการณ์ทางการเมืองเรื่องคอมมิวนิสต์ในแบบที่เราจะเข้าใจ (หรือไม่เข้าใจ) นั้น มันคือความร่วมมืออันสลับซับซ้อนของโครงสร้างรัฐแบบจีน การเมืองแบบจีน ที่ส่งผลต่อการขยายตัวของทุนนิยมและรูปการณ์จิตสำนึก ตลอดจนปฏิบัติการในการต่อต้านจักรวรรดินิยมในแบบจีนใหม่ ที่ทำให้เราต้องตั้งคำถามว่า ชนชั้นกรรมาชีพในโลกไม่มีอะไรจะสูญเสียนอกจากโซ่ตรวนของเขา หรือการเรียกร้องประชาธิปไตยจะต้องเป็นเรื่องของการชูประเด็นเสรีนิยมต้านทุนจีนที่สนับสนุนกับรัฐที่จีนให้การคุ้มครอง หรือเป็นเรื่องของการชูประเด็นว่ากูไม่ใช่คนจีนแผ่นดินใหญ่เว้ยกันแน่?
ประเด็นเหล่านี้ดูแล้วน่าจะไปในคนละทิศกับกระแสภูมิปัญญาที่มองในเรื่องบูรพาวิถี หรือเชื่อมั่นในพลังของความเป็นจีนที่ดูจะออกมาเป็นทฤษฎีการอธิบายความสำเร็จของจีนด้วยมิติทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ยาวนาน มาสู่การตั้งคำถามแบบเชยๆ แบบเดิมๆ ว่า ตกลงจีนเป็นพันธมิตรผู้ปลดปล่อยเราจากการเป็นกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา หรือจีนอยู่ในสถานะอะไรในกรอบความสัมพันธ์แบบกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา และต้องไม่ลืมว่ากรอบการพิจารณาจักรวรรดินิยมแบบเชยแสนเชยเหล่านี้มีทั้งมิติของพื้นที่และวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยไม่ใช่น้อย
กลับมาโม้ต่อเรื่องประเด็นสุดท้ายในสารคดีเรื่องโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งที่ไต้หวันต่อดีกว่าครับ ประเด็นที่สารคดีข่าวได้นำเสนอก็คือ คนไต้หวันรุ่นใหม่รู้สึกเชื่อมโยงกันหลายเรื่องในแง่ของอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนของเขาที่ไม่ใช่แค่เรื่องของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม แต่เรื่องที่น่าสนใจก็คือ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวันนั้น มันก็มีเหตุผลหลายอย่างที่ทำให้ความสัมพันธ์เปลี่ยนแปลงมาจนถึงวันนี้ อาทิ เรื่องเศรษฐกิจของไต้หวันที่ไม่ได้มั่นคงหรือมั่งคั่งไปได้ตลอด ดังนั้นรัฐบาลก๊กมินตั๋งเองเขาก็มองว่าความร่วมมือกับจีนจะเป็นหลักค้ำยันให้เศรษฐกิจของไต้หวันเฟื่องฟูต่อไป ทั้งในแง่การลงทุนในจีนและในแง่ของการท่องเที่ยวที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนในไต้หวันเพิ่มขึ้น
แต่ในอีกด้านหนึ่ง การปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมนั้นก็ทำให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ของไต้หวันจำนวนไม่น้อยมองว่าพวกเขาไม่ใช่คนจีน เขาเป็นคนไต้หวัน และประเด็นที่สำคัญก็คือประเด็นเรื่องการเมืองที่รัฐบาลเริ่มที่จะทำข้อตกลงกับรัฐบาลจีนในหลายเรื่อง ซึ่งประชาชนไต้หวันอาจจะรู้สึกว่าพวกเขาเสียเปรียบ ทั้งที่รัฐบาลอาจจะยืนยันว่าได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
ตรงนี้บอกตรงๆ ว่าไม่อยากจะโทษฝ่ายไหน เพราะการเมืองแบบประชาธิปไตยนั้นมันเป็นเรื่องของการตกลงและไม่ตกลงกันหลายๆ เรื่อง บางเรื่องเราไม่ได้ประโยชน์ เราก็รู้สึกว่ารัฐบาลนี้ไม่ใช่ตัวแทนของเรา ส่วนเรื่องไหนที่ได้ประโยชน์ เราก็รู้สึกว่ารัฐบาลที่ไปทำข้อตกลงนั้นเป็นตัวแทนของเรา
ที่กล่าวถึงมานี้ก็เพราะว่าในเรื่องราวของนักศึกษาท่านนั้น มีตอนที่เขาเข้าร่วมการปฏิวัติดอกทานตะวัน หรือ Sunflower Revolution ที่เป็นการยึดพื้นที่ของรัฐสภาและที่ทำการรัฐบาลเมื่อสองปีก่อนโดยนักศึกษา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการลงนามในข้อตกลงการค้ากับจีนที่พวกเขาเห็นว่าเป็นการตกลงที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อไต้หวันอย่างเต็มที่
และภายหลังจากเหตุการณ์นั้นเอง นักศึกษาหลายคนก็เริ่มหันมาช่วยรณรงค์ให้กับพรรคฝ่ายค้านและอาจารย์ไซ ซึ่งกลายเป็นว่าพรรคฝ่ายค้านที่กำลังจะก้าวกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งนั้น เป็นที่ชื่นชอบของทั้งประชาชนและคนรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก
และส่วนหนึ่งก็เพราะว่าฝ่ายค้านและขบวนการนักศึกษาได้นำเสนอทฤษฎีและปฏิบัติการที่อธิบายความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม พื้นที่ และอำนาจ กับสิ่งที่ผมเรียกว่า “จักรวรรดินิยมจีนใหม่” นั่นแหละครับ ยิ่งเมื่อพิจารณาเรื่องจักรวรรดินิยมจีนใหม่ เรายิ่งควรพิจารณาว่าบรรดานักอนาคตศึกษา หรือนักวัฒนธรรมศึกษาที่นำเสนอความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจและ (รากฐานทาง) วัฒนธรรมของจีนนั้น มีทฤษฎีทางการเมืองว่าด้วย “การเมืองและปฏิบัติการของรัฐจีน” ในปัจจุบันอย่างไร มากกว่าการอธิบายแค่ว่าจีนนั้นไม่แทรกแซงการเมืองภายในของแต่ละประเทศ ทั้งที่การไม่แทรกแซงก็ถือเป็นการแทรกแซงอย่างหนึ่งมิใช่หรือ
ผมจะขอข้ามฝั่งมาพูดเรื่องของการปฏิวัติร่มเหลืองในฮ่องกงบ้าง ซึ่งส่วนหนึ่งก็มีความเชื่อมโยงกับการปฏิวัติดอกทานตะวันในไต้หวัน (จากสัญลักษณ์แห่งความหวังและการหันตามแสงสว่าง) แต่จากข้อมูลจากแกนนำบางส่วนชี้ว่า แม้ว่าหลักใหญ่ใจความของร่มเหลืองจะมาจากการเรียกร้องให้มีสิทธิการเลือกตั้งทั่วไปของพลเมืองเขตปกครองพิเศษฮ่องกง แต่ถ้าพิจารณาลึกๆ ลงไป ผมขอประมวลออกมาเป็นห้าเรื่องจากการได้รับทราบข้อมูลในพื้นที่
หนึ่ง คือ การเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งทั่วไปในการบริหารจัดการเขตปกครองพิเศษมาจากความผิดหวัง (และความคาดหวัง) ที่จีนนั้นเลื่อนการให้สิทธิดังกล่าวออกไปเรื่อยๆ นับตั้งแต่การคืนเกาะฮ่องกงจากอังกฤษสู่จีนเมื่อ ค.ศ.1997
สอง คือ การชุมนุมเรียกร้องเริ่มจากการตั้งคำถามกับการบริหารจัดการเมือง และเชื่อมโยงกับความเข้าใจว่าใครอยู่เบื้องหลังอะไร เช่น มองว่าการต้านรัฐบาลเขตปกครองพิเศษนั้นเพราะรัฐบาลนั้นเป็นหุ่นเชิดของรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน และเขาก็ถามต่อไปอีกว่า รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนมีใครอยู่เบื้องหลัง คำตอบก็คือทุนนิยมนั่นแหละครับ
สาม เรื่องนี้ต่อจากเรื่องที่สอง นั่นก็คือความเข้าใจว่าทุนนิยมมันอยู่เบื้องหลังความเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวัน นี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการบริหารจัดการเมือง เพราะที่ผ่านมาก่อนจะมีการเคลื่อนไหวขบวนการร่มนั้น มันมีการเคลื่อนไหวของประชาชนในพื้นที่ในการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ในเมืองในหลายที่ เช่น การจะถมทะเลโดยทำลายท่าเรือเก่าสองแห่ง ซึ่งคนจำนวนหนึ่งเขามองว่าเป็นพื้นที่แห่งความทรงจำและพื้นที่สาธารณะของพวกเขา หรือการชุมนุมต่อต้านการย้ายท่าเรือเอามาหาประโยชน์จากการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ เรื่องเหล่านี้ทำให้พลเมืองฮ่องกงเห็นว่าการแย่งชิงพื้นที่ของพวกเขาไปโดยคำสั่งของรัฐบาล เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนหลายกลุ่ม และยิ่งมีการจัดการแกนนำ ก็ยิ่งเห็นว่าทุนไหนได้ประโยชน์ ทุนไหนสามานย์กันแน่
สี่ เรื่องนี้ต่อจากเรื่องที่สามและสองอย่างแนบแน่น ก็คือประเด็นการบริหารจัดการเมืองเหล่านี้ไม่ได้รับความสนใจจากนักการเมืองที่อ้างเรื่องประชาธิปไตย เพราะพวกนี้เคลื่อนไหวแต่เรื่องการเลือกตั้ง และทำตัวราวกับเป็นฝ่ายค้านใต้บารมีของรัฐบาลปักกิ่งคือ ให้ความเห็นรายวันตามสื่อและขออนุญาตประท้วงเป็นครั้งคราว ขณะที่คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าจักรวรรดินิยมจีนใหม่ใกล้ตัวพวกเขาขึ้นทุกวัน นั่นคือที่มาที่เด็กมัธยมจำนวนหนึ่งและนักศึกษาเริ่มรวมตัวกันและช่วงชิงการนำจากแกนนำประชาธิปไตยรุ่นเก่า โดยเฉพาะจากเด็กมัธยม พวกเขารู้สึกว่าเสรีภาพของพวกเขาหายไปเพราะการยัดเยียดความเป็นจีนจากการร่างหลักสูตรใหม่ ให้ซาบซึ้งร้องไห้กับเนื้อหาความยิ่งใหญ่ของชาติจีนนั้น เป็นการล่วงละเมิดพื้นที่ส่วนตัวของเขา คือมันเลยจากเรื่องปริมณฑลทางความรู้เป็นปริมณฑลทางอารมณ์มากเข้าไปทุกที
พวกเขาจึงรวมตัวกันประท้วงรัฐบาลมาก่อนที่จะเข้าร่วมกับขบวนการทวงคืนพื้นที่เมืองและขบวนการร่ม (ร่มคือเครื่องมือต้านสเปรย์พริกไทยและแก๊สน้ำตาของรัฐบาล ส่วนสีเหลืองคือสีที่เริ่มจากการติดโบให้เป็นที่จดจำง่าย)
แต่เรื่องสุดท้ายที่ขบวนการเองก็ระมัดระวังคือ ความแตกแยกในขบวนการเองระหว่างพวกสุดโต่งที่ต้านทุกอย่างที่เป็นจีน กับพวกที่ต้านระบอบจักรวรรดินิยมจีนใหม่ก็มีอยู่ในทั้งกรณีของฮ่องกง (และไต้หวัน อะแฮ่ม ไม่อยากจะพูดว่ามีไปถึงสิงคโปร์และไทยด้วยกระมัง) ทั้งนี้เพราะพวกเขา (ในสายของผมที่ไม่ใช่คนจีน) ก็มีรากจีนทั้งนั้นแหละครับ แต่เราเริ่มเห็นว่าประเทศที่มีรากฐานจีนๆ เช่นนี้ก็มีความพยายามจะจัดความสัมพันธ์กับ “ความเป็นจีน” และการทำให้ความเป็นจีนเป็นทั้งอัตลักษณ์และความเป็นอื่นของตัวเองมาโดยตลอด ไม่ว่าตัวตนนี้จะหมายถึงตัวเราแต่ละคน หรือในฐานะชุมชนจินตกรรมหรือชุมชนทางการเมืองนั่นแหละครับ และที่จะขอแถมอีกนิดก็คือ จากข้อมูลของแกนนำบอกว่า ในบรรดานักศึกษาที่เคลื่อนไหวทั้งขบวนการร่มของชาวฮ่องกงและขบวนการดอกทานตะวันของไต้หวัน นักศึกษาด้านศิลปะและมนุษยศาสตร์นั้นเข้าร่วมมากกว่านักศึกษาสายวิทย์และสังคมศาสตร์
บางส่วนของแกนนำเล่าว่า เหตุผลที่นักศึกษาสังคมศาสตร์เข้าร่วมน้อยกว่า เพราะพวกเขาสนใจว่าเมื่อชุมนุมแล้วจะชนะหรือไม่ชนะ ทั้งที่นักศึกษาอีกจำนวนหนึ่งที่เข้าร่วมนั้น เขาไม่ได้สนใจว่าจะชนะหรือไม่ แต่เขาเข้าร่วมเพราะเขาต้องการทำให้สิ่งที่ไม่เคยคิดไม่เคยฝันนั้นมันมีโอกาสที่จะเป็นไปได้ ไม่ใช่เขาเข้าร่วมเพราะเขาเห็นว่ามันจะชนะหรือไม่ชนะตั้งแต่เริ่มแรก และเมื่อเขาเข้าร่วมเขาก็ได้เข้าสู่จินตกรรมแบบใหม่ที่เริ่มเห็นว่าโลกใบใหม่เราสร้างได้นั่นแหละครับ
(หมายเหตุ – ฝากร้านด้วยครับ หลักสูตรปริญญาโทสาขาการเมืองและการจัดการปกครองของภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นต่อไปเปิดรับสมัครแล้วในช่วงนี้ สอบถามข้อมูลได้ที่ 0-2218-7256)