บทบาท ฐานะ ของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในทาง การเมือง

การออกมา “ชน” กับโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำอันเป็นพิมพ์เขียวของ คสช. และรัฐบาล โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สะท้อนนัยยะอะไรในทางการเมือง

ตอบได้คำเดียวว่า สะท้อนความเป็น “ผู้นำ”

ความเป็นผู้นำทั้งๆ ที่โดยโทษฐานทางการเมือง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่อาจมีตำแหน่งใดๆ ภายในพรรคเพื่อไทย

ไม่มีโอกาสแม้กระทั่งจะลงเลือกตั้ง

Advertisement

เพราะว่านับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คือเป้าหมายสำคัญในการโค่นล้มและทำลาย

เห็นได้จากมาตรการ “ถอดถอน”

เห็นได้จากมาตรการ “คิดบัญชี” แม้กระทั่งการใช้มาตรา 44 เพื่อกรุยทางไปสู่การอายัดและยึดทรัพย์ในจำนวนไม่ต่ำกว่า 3.4 หมื่นล้านบาท

Advertisement

เป้าหมายเพื่อ “ดิสเครดิต” เพื่อ “ทำลาย”

ในทางรูปแบบอาจสามารถทำได้ แต่ในทางเนื้อหาเด่นชัดยิ่งว่าไม่สามารถทำได้

 

ท่วงทำนองของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อาจดูเชื่องๆ ไม่มีฤทธิ์เดช ไม่มีพิษสง ด้านหลักยังคงยอมรับต่อทุกมาตรการอันมาจาก คสช.และรัฐบาล

เมื่อจำเป็นต้องไป “สนช.” ก็ไป

เมื่อจำเป็นต้องไป “ศาล” ก็ไป ไม่มีบิดพลิ้ว ไม่มีแข็งขืน

แต่ในเงื่อนไขอันเหมาะสม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ไม่ได้อยู่นิ่งเฉย พร้อมที่จะเคลื่อนไหวโดยแอบอิงอยู่กับผลประโยชน์ของประชาชน

อย่างเช่นเล่นบท “แม่ค้า” ตอนที่ “ราคาข้าว” ตกต่ำ

อย่างเช่นเล่นบท “นักวิจารณ์” เมื่อเห็นว่าการผลักดันโครงการซื้อเรือดำน้ำไม่สอดคล้องกับสภาพความจำเป็นเฉพาะหน้า

ไม่สอดรับกับความเป็นจริงในทาง “เศรษฐกิจ”

ตรงนี้เองทำให้ความเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีบทบาทและทรงความหมายเมื่อเทียบกับอดีตนายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ

ทั้งยังเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความนุ่มนวล ไม่ก้าวร้าว

 

ภายในพรรคเพื่อไทย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆ อย่างแน่นอน เพราะติดอยู่ในมาตรการต้อง “เว้นวรรค”

แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ยังดำรงความเป็น “ผู้นำ”

สถานการณ์จากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นเหมือนกระดานหกส่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้าไปดำรงอยู่ในระนาบเดียวกันกับนายทักษิณ ชินวัตร

เผลอๆ อาจสูงกว่าด้วยซ้ำไป

ไม่ว่าโดยสถานการณ์ที่บีบรัดพรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องเลือกใครขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค เป็นเลขาธิการพรรค

แต่บทบาทของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็จะยังคงอยู่

ต่อให้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองจะกีดกันสักเพียงใด แต่ก็มิอาจห้ามอิทธิพลทางการเมืองอันมาจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือแม้กระทั่งนายทักษิณ ชินวัตร ไปได้อย่างเด็ดขาด

สถานะก็คือ ผู้นำอันมากด้วย “บารมี”

 

เป้าหมายของรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป้าหมายของรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ต้องการโค่นล้ม ต้องการทำลาย นายทักษิณ ชินวัตร ต้องการโค่นล้ม ต้องการทำลาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในทางการเมือง

อาจทำได้ในทาง “รูปแบบ”

แต่ในทาง “เนื้อหา” พลานุภาพของ 2 คนนี้ก็ยังดำรงคงอยู่ มิอาจทำลายได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image