ที่กลางไพรนั้น เขาเล่าว่า ยายกับตาเก็บเห็ดสองคน โดย : สุพิศ ปราณีตพลกรัง

เรื่องราวผ่านมา 7 ปี ก็มีวิวาทะการแสดงความเห็นกันหลายแง่หลายมุม เถียงกันเถอะครับ เถียงกันบนการตรวจสอบข้อมูล หาข้อมูลเยอะๆ วิเคราะห์ความถูกต้อง จะทำให้ก้าวข้ามอารมณ์ไปอยู่บนเหตุผล เกิดเป็นปัญญามุมมองในปัญหาต่างๆ เรื่องที่ว่านี้ คือเรื่องที่เป็นข่าวว่ายายกับตาไปเก็บเห็ดหรือไปตัดไม้ทำลายป่าดังที่เป็นข่าวถูกฟ้องร้องและคดีสิ้นสุดยุติกันแล้ว แต่กองเชียร์ยังไม่จบ หยิบยกหลายอย่างมาโต้กัน

ย้อนไปตั้งแต่เรื่องอายุว่า ใช่ยายกับตาไหม แก่ขนาดนั้นไหม ตอนเกิดเหตุก็น่าจะอายุประมาณ 40 เรียกตายายก็น่าจะเสียหายน่ะ เรียกป๋ายังเป็นเรื่องเลย ก็ธรรมดาครับ เมื่อรับบทแม่ยก พ่อยกแล้วก็ต้องว่ากันทุกท่า สิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นเรื่องราวข้อเท็จจริงที่ปรากฏทางคดีเพื่อเป็นข้อมูลประกอบเรื่องราว เพราะอะไรที่นอกเหนือจากนี้ก็ต้องไปว่า ไปแก้ปัญหากันด้วยวิธีอื่น ในสำนวนความ สำนวนคดีมีแค่ไหนก็ว่าไปตามนั้น

เมื่อทราบเรื่องราวข้อเท็จจริงและไตร่ตรองดูแล้วจะคิดเห็นเป็นอย่างไรก็ห้ามความคิดกันไม่ได้หรอก เพียงอยากให้ทุกฝ่ายได้ดูหนังเรื่องเดียวกันก่อน แล้วค่อยคิดค่อยเสนอความเห็นวิพากษ์วิจารณ์กันต่อไป

คำฟ้อง

Advertisement

เรื่องนี้พนักงานอัยการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นโจทก์ฟ้องสองสามีภริยาเป็นจำเลยว่าร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรม คือ

1.บุกรุก ยึดถือ ครอบครองและทำประโยชน์โดยการทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นเนื้อที่ 72 ไร่

2.ตัดและโค่นไม้สัก ไม้กระยาเลย ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. 700 ต้น

Advertisement

3.มีไม้ที่ยังไม่ได้แปรรูปไว้ในครอบครองประมาณพันท่อน

คำขอให้ลงโทษ
ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พระราชบัญญัติป่าสงวน

คําให้การจำเลยทั้งสอง

หลังจากมีการยื่นฟ้องแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือ การสอบคำให้การจำเลยซึ่งกฎหมายก็กำหนดรายละเอียดวิธีการไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ว่า การพิจารณาและสืบพยานในศาล ให้ทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยเว้นแต่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

เมื่อโจทก์หรือทนายโจทก์และจำเลยมาอยู่ต่อหน้าศาลแล้ว และศาลเชื่อว่าเป็นจำเลยจริง ให้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง คำให้การของจำเลยให้จดไว้ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การ ก็ให้ศาลจดรายงานไว้และดำเนินการพิจารณาต่อไป

ดังนั้น ต้องมีการอ่านอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังและสอบคำให้การว่าจะรับ จะปฏิเสธอย่างไร โดยต้องสอบถามเรื่องทนายก่อนว่า มีทนายหรือไม่ หากไม่มี ต้องการหรือไม่ หากต้องการศาลก็จะตั้งทนายให้ หากไม่ต้องการ ก็จะไม่ตั้ง ซึ่งกรณีนี้ข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรมแถลง คือ จำเลยไม่ต้องการทนาย ทั้งนี้ เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ตามมาตรา 173 วรรคสอง คือ ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความ ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้

ตามกฎหมายจำเลยมีสิทธิที่จะให้การอย่างไรก็ได้ เป็นสิทธิของจำเลย จะรับหรือปฏิเสธก็ได้ จะกลับคำให้การอย่างไรก็ได้ตามใจสมัคร จะไปตรงกับภาษาวัยรุ่นที่ว่า ได้หมดถ้าสดชื่นหรือเปล่าก็ไม่รู้ อาจจะทำนองนั้น ปรากฏว่าเรื่องนี้ จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เมื่อให้การรับสารภาพขั้นตอนต่อไปก็คือ ดูว่าต้องมีการสืบพยานประกอบคำรับสารภาพให้ได้ความจริงหรือไม่ ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 ซึ่งบัญญัติว่า ในชั้นพิจารณา ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้นกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง

เมื่อดูตามข้อหาที่ฟ้องแล้วก็จะเห็นได้ว่า ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องสืบพยานประกอบและศาลก็ไม่มีเหตุเห็นสมควรที่จะต้องมีการสืบพยานประกอบ ดังนั้นก็ก้าวไปสู่ขั้นตอนการพิพากษา ซึ่งศาลชั้นต้นคือศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ก็พิพากษาลงโทษ ลดโทษแล้ว เหลือจำคุก15 ปี โทษก็เป็นไปตามกฎหมาย จะลงมากลงน้อยตามใจผู้พิพากษาก็ไม่ได้ และต้องพิจารณาประกอบพฤติการณ์การกระทำ ความรุนแรงที่กระทำประกอบด้วย จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษเหมือนกัน จำเลยฎีกา

ข้ออ้างของจำเลยในชั้นฎีกา

จำเลยฎีกาสู่ศาลฎีกา ซึ่งเป็นศาลสูงสุด เป็นอย่างไรก็ต้องสิ้นสุดยุติกันตรงนี้ ข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยทั้งสองคือ อ้างว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง ด้วยเหตุผลตามข้ออ้างสรุปได้ ดังนี้

1.จำเลยหลงเชื่อบุคคลภายนอกว่า รับสารภาพแล้วศาลจะปรับจำเลยทั้งสอง ไม่ถึงจำคุก

2.จำเลยที่ 1 (ผู้เป็นสามี) เคยประสบอุบัติเหตุโดยถูกรถยนต์ชนสลบไปประมาณ 2 ถึง 3 วัน โดยอุบัติเหตุเกิดขึ้นก่อนที่จำเลยทั้งสองจะถูกดำเนินคดีนี้ จำเลยที่ 1 มีอาการลมออกหูและประสาทไม่ดี พูดจารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลแล้วออกมารักษากับหมอที่คลินิก แต่จำเลยที่ 1 อาการก็ยังไม่ดีขึ้น มีอาการงงๆ พูดจาไม่รู้เรื่อง

3.การที่ศาลชั้นต้นถามจำเลยทั้งสองว่า ได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ จำเลยที่ 1 ไม่ค่อยจะได้ยิน ศาลถามหลายครั้งจำเลยที่ 1 ก็ก้มหัวเท่านั้น ศาลก็เลยบอกว่า จำเลยที่ 1 รับสารภาพ แล้วศาลถามคำให้การจำเลยที่ 2 (ผู้เป็นภรรยา) จำเลยที่ 2 ก็บอกว่า ให้การทำนองเดียวกับจำเลยที่ 1

สรุปจากที่กล่าวมา จำเลยทั้งสองปิดท้ายข้ออ้างในชั้นฎีกาว่า ความจริงแล้วจำเลยทั้งสองไม่ได้สมัครใจให้การรับสารภาพในชั้นศาลชั้นต้น

ข้อวินิจฉัยของศาลฎีกา

ศาลฎีกาเป็นศาลสูงที่ทำหน้าที่ทบทวนตรวจสอบความถูกต้องต่างๆ โดยวินิจฉัยให้คำตอบตามที่คู่ความกล่าวอ้างหรือฎีกาขึ้นมา รวมทั้งดูข้อผิดถูกตามกฎหมายด้วย
ข้อวินิจฉัยพอสรุปได้ ดังนี้

1.เกี่ยวกับข้ออ้างเรื่องอาการป่วย ในชั้นอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างแต่เพียงว่า มีคนบอกจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เสียค่าปรับแล้วกลับบ้านได้ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จำเลยทั้งสองจึงให้การรับสารภาพ แต่ถึงอย่างไรจำเลยทั้งสองก็ยอมรับว่าจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ มาในชั้นฎีกา มีการกล่าวอ้างเรื่องอาการป่วย เป็นการอ้างเพิ่มเติม หรืออ้างเรื่องใหม่เข้ามา ไม่อ้างเสียตั้งแต่ชั้นอุทธรณ์

2.เรื่องอาการป่วยขัดแย้งกันระหว่างใบรับรองแพทย์โรงพยาบาลกับใบสรุปการรักษาที่คลินิก โดยข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะอุบัติเหตุขับรถจักรยานยนต์ชนรถจักรยานยนต์ประมาณ 3 วัน ก่อนมาโรงพยาบาล มีอาการสลบชั่วครู่ ฟื้นแล้วปวดศีรษะและเวียนศีรษะ การรักษาได้มีการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองพบว่ามีเลือดออกในสมอง กะโหลกศีรษะร้าว มีลมรั่วเข้าในสมอง ได้นอนพักรักษาจนอาการดีขึ้นแล้วกลับบ้าน หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 มีอาการปวดและเวียนศีรษะเป็นบางครั้ง ซึ่งอาการดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากมีการยื่นฟ้อง

3.คดีนี้มีการให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะหาข้อมูลเพิ่มเติม ไม่ปรากฏว่าก่อนถูกดำเนินคดี จำเลยที่ 1 เคยประสบอุบัติเหตุถูกรถยนต์ชนสลบไป 2 ถึง 3 วัน แต่ประการใด คงมีแต่อุบัติเหตุตามที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลดังที่กล่าวมาแล้ว

4.ข้อประมวลความของศาลฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่าพฤติการณ์ข้อเท็จจริงที่กล่าวมา ส่อแสดงว่าจำเลยทั้งสองพยายามปรุงแต่งข้ออ้างอาการป่วยเจ็บของจำเลยที่ 1 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยบิดเบือนไปให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพด้วยความไม่สมัครใจ แต่กลับปรากฏข้อเท็จจริงว่า เรื่องที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างมานั้นขัดแย้งกันเองทั้งสิ้น จึงเป็นพิรุธ รับฟังเป็นความจริงไม่ได้

5.ตามรายงานกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการสอบคำให้การของศาลชั้นต้น การดำเนินการกระทำโดยเปิดเผยปรากฏข้อความไว้อย่างชัดแจ้งว่า จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ และจำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อไว้ด้วย ทางพิจารณาไม่ปรากฏว่า ไม่สมัครใจในการให้การรับสารภาพ และกรณีตามข้ออ้างที่มีผู้บอกว่า รับสารภาพแล้วศาลจะลงโทษเพียงปรับนั้น เป็นเรื่องความเข้าใจผิดของจำเลยทั้งสองเอง ไม่อาจยกเป็นข้อต่อสู้ได้ คดีจึงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองสมัครใจให้การรับสารภาพในการพิจารณาของศาลชั้นต้นโดยชอบแล้ว และสามารถพิพากษาได้โดยไม่ต้องสืบพยานประกอบ

นอกจากนี้แล้ว จำเลยทั้งสองอ้างว่าการสอบสวนไม่ชอบ เพราะแจ้งข้อหาไม่ครบ แจ้งไม่ละเอียด กรณีนี้ก็ไม่ใช่เรื่องขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด เพราะต้องมีการฟ้องร้องเป็นข้อหาต่อไปอีก และสุดท้าย จำเลยทั้งสองขอให้ศาลลงโทษสถานเบา ศาลฎีกาพิจารณาเกี่ยวกับพฤติการณ์แห่งคดี ได้ความจากรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติว่า เจ้าหน้าที่ออกตรวจพบกลุ่มบุคคล 3 ถึง 4 คน กำลังตัดไม้โดยใช้มีดแผ้วถางไม้ขนาดเล็กและตัดโค่นไม้สักล้มลงเป็นจำนวนมาก เมื่อเห็นเจ้าหน้าที่ก็พากันวิ่งหนี จำเลยทั้งสองวิ่งหนีออกจากที่เกิดเหตุด้วย

จำเลยทั้งสองให้การในชั้นสอบสวนยอมรับว่า ขณะอยู่ในพื้นที่ป่าที่เกิดเหตุได้ยินเสียงคนร้องเอะอะโวยวาย หันไปมองดูเห็นชายไทย 2 ถึง 3 คน วิ่งเข้าไปในป่า ด้วยความตกใจจำเลยทั้งสองจึงได้วิ่งหนีเข้าป่าไป พื้นที่เกิดเหตุเป็นแปลงปลูกสวนป่า มีขบวนการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าจากบุคคลหลายกลุ่ม ต้องการให้เป็นป่าไม่สมบูรณ์และให้ทางราชการนำพื้นที่มาแบ่งปันเป็นที่ทำกินแก่ชาวบ้าน น่าเชื่อว่ามีกลุ่มนายทุนที่ยังขยายผลติดตามจับกุมมายังไม่ได้ จำเลยทั้งสองเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการดังกล่าว พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง ไม่สมควรรอการลงโทษให้ มีการพิพากษาปรับแก้โทษเหลือจำคุกคนละ 5 ปี

ที่กล่าวมาจะจบข่าวได้หรือไม่คงต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของท่านผู้อ่าน หนังฉายจบแล้ว ประทับใจหรือไม่ดีหรือไม่ ต้องเอาไปพินิจพิจารณาเอาเองน่ะครับ เรื่องนี้จะตัดไม้ทำลายป่า หรือว่าไปเก็บเห็ดก็เสร็จเรื่องลงด้วยประการละฉะนี้

สุพิศ ปราณีตพลกรัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image