ภาวะ กลืน กลาย ของ คสช.และรัฐบาล ปัญหา พระสงฆ์

ยิ่งติดตาม “กระบวนการ” ในการแก้ปัญหาอันเกี่ยวกับการสถาปนา “สมเด็จพระสังฆราช” ของ คสช.และของรัฐบาล ยิ่งน่าเป็นห่วง ยิ่งน่ากังวล

ห่วงว่าจะ “พลัด” และ “หลง”

กังวลว่า แทนที่จะจบลงอย่างราบรื่น เหมือนยืนอย่างสง่างามอยู่บนเนินเขา กลับจะกลายเป็นการสร้างปัญหาขึ้นใหม่

เข้าลักษณะ “ยุ่งเหยิง”

Advertisement

ยุ่งเหยิงราวกับพลัดหลงเข้าไปในดงของ “ฝอยขัดหม้อ” อีนุงตุงนังยิ่งกว่าความพยายามของ “ลิง” ในยาม “แก้แห”

น่าเห็นใจ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

น่าเห็นใจ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)

Advertisement

อันต่อสายตรงไปยัง “มหาเถรสมาคม” หรือ “มส.”

สภาพ “วัวพันหลัก” ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นจนจบมิได้มาจาก นายวิษณุ เครืองาม หรือ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ

หากแต่มาจาก “หน่วยอื่น” หากแต่มาจาก “คนอื่น”

ถามว่าการส่งเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ ออกตระเวนไปตามวัดวาอารามต่างๆ มาจากสมองก้อนโตของบุคคลอย่างนายวิษณุ เครืองาม หรือ นายสุวพันธุ์

ตันยุวรรธนะ หรือ

ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น

เพราะว่า นายวิษณุ เครืองาม เติบโตมาในสาย “นิติศาสตร์” ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี กระทั่งระดับปริญญาเอก

รู้เรื่อง “การเมือง” มากกว่า “การทหาร”

ขณะเดียวกัน นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ เติบใหญ่อยู่ในสำนักข่าวกรองแห่งชาติ อาจจะทำงานสัมพันธ์กับหน่วยงานความมั่นคง

แต่ก็ถนัดเรื่อง “บุ๋น” มากกว่าเรื่อง “บู๊”

เช่นเดียวกับกระบวนการที่ผลักดันและมอบหมายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าไปตรวจสอบรถ 2 จากจำนวนทั้งสิ้น 6,000 คัน อย่างเป็นการจำเพาะ

ตามแผนสกัดมิให้เส้นทางไปสู่การสถาปนาตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ของพระสมเด็จ “บางรูป” บางท่าน ดำเนินไปด้วยความราบรื่น

ก็ไม่น่าจะมาจากนักกฎหมายอย่าง นายวิษณุ เครืองาม และก็ไม่น่าจะมาจากนักการข่าวกรองอย่าง นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ แน่นอน

ที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ กระทำการอย่างนี้แล้ว “จบ” หรือไม่

คำตอบก็จะออกมาในท่วงทำนองที่เห็นชัดว่า “บานปลาย” ทั้งมิใช่บานปลายอย่างธรรมดา หากแต่บานปลาย “ใหญ่”

หลายคนมีความรู้สึก “ร่วม” ว่า กระบวนการบริหารจัดการในแบบที่กระทำเรื่อยมาตั้งแต่เดือนมกราคมกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์

ไม่น่าจะเป็นการเดินหนทางที่ถูกต้อง

เหตุผลเพราะยิ่งลงมือทำยิ่งสะท้อนให้เห็นลักษณะอันเรียกได้ว่า “2 มาตรฐาน” หรือเป็นการเลือกปฏิบัติ

ขณะเดียวกัน ก็มิได้เป็นการยึดกุมหลักแห่ง “อริยสัจ 4” อย่างถูกถ้วน

อริยสัจ 4 อันเป็นปฐมเทศนาขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

นั่นก็คือ จะต้องเริ่มจากตัว “ทุกข์” ตัว “ปัญหา”

กระบวนการบริหารจัดการอันปรากฏภายหลังจากมหาเถรสมาคมมีมติอย่างเป็นเอกฉันท์เสนอให้นำชื่อ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อสถาปนาเป็น

สมเด็จพระสังฆราชนั้น สะท้อนให้เห็นความเข้าใจผิด เข้าใจไม่ตรงกัน

นั่นก็คือ รัฐบาลเห็นว่า “มติ” ของมหาเถรสมาคมเป็น “ตัวทุกข์”

นั่นก็คือ รัฐบาลแสดงออกอย่างแน่ชัดว่าไม่ให้การยอมรับต่อ “สิทธิอัตวินิจฉัย” ของสมเด็จพระราชาคณะซึ่งประกอบส่วนขึ้นเป็น “มหาเถรสมาคม”

เท่ากับ รัฐบาล “อาณาจักร” ไม่ยอมรับต่อรัฐบาลแห่ง “ศาสนจักร”

แทนที่ คสช.และรัฐบาลจะมองว่า “รากฐาน” ความคิดมาจากไหน อะไรคือปัจจัยทำให้เกิด “บทสรุป” เช่นนี้

คสช.และรัฐบาลกลับไปโทษคนอื่น โทษปัจจัยอื่น นั่นก็คือ มองว่ามหาเถรสมาคมมีปัญหา มองว่าบุคคลที่มหาเถรสมาคมเลือกมามีปัญหา มองว่าพระสงฆ์อันเป็นองค์ประกอบแห่งศาสนจักรมีปัญหา

จึงยิ่งแก้จึงยิ่งยุ่ง จึงที่ยิ่งอยากให้สงบกลับจะยิ่งไม่สงบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image