สื่อไทย ก้าวหน้า-ถอยหลัง โดย ปราปต์ บุนปาน

ประวัติศาสตร์สื่อมวลชนไทยอาจมีความเป็นมายาวนาน จนสามารถนับย้อนเวลากลับไปได้ร่วมศตวรรษ

อย่างไรก็ตาม ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย” โดย คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร ระบุเอาไว้ว่า “สังคมมวลชน” ที่มี “สื่อมวลชน” เป็นสื่อกลางเชื่อมโยงคนจากหลายพื้นที่ของประเทศเอาไว้ด้วยกันนั้น ได้ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ปรากฏการณ์ที่ชัดเจน ก็คือ ในปี พ.ศ.2517 เพียงปีเดียว รัฐบาลได้ออกใบอนุญาตให้หนังสือพิมพ์รายวันมากถึง 117 ฉบับ

“การสื่อสารทำให้คนใกล้ชิดกันมากขึ้น การขยายแพร่กระจายของสื่อสารมวลชนเป็นกระจกเงาสะท้อนสังคม ทำให้ผู้คนตระหนักรู้ เขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมชาติ” (หน้า 330)

Advertisement

ยิ่งเมื่อเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเจริญเติบโตขึ้นในช่วงทศวรรษ 2520 คนไทยก็ยิ่งมีการศึกษาเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ “จำนวนคนอ่านหนังสือและสิ่งพิมพ์ประเภทต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว” (หน้า 330)

จำนวนคนอ่านที่มากขึ้น ย่อมเกื้อหนุนให้การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของสื่อมีพลังสูงขึ้น

ตัวอย่างสำคัญที่เบเคอร์และผาสุกยกขึ้นมา ก็ได้แก่สถานการณ์ใน พ.ศ.2533 เมื่อนักหนังสือพิมพ์ “ประสบความสำเร็จ” ในการเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก “ปร.42” ที่ออกในสมัยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่ง “ให้อำนาจรัฐบาลยุติการพิมพ์เป็นการชั่วคราวหรือเพิกถอนใบอนุญาตของหนังสือพิมพ์ได้” (หน้า 331)

Advertisement

พร้อมๆ กับภาวะรุ่งเรืองของสื่อสิ่งพิมพ์ การแผ่ขยายถนนหนทางและไฟฟ้าไปสู่ชนบท ก็ส่งผลให้ “โทรทัศน์” เป็นอีกหนึ่งสิ่งของเครื่องใช้สำคัญในหลายครัวเรือนทั่วประเทศ

สื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างโทรทัศน์จึงเริ่มทวีบทบาทในสังคม ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสื่อสิ่งพิมพ์

“ขณะที่รัฐบาลต้องยกเลิกการควบคุมสื่อสิ่งพิมพ์ก็ตระหนักดีถึงบทบาทและอิทธิพลของสื่ออิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะโทรทัศน์ จึงควบคุมเข้มงวด จนถึงทศวรรษ 2530 นั้น กองทัพหรือหน่วยงานรัฐเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้กับสถานีโทรทัศน์ 4 แห่ง และสถานีวิทยุอีกกว่า 400 แห่งทั้งสิ้น ดังนั้น เนื้อหาของสื่ออิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้จึงอยู่ในความควบคุมอย่างใกล้ชิด” (หน้า 334)

แต่สุดท้าย เบเคอร์กับผาสุกตั้งข้อสังเกตว่าเนื้อหาของสื่อโทรทัศน์ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม เพราะกลางทศวรรษ 2530 ทีวีหลายช่องได้เริ่มทำสัญญาว่าจ้างให้เอกชนบางรายเข้ามา “ผลิตรายการที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์และการอภิปรายการเมืองเป็นอิสระขึ้น” (หน้า 334)

น่าสนใจว่า การวิเคราะห์ของเบเคอร์และผาสุกนั้นวางอยู่บนชุดข้อมูลก่อนหน้าการมาถึงของสื่ออินเตอร์เน็ต, ก่อนการเกิดขึ้นของสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลจำนวนมาก และก่อนภาวะร่วงโรยของสื่อสิ่งพิมพ์

อย่างไรก็ดี แม้จะวิเคราะห์จากฐานข้อมูลเดิม แต่สังคมยุคใหม่ที่ถูกก่อรูปขึ้นด้วยสื่อสมัยใหม่ในทศวรรษ 2520-2530 นั้นกลับแฝงไว้ด้วย “พลังความเปลี่ยนแปลง” บางประการ ที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างไม่ล้าสมัยมาจนถึงปัจจุบัน

ดังที่หนังสือ “ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย” ได้ชี้เอาไว้ว่า “พื้นที่สาธารณะ” ในสื่อสิ่งพิมพ์และอิเล็กทรอนิกส์ (ยุคนั้น ยังมีเพียงวิทยุ โทรทัศน์ และวิดีโอ) มีสถานะเป็น “กระจกเงาที่สะท้อนสังคมในภาวะความเปลี่ยนแปลง … ขณะเดียวกันก็เป็นกระจกเงาที่สะท้อนความหลากหลายของสังคมมากขึ้นทุกที” (หน้า 336-7)

“ความหลากหลายที่เห็นได้ในกระจกสังคม หรือที่สะท้อนผ่านสื่อสารมวลชนต่างๆ บอกให้เห็นว่าข้ออ้าง ‘วัฒนธรรมไทย’ หรือรัฐชาติไทย’ มีนิยามเคร่งครัดตายตัว มีศูนย์รวมอยู่ด้วยกันเป็นหนึ่งเดียวนั้นน่าจะใช้ไม่ได้ ภาพที่เห็นเป็นอะไรที่ลื่นไหลกว่า…” (หน้า 340-1)

ที่น่าตกใจ คือ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและความหลากหลายที่ปรากฏให้เราเห็นอย่างไม่หยุดหย่อนในภูมิทัศน์สื่อร่วมสมัย อันเต็มไปด้วยตัวแสดงและช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ (พร้อมๆ กับการปิดตัวเลิกราของตัวแสดงและช่องทางแบบเก่าๆ)

กลับยังมีคนเห็นว่าสื่อมวลชนไทยควรจะถูกควบคุมอย่างกระชับแน่นมากขึ้น (เหมือนยุคก่อนโน้น) ด้วยกลไกทางกฎหมายกันอยู่เลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image