กฎหมาย คุมสื่อ แรงต้าน จากสื่อ ฤๅสู้แม่น้ำ 5 สาย

หนึ่งในกรณีอื้ออึงประจำสัปดาห์

ก็คือการที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ลงมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม

ให้เสนอร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน

ไปให้รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา

Advertisement

ท่ามกลางเสียงสนับสนุนและคัดค้านที่แบ่งเป็นสองซีกในสังคมอย่างชัดเจน

ซีกค้านนอกจากนักวิชาการแล้ว

ก็มีองค์กรและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อทั้งหลาย

2พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล

นายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นำคณะเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.

ยื่นจดหมายเปิดผนึกขององค์กรวิชาชีพสื่อ 30 องค์กร

เรื่อง “คัดค้านและขอให้ยกเลิกร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน”

โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ยินดีเพราะถือเป็นการหารือร่วมกัน เรื่องกฎหมายยังอีกหลายขั้นตอน

ตนรับฟังทั้ง 2 ทาง

สปท.มีหน้าที่คิดและปฏิรูป เมื่อ สปท.คิดขึ้นมาและลงมติแล้วก็เข้ามาที่รัฐบาล ก่อนให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา

บางเรื่องต้องให้ประชาชนพิจารณาไม่ใช่ให้สื่อตัดสิน

และ

1.อย่าคิดว่าตนต้องการครอบงำทั้งหมดเพราะไม่ได้ครอบงำใครเลย

ถ้าครอบงำการออกกฎหมายจะเร็วกว่านี้

2.ถ้าสื่อคุมกันเองก็ต้องคุมให้ได้

แต่มีอะไรที่ไม่ดีอยู่ต้องหาให้เจอ

สื่อเลือกข้างก็มี อาจมีเรื่องเงินทองบ้างจะทำอย่างไรไม่ให้เกิด

“ยืนยันว่าไม่ได้รังเกียจใครเลย ไม่ได้เป็นศัตรูกับสื่อ แต่อยากขอความร่วมมือสื่อให้ช่วยประเทศ

เรื่องสื่อเป็นเรื่องสำคัญจะดูให้ ขอให้ใจเย็นๆ”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวพร้อมระบุว่า ได้มอบให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กระทรวงยุติธรรม คณะกรรมการกฤษฎีกา ในการหารือรับฟังความคิดเห็น เพราะเรื่องนี้ถึงขั้นตอนของรัฐบาลแล้ว

ไม่อยากให้ทุกคนมาทะเลาะขัดแย้งกันในเวลานี้

หาทางออกให้ได้ว่าจะทำอย่างไรให้ทุกสื่อมีคุณภาพดีมากยิ่งขึ้น

“ถ้าคิดว่าคุมกันเองได้ก็เสนอมาว่าจะคุมกันอย่างไร ยึดโยงกับรัฐได้อย่างไร

ผมยึดหลักการว่ารัฐบาลไม่ต้องการไปปิดสื่อ หรือก้าวล่วง

สื่อก็มีหน้าที่ติดตามการทำงานของรัฐบาล”

ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์เหมือนเปิดกว้างและยืดหยุ่น

เมื่อเทียบกับท่าทีของ สปท.

โดยเฉพาะ 141 เสียงจากสายข้าราชการ ทหาร ตำรวจ

ที่ลงมติสนับสนุน และอภิปรายกฎหมายดังกล่าวอย่างเผ็ดร้อน

พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธาน กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน ชี้แจงว่า

ขอปรับเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นใบรับรองวิชาชีพที่ออกให้โดยองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน

ดังนั้น จึงไม่มีบทลงโทษจำคุกและปรับสื่อมวลชนและเจ้าของสื่อตามมาตรา 91 และ 92

แต่ยังเห็นควรให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติเพื่อกำกับดูแลกันเอง

โดยลดโควต้าตัวแทนคณะกรรมการจากภาครัฐจาก 4 คน เหลือ 2 คน

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานกรรมาธิการชี้แจงว่า นิยาม “สื่อมวลชน” ตามร่างกฎหมายฉบับนี้

จะครอบคลุมไปถึงสื่อออนไลน์ เจ้าของเพจที่มีแฟนเพจติดตามเป็นหมื่นๆ คนด้วย

ที่“มาแรง” นั้นมีอยู่ไม่น้อย

อาทิ พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร สปท. ที่พูดถึงผู้กล่าวพาดพิงทหารว่า

อยู่ดีๆ ไม่รู้เป็นอะไรมาด่าทหาร ว่าทหารมีพื้นที่ใหญ่โตในเมือง ไม่มีประโยชน์

เอาหินขว้างไปในค่ายถูกหัวพลเอกหมด

แล้วสื่อก็เอาไปลงต่อ

“ไอ้สื่อพวกนี้จริงๆ มันต้องจับไปยิงเป้า”

หรือ นายคุรุจิต นาครทรรพ สปท. ที่ระบุว่า ต้องควบคุมสื่อเพราะสื่อควบคุมกันเองไม่ได้ ลงโทษกันเองก็ไม่ได้ ไร้มาตรฐาน

แต่ขอถามว่าที่สื่อมวลชนกดดัน กมธ.เมื่อ 2-3 วัน มีคุณภาพหรือไม่

ถามว่า สปท. เป็นหนึ่งในแม่น้ำ 5 สายหรือไม่

ถามว่า พล.อ.ธวัชชัย เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 12 หรือไม่

ไม่มี “ไฟเขียว” จากต้นน้ำ

สปท. หรือเตรียมทหาร 12 จะคึกคักเช่นนี้หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image