สุจิตต์ วงษ์เทศ : เวียงเล็ก ขุมกำลังอู่ทอง คลองคูจาม สำเภาล่ม อยุธยา

คลองคูจาม ย่านสำเภาล่ม ใกล้วัดพุทไธศวรรย์ มีถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาตัดผ่าน (ซ้าย) มีถนนลาดยางตัดขนานคลองคูจามตลอดสายลงไปทางทิศใต้เกือบถึงคลองตะเคียน

คลองคูจาม น่าจะเป็นคลองขุดแนวเกือบตรงแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยา ข้างวัดพนัญเชิงด้านตะวันออก ลงทางทิศใต้ เชื่อมคลองตะเคียน
พงศาวดารบอกว่า เมื่อเจ้านครอินทร์ จากสุพรรณภูมิยึดได้อยุธยา พ.ศ. 1952 (ราว 600 ปีมาแล้ว) จึงให้พระรามราชา เชื้อสายรามาธิบดีเมืองละโว้ “ไปกินเมืองปท่าคูจาม” น่าจะหมายถึงเมืองฟากข้างโน้นหรือเมืองฝั่งโน้น

ปท่า กร่อนจาก ประท่า แปลว่า ฟากข้างโน้น, ฝั่งโน้น (พจนานุกรมฉบับมติชน)

จ.สงขลา มี อ.ปละท่า ชื่อเดิมของ อ.สทิงพระ น่าจะเป็นคำเดียวกันและความหมายเดียวกับ ประท่า เพราะสทิงพระอยู่คนละฟากทะเลสาบกับเมืองสงขลา
จาม หมายถึง มุสลิมพูดตระกูลภาษาชวา-มลายู ชำนาญเดินเรือทะเล มีเอกสารระบุว่า ในยุคอยุธยามีอาสาจาม (เทียบเท่ากองทัพเรือ)

ถ้าพิจารณาจากตำนานพงศาวดารอันเป็นที่รู้กันว่าก่อนสถาปนาอยุธยา พ.ศ.1893 สมเด็จพระรามาธิบดี (ที่ถูกเรียกว่าพระเจ้าอู่ทอง) สร้างตำหนักที่ประทับชั่วคราวอยู่เวียงเล็ก (ไม่ใช่เวียงเหล็ก) ไว้บริเวณนี้ (ปัจจุบัน คือ วัดพุทไธศวรรย์) แล้วขุดคลองคูจาม (ชื่อเรียกสมัยหลัง)

Advertisement

น่าสงสัยว่าย่านคลองคูจาม คือหลักแหล่งขุมกำลังทางเศรษฐกิจการเมืองของวงศ์ละโว้ มีอาณาบริเวณเท่ากับเมืองหนึ่งในยุคโน้น ตำนานพงศาวดารจึงให้ความสำคัญย่านนี้เรียกเวียงเล็ก (หมายถึงขอบเขตขนาดไม่กว้างขวางใหญ่โต)

เจ้านครอินทร์ให้รามราชาไปกินเมืองฝั่งโน้น (คลองคูจาม) น่าจะหมายถึงกลับไปอยู่บ้านเดิมของบรรพชนละโว้ เหมือนกรณีพะงั่วครองอยุธยาแล้วให้ราเมศวร (โอรสรามาธิบดี) กลับไปละโว้

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image