คอลัมน์ FUTURE perfect WikiTRIBUNE : ความพยายามของ‘ข่าวชาวบ้าน’ โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

 

ต้นปี หลังจากที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ สาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ชายคนหนึ่งคุยกับเพื่อนถึงอนาคตของอเมริกา เพื่อนบอกเขาว่า เอาน่ะ – ขอเวลาให้ทรัมป์สักหน่อย ไม่นานหรอก สักร้อยวัน เขายังไม่ได้ทำอะไรเลย จะตัดสินเขาล่วงหน้าไปทำไม – ชายคนนี้ตัดสินใจเอาล่ะ งั้นจะให้เวลาทรัมป์ก่อนก็แล้วกัน จนกระทั่งวันหนึ่ง เขาได้ยินเคลลี่แอน คอนเวย์ โฆษกของทรัมป์ให้สัมภาษณ์กับโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ เธอว่าสิ่งที่เธอพูดนั้นเป็น “ความจริงทางเลือก” (alternative fact) เหมือนเป็น “ความจริงอีกชุดหนึ่ง” ที่ใครมีสิทธิจะเลือกเชื่อแบบไหนก็ได้

ความจริงทางเลือกงั้นเหรอ… – เมื่อได้ยินเช่นนี้ เขาก็ตัดสินใจว่าคงถึงจุดที่เขาต้องทำอะไรสักอย่าง

ชายคนนี้ชื่อจิมมี่ เวลส์ เขาเป็นผู้สร้าง Wikipedia สารานุกรมที่ใครๆ ก็เขียนได้ (แถมยังถูกใช้สำหรับการทำการบ้านทั่วโลก) – อย่างที่คุณก็คงทราบ วิกิพีเดียนั้นไม่ได้เป็น “ความจริงแท้” ไปเสียทั้งหมด สิ่งที่อยู่บนวิกิพีเดียนั้นก็มีผิดอยู่บ้าง แต่อย่างน้อยมันก็บอกว่าอ้างอิงข้อมูลมาจากตรงไหน และอย่างน้อย เราก็สามารถสืบสาวราวเรื่องได้ว่าความผิดนั้นมาจาก “การแก้ไข” ครั้งใด และที่สำคัญคือมันเปิดโอกาสให้มีคนมาแก้ข้อความที่ผิดนั้นได้เสมอๆ

Advertisement

มันเป็นระบบที่วางอยู่บนความเชื่อมั่นในมนุษยชาติ เชื่อมั่นว่าหากมีระบบที่ดีพอ และมีแรงงานจากมนุษย์จำนวนมากมายมหาศาล อย่างน้อย เราก็จะได้ผลลัพธ์ที่ดี

หลังจากที่ได้ยิน เคลลี่แอน คอนเวย์ พูดเรื่องความจริงทางเลือก จิมมี่ เวลส์ ก็ตัดสินใจว่าเขาจะต้องสานต่อโปรเจ็กต์ที่เขาคิดไว้ให้สำเร็จให้จงได้ นั่นคือ การใช้วิธีคิดแบบวิกิ ผสมเข้ากับการทำข่าวโดยมืออาชีพ เวลาผ่านมาจนเดือนเมษายน เขาก็ประกาศโครงการที่บ่มเพาะมาเนิ่นนานนี้ต่อโลก มันชื่อว่า “WikiTRIBUNE” (วิกิทริบูน)

WikiTRIBUNE จะใช้วิธีหาเงินที่ต่างไปจากเว็บไซต์ข่าวจำนวนมากที่หาเงินผ่านทางการลงโฆษณา แต่จะใช้วิธีหาเงินคล้ายๆ กับวิกิพีเดีย นั่นคือ ด้วยการขอรับบริจาคแทน (โดยหวังว่าคนจะบริจาคให้ประมาณ $15 ต่อเดือน) เงินที่ได้รับบริจาคมานี้จะถูกนำไปจ้างทีมนักข่าวมืออาชีพประมาณ 10 คน จะทำหน้าที่ “คัดกรองและตรวจสอบ” ข้อมูลต่างๆ ที่สาธารณชนส่งเข้ามา นั่นคือ WikiTRIBUNE พยายามที่จะรวมข้อดีของระบบ “แรงงานจากสาธารณชน” (crowdsourcing) กับข้อดีของระบบ “การตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ” เข้าไว้ด้วยกัน

Advertisement

ก่อนหน้านี้ จิมมี่ เวลส์ เคยมีความพยายามทำนองนี้กับวงการข่าวมาแล้ว นั่นคือ โปรเจ็กต์ที่มีชื่อตรงไปตรงมาว่า WikiNews แต่ในครั้งนั้น ความพยายามของเขาก็ถือว่าไม่ประสบผลสำเร็จนัก เพราะ WikiNews ที่ใช้แรงงานสาธารณชนล้วนๆ ไม่มี “แรงจูงใจ” เพียงพอที่จะอัพเดตข่าวในแต่ละวันให้ทันสมัยหรือฉับไวได้นัก (ต่างจาก Wikipedia ที่ไม่จำเป็นต้องมี “เดดไลน์” ในการนำเสนอแต่ละเรื่อง) กับโปรเจ็กต์ WikiTRIBUNE เขาจึงคิดว่าสมดุลระหว่างนักข่าวมือสมัครเล่น (คนทั่วไป) กับนักข่าวมืออาชีพ จะมาอุดรูรั่วตรงนี้

หลังจากที่จิมมี่ เวลส์ ประกาศโปรเจ็กต์ WikiTRIBUNE กระแสตอบรับส่วนใหญ่จากวงการสื่อ ก็เป็นไปในทางไม่สู้ดีนัก โดยมีการวิจารณ์ถึงทั้ง “ลำดับการให้ความสำคัญ” ระหว่างนักข่าวที่ได้รับค่าตอบแทนกับแรงงานทั่วไป (ซึ่งฟรี) ว่าดูเป็นชนชั้นที่แตกต่างกัน นอกจากนั้นก็ยังมีผู้วิจารณ์ว่าการใช้นักข่าวมืออาชีพเพียง 10 คน (หรือมากกว่านั้นนิดหน่อย) มาเฝ้า “ความจริง” หรือ “ข้อเท็จจริง” นั้นอาจเป็นไปไม่ได้ คล้ายกับคนพยายามสร้างเขื่อนเล็กๆ ในขณะที่น้ำก็ไหลหลากเข้ามาอย่างท่วมท้น นักข่าวจากสำนักข่าวอัลจาซีราจึงคาดเดาว่า “พวกเขาอาจจะไม่มีเวลาตรวจสอบสิ่งที่คนเสนอเข้ามาอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ก็เป็นไปได้” และบอกว่า “อาจจะทำให้ความผิดพลาดแบบวิกิพีเดีย (ที่มีข้อมูลผิดอยู่ในนั้น และหลายครั้งถูกนำไปอ้างต่อ) เกิดขึ้นอีกครั้ง”

The Guardian บอกว่าโมเดลการทำข่าวแบบที่จิมมี่ เวลส์ พยายามนำเสนอนี้มีผู้ทำมานานแล้ว (อันที่จริงมันก็คล้ายๆ กับการที่นักข่าวสอบถามข้อมูล หรือให้ผู้อยู่ในพื้นที่ส่งข้อมูลเข้ามาผ่านช่องทางการติดต่อต่างๆ แล้วนักข่าวก็ “กรอง” ข้อมูลเหล่านั้นก่อนที่จะนำเสนอในวงกว้างอีกที) เช่น กรณีของเดวิด ฟาเรนท์โฮลด์ นักข่าวที่ได้รับรางวัลพูลิตเชอร์จากการทำข่าวสืบสวนการใช้เงินอย่างมิชอบของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เขาใช้ทวิตเตอร์ของตนเป็นแหล่งข้อมูล โดยให้คนที่มีเบาะแสส่งเข้ามาเพื่อตรวจสอบอีกครั้ง

อันที่จริงแล้ว ผมไม่ค่อยแปลกใจกับปฏิกิริยาของวงการสื่อต่อความพยายามของจิมมี่ เวลส์นัก เพราะการที่เวลส์บอกว่า “วงการข่าวในปัจจุบันมันย่ำแย่ (News is broken.)” มันก็เป็นคล้ายกับการด่าและอาจไม่เห็นค่าของนักข่าวที่ทำงานดีๆ อยู่ และเป็นการมองเฉพาะบางส่วนของวงการเท่านั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พวกเขาต้องออกมาปกป้องตัวเอง

Wikipedia ถูกมองว่าเป็น “สิ่งมหัศจรรย์” ของวงการอินเตอร์เน็ต – อย่างที่บอกไปแล้วนะครับว่าถึงแม้มันจะมีข้อผิดพลาดและข้อเสียอยู่บ้าง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมันก็ดีมากพอ – ใครจะไปเชื่อว่าเมื่อเราปล่อยให้คนจำนวนมาก “ออกแรง” แล้วเราจะได้ผลลัพธ์ที่น่าตื่นตะลึงเช่นนี้

เราก็อาจจะต้องรอดูกันแล้วล่ะครับว่า จิมมี่ เวลส์ จะสามารถสร้างปาฏิหาริย์อีกครั้งได้หรือเปล่ากับ WikiTRIBUNE

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image