เสรีภาพสื่อ-ประชาชน โดย นฤตย์ เสกธีระ

แฟ้มภาพ

กล่าวไปกันหมดแล้วสำหรับเหตุและผลของผู้ร่างกฎหมายและผู้คัดค้านกฎหมายที่ใช้ชื่อว่า “คุ้มครอง” แต่มีเนื้อหาชวนเชื่อว่าเอาไว้ “ควบคุม”

ล่าสุด พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน สปท. เสนอยกเลิกการตีทะเบียนสื่อ

และยกเลิกโทษอันเนื่องมาจากการตีทะเบียน

แต่ที่ประชุม สปท.ไม่ยอมตัดข้อความใดๆ ออกจากร่างเดิม

Advertisement

ฝ่ายสื่อเองก็ต้องการให้ถอนร่างกฎหมายออกไปก่อน

ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวจึงกลายเป็นเรื่องที่สื่อไม่ยอมรับ

อะไรที่เริ่มต้นจากการไม่ยอมรับ มันจะส่งผลดีในทางปฏิบัติได้อย่างไร

Advertisement

ประเด็นที่องค์กรสื่อไม่ยอมรับนอกจากเรื่องตีทะเบียนแล้ว ยังมีเรื่องการกำหนดให้ปลัดกระทรวงมานั่งในคณะกรรมการสภาวิชาชีพด้วย

การมีเจ้าหน้าที่รัฐมานั่งอยู่ในที่ประชุมสภาวิชาชีพ ซึ่งหลายครั้งทำหน้าที่ตรวจสอบอำนาจรัฐ

ทำให้กรรมการไม่กล้าพูด

และการให้ปลัดกระทรวงมานั่งเป็นกรรมการ ทำให้ฝ่ายราชการยากจะวางตัวเป็นกลาง

การให้ข้าราชการเข้าไปร่วมพิจารณาและตัดสิน เท่ากับว่านำ “ราชการ” ไป “เลือกข้าง”

แทนที่จะเป็น “คนกลาง” กลายเป็น “คู่ขัดแย้ง”

ฝ่ายที่ขัดแย้งกับฝ่ายราชการ จะกล้าทำหน้าที่สื่อหรือ?

ดังนั้น การกำหนดให้ปลัดกระทรวง 2 คนไปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการสภาวิชาชีพ นอกจากจะไม่เป็นผลดีต่อสภาวิชาชีพแล้ว ยังไม่เป็นผลดีต่อราชการด้วย

ยิ่งพิจารณาจากเหตุผลของ พล.อ.อ.คณิต ที่ว่า สัดส่วนของข้าราชการในที่ประชุมมีน้อยกว่าสื่อ ไม่น่าจะแทรกแซงสื่อได้ด้วยแล้ว

ยิ่งไม่มีประโยชน์อะไรที่จะให้ข้าราชการไปนั่งเป็นกรรมการด้วย

ก่อนหน้านี้เคยไม่เห็นด้วยกับการใช้เงินจากแหล่งอื่นมาสนับสนุนสภาวิชาชีพ ด้วยการแลกกับเก้าอี้ในคณะกรรมการชุดใดชุดหนึ่งของสภาวิชาชีพ

เพราะสื่อมวลชนแต่ละสำนักควรจะยืนอยู่ด้วยตัวเองเพื่อรักษาความเป็นอิสระ

สภาวิชาชีพที่เป็นผู้กำกับดูแล น่าจะรักษาความเป็นอิสระเอาไว้

บัดนี้เงินจำนวนดังกล่าวไม่ปรากฏในร่างแล้ว ต้องขอขอบคุณ

ส่วนร่างกฎหมายฉบับที่กำลังเป็นปัญหาดูเหมือนว่าองค์กรสื่อเคลื่อนตัวออกมา

ปกป้องสิทธิเสรีภาพของสื่อกันเต็มที่

ไม่ทราบว่าในสถานการณ์เฉกเช่นปัจจุบัน จะสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน

แต่คำว่า “สิทธิเสรีภาพ” กำลังมีความสำคัญมากขึ้นในวงการสื่อ

ขณะเดียวกัน เริ่มมองเห็นจากโพลว่า คำว่า “สิทธิเสรีภาพ” ก็เริ่มทวีความสำคัญมากขึ้นในมวลหมู่ประชาชน

มีความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับนับจากเหตุการณ์ยึดอำนาจเมื่อปี 2557 เป็นต้นมา

ความจริงแล้วเสรีภาพของสื่อมวลชนกับเสรีภาพของประชาชนมีความสัมพันธ์กัน

ในขณะที่สื่อมวลชนชูธงพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของตัวเอง สื่อมวลชนต้องชูธงพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วย

เพราะเหตุผลที่สื่อมวลชนต้องมีเสรี เนื่องจากประชาชนต้องมีเสรีภาพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image