สังคมวิทยาแชร์ลูกโซ่ : โดยพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ช่วงนี้จะเห็นข่าวเรื่องแชร์ลูกโซ่หรือธุรกิจที่ใกล้เคียงถูกจับและถูกเปิดโปงอยู่มาก ทำให้ย้อนไปนึกถึงในวัยเด็กคือเมื่อสักสามสิบกว่าปีที่แล้ว เช่น แชร์แม่ชม้อย แชร์ชาร์เตอร์ หรือแชร์เสมาฟ้าคราม

สำหรับคนที่สนใจเรื่องว่าตัวเองจะถูกหลอกเรื่องแชร์ลูกโซ่ไหม ผมแนะนำให้หาข้อมูลจากหลายด้าน ส่วนหนึ่งควรค้นจากเว็บ หรือเฟซบุ๊กของสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย

ผมไม่มีความรู้พอในทางเศรษฐกิจและธุรกิจ แต่อยากจะชวนท่านผู้อ่านพิจารณาว่า ถ้าเราลองพิจารณาเรื่องของแชร์ลูกโซ่จากอดีตสู่ปัจจุบันในมุมมองทางสังคมวิทยา หรือพูดง่ายๆ กว่านั้น พูดถึงรูปแบบการจัดระเบียบทางสังคมและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมแล้ว เราจะพบว่าเรื่องสำคัญที่น่าคิดนั้นอยู่ที่การพยายามใช้เงื่อนงำหรือร่องรอยของข่าวคราวในเรื่องแชร์ลูกโซ่นั้นมาย้อนสำรวจเรื่องของ “เครือข่ายทางสังคม” ในสังคมไทยว่ามีลักษณะเด่นอย่างไร และมีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากน้อยแค่ไหน

ในบางช่วงชีวิตของผมนั้นเคยมีโอกาสไปใช้ชีวิตอยู่ยังต่างประเทศ และเมื่อกลับมาก็จะต้องตอบคำถามเพื่อนๆ ว่า ไอ้สินค้าบางชิ้นที่อ้างว่ามีชื่อเสียงในประเทศอาทิสหรัฐอเมริกานั้น มันจริงไหม ผมก็ได้แต่ตอบไปว่า ผมเองไม่เคยพบกับสินค้าเหล่านั้นเลย และไม่เคยเห็นการดำเนินธุรกิจของพวกเขาด้วยซ้ำ อาจเพราะประเทศเขากว้างใหญ่มากผมจึงไม่เคยเจอ

Advertisement

หรือในกรณีที่มักจะมีโฆษณาก็มักจะเป็นธุรกิจประเภทซื้อห้องพักตากอากาศร่วมกัน แล้วก็มีการกล่าวหาว่าโกงหรือไม่โกงกันแน่ ซึ่งก็ขึ้นกับกรณี แต่โฆษณาเรื่องเหล่านี้มักจะออกอากาศตามช่องทีวีท้องถิ่นในตอนกลางวัน

เอาเข้าจริงในบ้านเราธุรกิจเครือข่ายบางอย่างก็ประสบความสำเร็จ ไม่ได้เลวร้ายไปเสียหมด แต่สำหรับเรื่องราวที่ถูกโกงนั้นก็ควรจะนำมาพิจารณาให้ละเอียดลึกซึ้งขึ้นอีกสักนิด

ผมคิดว่าเรื่องแรกที่เราควรจะพิจารณาในกรณีของบ้านเราก็คือ แง่มุมอื่นๆ ที่พ้นไปจากการทำข่าวเฉพาะในแง่ของข่าวอาชญากรรม หรือข่าวอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ว่าเรื่องนี้มีผู้เสียหายกี่คน และมีมูลค่าการเสียหายเท่าไหร่ หรือผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีเป็นใคร และมีวิธีการอย่างไรในการสร้างเครือข่าย

Advertisement

เรื่องที่ควรพิจารณาต่อก็คือ การทำธุรกิจเช่นนี้ต้องอาศัยการสร้างเครือข่าย และ/หรือ การอาศัยเครือข่ายทางสังคมที่มีอยู่เดิม ในการสร้างความไว้วางใจอย่างไร ธุรกิจถึงจะขยายตัว

แฟ้มภาพ

การพยายามค้นหาแบบแผนความสัมพันธ์ของเครือข่ายเหล่านี้ จะทำให้เราเข้าใจว่านอกจากการนำเสนอข่าวเรื่องความโลภของผู้ที่เข้าร่วม หรือความไม่รู้ในข้อมูลข่าวสารแล้ว มันทำให้เราต้องย้อนไปพิจารณาเรื่องของลักษณะเครือข่าย ที่เกิดขึ้นในเรื่องของอาชญากรรมเหล่านี้

ในการศึกษาว่าด้วยเรื่องของสังคมไทย โดยเฉพาะมิติทางสังคมวิทยานั้น เรามักจะละเลยการศึกษาในเรื่องของ “กลุ่มขนาดเล็ก” และเครือข่ายทางสังคมในรูปแบบใหม่ๆ เป็นอย่างมาก การศึกษาในอดีตนั้น ถ้าไม่ศึกษาในเรื่องของปัจเจกบุคคล ครอบครัว เครือญาติ ชาติพันธุ์ ก็มักจะหันไปศึกษาในเรื่องชนชั้น พักหลังก็หันไปสนใจเรื่องประชาสังคม และขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในรูปแบบใหม่ๆ

การศึกษาเรื่องกลุ่มและเครือข่ายที่มีลักษณะที่พ้นไปจากการบรรยายเรื่องของหมู่บ้าน และเรื่องของกลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มกดดันนั้นยังไม่ค่อยได้มีการศึกษาอย่างเป็นระบบ

อาจจะมีการใช้คำว่า “เครือข่าย” อยู่บ่อยครั้ง แต่ไม่ค่อยได้ตั้งคำถามกันจริงๆ จังๆ ว่าเครือข่ายเหล่านั้นทำงานอย่างไร และเราสามารถเปรียบเทียบเครือข่ายอะไรได้บ้าง

แต่ใช่ว่าเรื่องการศึกษาเรื่องเครือข่ายนั้นจะไม่มีการพยายามพัฒนาทฤษฎีเสียเลย เร็วๆ นี้มีความพยายามจากการรวมตัวของนักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยากลุ่มหนึ่งที่ท่าพระจันทร์และสามย่านได้พยายามนำเข้าและถกเถียงอภิปรายประเด็นใหม่ๆ ของทฤษฎีเครือข่ายทางสังคมอยู่บ้าง ก็ได้แต่หวังว่างานวิจัยเรื่องของเครือข่ายทางสังคมนั้นจะถูกผลิตออกมามากขึ้น

มากกว่าการบรรยายในลักษณะ “ลับ-ลวง-พราง” ของเครือข่ายต่างๆ เท่านั้น

ทีนี้มาพิจารณาให้ดี ส่วนหนึ่งที่น่าสนใจในเรื่องของเครือข่ายทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับระบบแชร์ลูกโซ่และกิจกรรมที่ใกล้เคียง นอกจากในระดับปัจเจกชนแล้ว ข่าวคราวส่วนใหญ่ของลักษณะของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อนั้น มักจะเป็นเรื่องของการมาจากหมู่บ้านและตำบลเดียวกัน หรือมาจากข้าราชการเกษียณอายุที่มาจากหน่วยงานเดียวกัน (บางกรณีของแชร์นั้นมาจากการเริ่มต้นของพนักงานในองค์กรเหล่านั้น) หรือมาจากคนที่รู้จักกันผ่านเครือข่ายทางสังคมเดิม

ส่วนหนึ่งจึงสามารถสรุปได้ว่า ธุรกิจประเภทนี้อาศัยเครือข่ายทางสังคมที่มีอยู่เดิม เช่น เครือญาติ เพื่อนฝูง คนรู้จัก หรือพรรคพวกเพื่อนฝูง ในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจด้วย ไม่ใช่เพียงแค่ภาพของคนที่ขาดข้อมูลและโลภตามที่สื่อมักจะนำเสนอ

ซึ่งเป็นการนำเสนอที่ช่างแตกต่างกันอย่างลิบลับกับภาพลักษณ์ของการโฆษณา “นวัตกรรมการเงิน” ใหม่ๆ ในสื่อมวลชน ที่มักจะเป็นภาพของคนรุ่นใหม่หนุ่มสาว หรือชนชั้นกลาง หรือคนมีอันจะกินที่ยึดครองพื้นที่ของการสร้างภาพลักษณ์ของ “การลงทุน” และ “เศรษฐกิจของประเทศ”

ดังนั้น สิ่งที่น่าสนใจต่อมาก็คือ แทนที่เราจะมองว่าพวกเขาถูกหลอก หรือได้รับข้อมูลที่ผิดพลาด เราควรจะเริ่มพิจารณาถึง “ความหมาย ความใฝ่ฝัน และความคาดหวัง” ที่พวกเขามีกับการก้าวเข้าสู่เครือข่ายธุรกิจเหล่านั้น โดยที่ส่วนหนึ่งเป็นการซ้อนทับหรือใช้ประโยชน์กับเครือข่ายทางสังคมที่มีอยู่เดิม

ส่วนหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ จากข่าวของแชร์ลูกโซ่ในรูปแบบต่างๆ นั้น มักจะวนเวียนกับเรื่องใหญ่ๆ อยู่สักสี่เรื่อง

หนึ่ง คือเรื่องของความน่าเชื่อถือของแม่ข่าย ซึ่งหลายครั้งมีทั้งการแอบอ้างผู้มีอำนาจต่างๆ

สอง คือเรื่องของโอกาสทางธุรกิจที่พิเศษกว่าช่องทางปกติ เช่นไปได้ข้อมูลบางอย่าง หรือโควต้าบางอย่าง

สาม คือเรื่องของการจับเอาความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจของผู้คนในสังคมที่อาจจะยังไม่คุ้นชินกับปมปัญหาใหม่ๆ ทางธุรกิจของประเทศเรา จากยุคที่สามารถมีชีวิตบน “เงินเย็น” คือการฝากธนาคารกินดอกเบี้ยแพงๆ ได้ มาสู่ยุคที่ดอกเบี้ยธนาคารเริ่มจะหาไม่ได้ และการลงทุนในลักษณะกองทุนต่างๆ นั้นก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนสำหรับคนระดับรากหญ้าจำนวนไม่น้อย

สี่ คือการจับเอาความไม่มั่นคงในเรื่องสวัสดิการในการดำเนินชีวิต จะเห็นได้ว่าผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งที่เอาเงินเก็บทั้งชีวิตไปลงทุนก็อาจจะอยู่ในเงื่อนไขข้อนี้ เพราะบางครั้งมันสะท้อนถึงความไม่มั่นคงในชีวิตของพวกเขาหลังเกษียณอายุ หรือหมดสัญญาจ้าง

คําถามที่น่าสนใจในทุกวันนี้ก็คือ ปัญหาแชร์ลูกโซ่และเรื่องใกล้เคียงนั้นมันสะท้อนสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างไร เศรษฐกิจที่แข่งกันประกาศตัวเลขส่งออกและรายได้ต่อหัวนั้นมันทำให้เราเข้าใจสถานการณ์และความคาดหวังทางเศรษฐกิจของผู้คนมากน้อยแค่ไหน

ในหลายกรณี การนำเอาเครือข่ายทางสังคมและต้นทุนทางสังคมที่ตนมีนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องของการหลอกลวงเสมอไป เพราะคนที่หลอกอาจจะเป็นเฉพาะระดับบน แต่ในระดับล่างนั้นเขาอาจจะศรัทธากับผลิตภัณฑ์หรือแนวทางธุรกิจเหล่านั้น และบอกสิ่งดีๆ เหล่านั้นลงไปในเครือข่าย
ของเขา

ถึงเวลาแล้วที่เราคงจะต้องพยายามร่วมกันคิดพิจารณาว่าเครือข่ายทางสังคมสมัยใหม่นั้นเป็นอย่างไรบ้าง ทำไมบางเครือข่ายถึงมีอำนาจและเต็มไปด้วยความมั่งคั่ง ทำไมบางเครือข่ายถึงวนเวียนกับเรื่องราวที่เต็มไปด้วยความหลอกลวง และความล้มเหลวทางโอกาสของการแสวงหาความมั่งคั่งได้เช่นนี้

เป็นเพราะว่าพวกเขาไม่ขยัน ได้ข้อมูลที่ผิดพลาด หรือพวกเขาไม่มีทางเข้าถึงเครือข่ายอำนาจและความมั่งคั่งของคนในประเทศนี้ที่กระจุกตัวอยู่กับคนไม่กี่คนเท่านั้นเองหรือเปล่า?

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image