การแก้ปัญหาการจราจรด้วยภาษี และจัดการจำนวนรถ สำหรับเมืองใหญ่ : โดย กนกศักดิ์ พ่วงลาภ

จํานวนรถที่เพิ่มมากขึ้นเป็นปัญหาสำหรับเมืองใหญ่ทุกเมือง ทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด ปัญหาคุณภาพชีวิต และหากการจราจรติดขัดมากๆ อาจจะมีปัญหากระทบถึงเวลาในการให้ความเอาใจใส่กับงาน เพราะคนส่วนใหญ่ในเมืองใหญ่เสียเวลาให้กับการจราจรมากเกินไป และเหน็ดเหนื่อยกับการจราจรจนไม่มีเวลาทำงานอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย คนในกรุงเทพมหานครก็มีลักษณะอย่างนี้

ปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งพอจะแก้ปัญหาได้ ด้วยวิธีบริหารจัดการจำนวนรถ ให้มีจำนวนรถที่ใช้ในเขตเมืองพอเหมาะพอดีกับพื้นที่ถนนและพื้นที่จอดรถ การแก้ปัญหาอาจจะทำได้โดยการออกกฎหมายควบคุม หรือใช้วิธีการออกกฎกระทรวง หรือขอความร่วมมือและอื่นๆ แต่ไม่ว่าจะใช้แนวทางใดโดยรวมแล้วในทางทฤษฎีควรจะมีหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ เป็นอย่างน้อย

1.รัฐน่าจะมีกฎเกณฑ์กำหนดว่าผู้ที่ประสงค์จะซื้อรถใหม่นั้น จะต้องแสดงหลักฐานว่ามีที่จอดรถของตนเองเพียงพอที่จะจอดรถภายในบ้านตนเอง เพื่อตัดปัญหาที่จะต้องนำรถมาจอดบริเวณถนนหน้าบ้าน เพราะการนำรถมาจอดบริเวณถนนหน้าบ้านอาจทำให้ถนนนั้นเสียช่องทางการจราจรไปส่วนหนึ่ง และอาจเป็นสาเหตุของการจราจรติดขัดในภาพรวมเริ่มต้นจากในซอยเลยไปจนถึงถนนใหญ่

2.รัฐน่าจะจำกัดการถือครอบครองรถให้เหมาะสมกับบุคคล เกณฑ์ที่ใช้ได้ง่ายๆ คือบุคคลหนึ่งคนควรจะสามารถถือครองรถได้เป็นจำนวนไม่เกินคนละกี่คัน ซึ่งนอกจากจะจำกัดจำนวนต่อคนแล้ว คนแต่ละคนต้องแสดงหลักฐานว่ามีที่จอดรถเพียงพอที่จะจอดในบ้านของตัวเองทุกคันด้วย ตามข้อ 1 โดยจำนวนรถที่เหมาะสมนั้นอาจจะเป็นคนละ 1 คัน หรือคนละ 2 คัน ซึ่งอาจจะต้องมีการวิจัยหาจำนวนที่เหมาะสมต่อคนหนึ่งคนในแต่ละเมือง

Advertisement

3.รัฐน่าจะมีการจัดแบ่งเขตพื้นที่เป็นส่วนๆ และกำหนดว่าในพื้นที่แต่ละส่วนประชาชนจะมีรถใช้ในภาพรวมในพื้นที่นั้นได้กี่คัน การจัดการจำนวนรถในพื้นที่ที่แคบเข้ามานี้ควรเทียบให้สอดคล้องกับพื้นที่ผิวการจราจรหรือพื้นที่ถนนที่รองรับรถได้ในพื้นที่นั้น ที่ควรเป็นอย่างนี้เพราะมีข้อสันนิษฐานว่าในช่วงเวลาเร่งด่วนที่สมมุุติว่าคนขับรถออกมาจากบ้านพร้อมกัน ถนนในบริเวณนั้นจะยังสามารถรองรับจำนวนรถปริมาณนั้นได้ การที่จะจัดการจำนวนรถให้เหมาะสมกับพื้นที่ได้นั้นคงต้องเริ่มต้นจากการทำการวิจัยปริมาณที่เหมาะสมกับพื้นที่เสียก่อน โดยศึกษาเปรียบเทียบกับเมืองใหญ่ในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดการจราจร

เมื่อรัฐจัดการจำนวนรถในพื้นที่แล้ว เช่น ในเมืองนี้ให้มีรถได้ไม่เกินจำนวนเท่านี้ อาจจะต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าข้ามจังหวัด ให้รถขนส่งสินค้าข้ามจังหวัดนั้นอาจจะมีการจำกัดเวลาให้แล่นเข้าเมืองใหญ่ๆ ได้เฉพาะตอนกลางคืน หรือช่วงที่การจราจรเบาบางกว่าช่วงเวลาอื่นๆ

4.รัฐน่าจะมีกฎเกณฑ์ที่ให้การสนับสนุนคนที่ไม่ถือครองรถ ด้วยการสนับสนุนให้ได้รับสิทธิในการลดหย่อนภาษี เพราะด้วยเหตุผลที่ว่า คนที่ไม่ใช้รถส่วนตัวนั้นมักจะใช้รถสาธารณะ เขาเป็นบุคคลส่วนหนึ่งที่ช่วยเหลือบ้านเมืองให้การจราจรที่ติดขัดนั้นเบาบางลง และเขาเป็นผู้ที่ช่วยลดมลพิษจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากควันไอเสียของรถ หรือไม่ก็เป็นทางกลับกันว่าให้ผู้มีรถยนต์เสียภาษีในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้รถมากกว่าคนทั่วไปสักหน่อย เพราะถือว่าทำให้เกิดมลพิษแก่สิ่งแวดล้อม ซึ่งเราจะไม่พูดถึงเรื่องถูก-ผิด แต่เมื่อทำอะไรที่กระทบสิ่งแวดล้อม แม้ไม่ผิดก็ควรจ่ายอะไรให้สังคมบ้าง มาตรการทางภาษีเป็นมาตรการที่ใช้ได้ผลดีแทบทุกกรณี เพราะภาษีคือสิ่งที่คนเรานึกถึงอยู่เสมอ สำหรับทุกคน ทั้งคนที่มีรายได้ไม่สูง รายได้ปานกลาง และคนที่มีรายได้สูง อาจจะใช้อัตราลดหย่อนหรืออัตราเพิ่มที่ไม่ต้องเท่ากันก็ได้ เช่นคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของรายได้ เพราะกิจกรรมการใช้รถของแต่ละคนไม่เหมือนกัน คนที่มีรายได้สูงนั้นสันนิษฐานว่าเขาย่อมใช้รถไปเพื่อประโยชน์ที่ตีเป็นมูลค่าแก่ชีวิตของเขาเช่นกัน เขาอาจจะต้องเสียภาษีสูงกว่าผู้มีรายได้ต่ำ สรุปว่า ภาษีที่คนใช้รถควรต้องเสียนั้นอาจคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของรายได้ของคนคนนั้นให้เหมาะสมกับช่วงของรายได้ ความจริงดูเหมือนว่าการใช้วิธีทางภาษีจัดการเรื่องจำนวนรถน่าจะทำได้ง่ายที่สุด ทำได้ทันทีและได้ผลมากที่สุด

Advertisement

ภาษีเป็นสิ่งที่หมุนโลกใบนี้ มาตรการทางภาษียังทำได้อีกหลายอย่าง รัฐอาจจะกำหนดให้บุคคลที่ทำงานในสถานที่ทำงานภายในจังหวัดเดียวกับที่ตนเองมีภูมิลำเนาได้ลดหย่อนภาษี สัก 50,000-100,000 บาทต่อปี เพื่อกระตุ้นให้คนทำงานใกล้บ้านไม่ต้องเดินทางเป็นระยะทางไกลๆ ก็เป็นการแก้ปัญหาการจราจรทางหนึ่ง และอาจลดหย่อนภาษีให้กับนิติบุคคลที่จ้างงานคนงานที่อยู่ในภูมิลำเนาเดียวกับนิติบุคคลนั้นด้วยก็ได้ วิธีนี้อาจทำให้คนนิยมทำงานใกล้บ้าน ไม่เป็นแรงงานที่ต้องเดินทางไปยังถิ่นอื่น แก้ปัญหาการจราจรได้ส่วนหนึ่ง อัตราที่ลดหย่อนนั้นถ้ายิ่งลดหย่อนมาก ก็จูงใจคนได้มาก โดยเฉพาะบริษัทห้างร้านต่างๆ คำนึงถึงเรื่องภาษีเป็นอันดับต้นๆ

5.รัฐน่าจะมีกฎเกณฑ์ที่กำหนดให้สถานที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนก็ตามต้องจัดสถานที่จอดรถให้เพียงพอแก่คนทำงานในที่นั้น ต้องถือเป็นสิทธิของผู้ทำงานในสถานที่นั้นในการมีที่จอดรถ ที่คนทำงานจะได้ไม่ต้องลำบากนำรถไปจอดข้างถนนหรือตามสถานีบริการน้ำมันหรือที่จอดซึ่งคิดค่าจอดรถ

6.รัฐน่าจะจัดระบบขนส่งมวลชนพื้นฐานอย่างรถเมล์โดยเป็นโครงข่ายเส้นตรง เดินรถตามถนนเป็นเส้นๆ ไป ไม่จัดการเดินรถแบบคดเคี้ยว เพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางที่รถเมล์คนละสายวิ่งซ้อนทับกันในเส้นทางเดียวกัน ในเส้นทางหลักรัฐอาจต้องจัดการเดินรถเอง โดยคิดค่าโดยสารราคาถูกเท่าที่จะเป็นไปได้ การจัดรถสาธารณะด้วยค่าโดยสารราคาถูกในถนนสายหลักเป็นการลดภาระรายจ่ายของประชาชนส่วนหนึ่งด้วย ถ้าจำเป็นจริงๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นระบบการขนส่งสาธารณะในถนนสายหลักอาจจะมีรถโดยสารบริการฟรีก็ได้ คนจะเลือกนั่งรถฟรีในสายหลักแล้วไปต่อรถโดยสารที่ไม่ฟรีในสายรอง ก็จะไปถึงที่ทำงานโดยประหยัดค่าใช้จ่ายและเป็นการกระตุ้นการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรถสองแถว มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ เรือ ไปด้วยในตัว

การจัดรถที่วิ่งในถนนสายใดสายหนึ่งเป็นแนวเส้นตรงนั้นสามารถเฉลี่ยจำนวนรถกับเวลาได้ง่าย ทำให้รถแล่นมาในเวลาที่สม่ำเสมอ และจะไม่มีรถอีกสายหนึ่งมาวิ่งซ้อนทับ เมื่อรถสาธารณะแล่นมาตามเวลาที่สม่ำเสมอไม่ทิ้งช่วงห่างเกินไปแล้ว ประชาชนก็จะเริ่มหันกลับมานิยมเดินทางโดยใช้รถโดยสารสาธารณะมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาการใช้รถส่วนตัวได้อย่างตรงประเด็น

7.รัฐน่าจะดำเนินการให้ได้พื้นที่ถนนในราว 30 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เมือง เพราะอัตราส่วนนี้พิสูจน์แล้วว่าทำให้การจราจรไม่ติดขัด หรือติดขัดบ้างแต่น้อย อัตราส่วนนี้พิสูจน์ได้จากมหานครนิวยอร์ก มีพื้นที่ถนนมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์เล็กน้อย พิสูจน์แล้วว่าการดำรงชีวิตของคนที่ใช้รถส่วนตัวเป็นไปโดยราบรื่น มีคุณภาพชีวิตที่ดี นั่นคือ ประชาชนไม่ต้องใช้เวลาบนท้องถนนมากเกินไป การดำเนินการของรัฐให้ได้พื้นที่่ถนนที่มากพอนั้นสามารถทำได้โดยการเวนคืนแล้วชดใช้ราคา

ซึ่งถ้าเปรียบเทียบแล้วเคยมีผู้กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีพื้นที่ถนนเพียง 8-10 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งนับว่าน้อยไป แต่อย่างไรก็ตาม ตามความคิดผู้เขียนเองนั้น กรุงเทพมหานครยังมีพื้นที่แม่น้ำลำคลองอีกมากที่สามารถใช้เป็นพื้นที่การจราจรเสริมร่วมกับถนนได้ ถ้าจัดระบบขนส่งมวลชนทางแม่น้ำลำคลองได้ดีแล้วอาจจะแก้ปัญหาการจราจรทางถนนได้ทางหนึ่ง สิ่งที่ต้องทำก็คือ น่าจะทำให้มีจุดจอดเรือสาธารณะด้วย เหมือนสมัยก่อนที่ท่าน้ำของวัดต่างๆ ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเป็นจุดจอดเรือสาธารณะ หากมีจุดจอดเรือสาธารณะมากๆ คนก็จะนิยมใช้เรือส่วนตัว เมื่อจอดเรือไว้ก็เดินทางต่อโดยวิธีต่างๆ และเพื่อส่งเสริมการใช้เรือ ระบบการเดินเรือโดยสาธารณะควรมีทางเลือกมากกว่าที่เป็นอยู่ ทางเลือกนั้นต้องเปิดโอกาสให้มีผู้ประกอบกิจการเดินเรือหลายๆ แบบ ตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย เรือรับจ้างแบบรถรับจ้างแท็กซี่ก็น่าจะมี

เรื่องนี้ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ ซึ่งที่ทำงานอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา และผู้เขียนก็มีบ้านติดแม่น้ำด้วย ลองคิดดูว่าถ้าขับเรือมาทำงานแทนการขับรถก็น่าจะทำได้ แต่อย่างไรก็ตาม โครงข่ายแม่น้ำลำคลองของไทยในเมืองอย่างกรุงเทพฯนั้นต้องมีการรื้อฟื้น คืนสภาพกันอีกพอสมควรจึงจะสามารถนำมาเป็นโครงข่ายการจราจรทางน้ำได้เหมือนในอดีต

แปลนผังเมืองโครงข่ายการจราจรทางน้ำนั้นต้องย้อนไปดูยุคก่อนปี พ.ศ.2500 นำมาเป็นต้นแบบ และต้องพยายามแก้ไขการรุกล้ำลำน้ำ เพื่อฟื้นคืนโครงข่ายเดิม อาจต้องใช้งบประมาณมากแต่ถ้าทำได้ก็จะได้สิ่งตอบแทนมูลค่ามหาศาล คือ ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำได้อีกด้วย เพราะวัดวาอารามสิ่งสวยงามต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯนั้น เมื่อมองในมุมมองของคนเดินทางสัญจรทางน้ำนั้นสวยงามจับตายิ่งนัก

8. รัฐน่าจะสนับสนุนให้คนทำงานที่บ้าน ทั้งในภาครัฐและเอกชน ถ้าลักษณะของงานเปิดโอกาสให้ทำงานที่บ้านได้ เพราะในปัจจุบัน การสั่งงานและการส่งงานที่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือเป็นภาพ หรือแม้แต่การประชุมแบบเห็นหน้าเห็นตากันนั้นสามารถทำได้ทางสื่อต่างๆ ที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายเลย หรือเสียค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อย การทำงานที่บ้านในบางวันอาจจะเป็นสัปดาห์ละหนึ่งวันสลับกันไปในแต่ละคนนั้น อาจจะสามารถลดปัญหาการจราจรได้บ้าง การทำงานของผู้สูงอายุก็อาจจะพิจารณาในด้านการทำงานที่บ้านตามลักษณะงานที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจจะส่งผลดีกับผู้สูงอายุเองด้วยที่จะได้พักผ่อนตามสมควร ทั้งนี้ อาจรวมไปถึงบุคคลที่มีลูกที่อยู่ในวัยเด็กเล็ก ตั้งแต่เด็กทารกไปจนถึงประมาณ 2 ขวบ การที่อยู่ในบ้านเลี้ยงลูกและทำงานไปด้วยในเวลาที่ลูกหลับนั้นสามารถทำได้ ถ้ามีการบริหารเวลาที่ดี การให้บุคคลที่มีลูกที่อยู่ในวัยเด็กเล็กอยู่กับบ้านทำงานที่เหมาะสมนั้นสามารถส่งเสริมสถาบันครอบครัวได้อีกทางหนึ่งด้วย

แนวทางทั้ง 8 ประการนี้ ถ้าทำได้จะทำให้เมืองใหญ่ต่างๆ นั้นน่าอยู่ น่ามอง ซึ่งสภาพโดยรวมก็มีการทำงาน มีคนทำงานกันอยู่ตามปกติ งานที่ทำนั้นจะยาก เคี่ยวกรำอย่างไร แต่คนในมืองนั้นก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีคุ้มค่ากับการเป็นคนในเมืองใหญ่ที่กุมความสำคัญทางเศรษฐกิจ

กนกศักดิ์ พ่วงลาภ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image