องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญใหม่กับวิถีแห่งอำนาจ โดย:ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล

รัฐธรรมนูญปี 2560 บัญญัติเรื่ององค์กรอิสระไว้ในหมวด 12 โดยกำหนดให้มีองค์กรอิสระทั้งสิ้น 5 องค์กร ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยตามรัฐธรรมนูญปี 2560 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเปลี่ยนฐานะจากองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญในรัฐธรรมนูญปี 2550 มาเป็นองค์กรอิสระ และรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้บัญญัติเรื่ององค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญไว้แต่อย่างใด

ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 องค์กรอิสระกับศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ร่วมกันในการกำหนดให้มีมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นใช้บังคับแก่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ส.ส. ส.ว. และคณะรัฐมนตรี ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 219 โดยบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 276 กำหนดให้ต้องจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 หากดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต้องพ้นจากตำแหน่ง
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 222 เพิ่มจำนวนจาก 5 คน เป็น 7 คน อำนาจของ กกต.ตามรัฐธรรมนูญใหม่ที่น่าสนใจ ได้แก่ อำนาจของ กกต.ก่อนประกาศผลการเลือกตั้งหรือการเลือก ถ้า กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งหรือการเลือกไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม กกต.มีอำนาจสั่งให้มีการเลือกตั้งหรือการเลือกใหม่ได้

และถ้าผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือผู้สมัครรับเลือกกระทำการทุจริตในการเลือกตั้ง หรือรู้เห็นกับการกระทำทุจริตในการเลือกตั้งของบุคคลอื่น กกต.มีอำนาจสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นไว้เป็นการชั่วคราว หรือที่เรียกว่าอำนาจในการแจกใบแดงชั่วคราว เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี คำสั่งของ กกต.นี้ให้ถือเป็นที่สุด ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 224 (4) และมาตรา 225

นอกจากนี้ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 226 ในกรณีที่ กกต.สั่งให้มีการเลือกตั้งหรือการเลือกใหม่ หรือสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้เป็นการชั่วคราวดังกล่าวข้างต้น หรือภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งหรือการเลือกแล้ว ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือผู้สมัครรับเลือกกระทำการทุจริตในการเลือกตั้งหรือการเลือก หรือรู้เห็นกับการกระทำทุจริตในการเลือกตั้งหรือการเลือกของบุคคลอื่น ให้ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น

และหากศาลฎีกาพิพากษาว่ามีการกระทำความผิดตามที่ถูกร้อง ให้ศาลฎีกาสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นเป็นเวลา 10 ปี และเมื่อศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว ถ้าผู้ถูกกล่าวหาเป็น ส.ส.หรือ ส.ว. ให้ผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลฎีกาจะมีคำพิพากษา และเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าผู้นั้นกระทำความผิด ให้สมาชิกภาพของ ส.ส.หรือ ส.ว.สิ้นสุดลงนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่

Advertisement

อนึ่ง หาก กกต.เห็นว่าสมาชิกภาพของ ส.ส.หรือ ส.ว.คนใดมีเหตุสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 82 วรรค 1 ให้ กกต.ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยการสิ้นสุดสมาชิกภาพของผู้นั้น ซึ่งอำนาจของ กกต.ในกรณีนี้มีบัญญัติไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญปี 2550 และ 2560

ผู้ตรวจการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มีอำนาจเพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญปี 2550 หลายประการ ได้แก่ อำนาจในการเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่ง หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน หรือเป็นภาระแก่ประชาชนโดยไม่จำเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 230 วรรค 1 (1) และอำนาจในการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ทราบถึงการที่หน่วยงานของรัฐไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐในรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 230 วรรค 1 (3)

นอกจากนี้ ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบเพื่อพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควรได้ ตามมาตรา 230 วรรค 2 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 244 วรรค 1 (4) ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจแต่เพียงรายงานผลการตรวจสอบและผลการปฏิบัติหน้าที่พร้อมข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา แต่ไม่มีอำนาจแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบเพื่อพิจารณาสั่งการหากหน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการตามข้อเสนอแนะโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

ส่วนอำนาจสำคัญของผู้ตรวจการแผ่นดินในการเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติกฎหมายและอำนาจในการเสนอเรื่องให้ศาลปกครองวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายของกฎ คำสั่ง หรือการกระทำของหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นอำนาจที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมาแต่เดิมในรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ได้นำมาบัญญัติไว้อยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 231

คณะกรรมการ ป.ป.ช.ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มีอำนาจที่เพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ตามมาตรา 235 วรรค 1 (1) ที่กำหนดว่า หากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตรวจสอบพบว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามที่กฎหมายกำหนด ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอำนาจเสนอเรื่องให้ศาลฎีกาวินิจฉัยได้ ซึ่งเป็นการให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช.ฟ้องคดีต่อศาลฎีกาได้โดยตรง

ในกรณีดังกล่าว โดยไม่ต้องส่งสำนวนการไต่สวนไปยังอัยการสูงสุดให้ดำเนินการฟ้องคดี แต่หากเป็นกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนและมีมติว่าบุคคลที่ถูกกล่าวหาดังกล่าวข้างต้นมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย จะต้องส่งสำนวนการไต่สวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

หรือดำเนินการอื่นตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตกำหนด ทั้งนี้ ตามที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 235 วรรค 1 (2) บัญญัติไว้

ในกรณีที่มีการฟ้องผู้ถูกกล่าวหาต่อศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าวแล้วแต่กรณี หากศาลประทับรับฟ้อง ผู้ถูกกล่าวหาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น และหากศาลมีคำพิพากษาว่า ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์หรือกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ผู้ต้องคำพิพากษาต้องพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น และให้อำนาจศาลที่จะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกิน 10 ปีด้วยหรือไม่ก็ได้ และผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ส. ส.ว. สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ด้วย
และในกรณีที่ศาลพิพากษาผู้ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือทุจริตต่อหน้าที่ ให้ริบทรัพย์สินที่ผู้นั้นได้มาจากการกระทำความผิด รวมทั้งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้มาแทนทรัพย์สินให้ตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งบทลงโทษในหลายกรณีเป็นเรื่องที่เพิ่มเติมขึ้นมาใหม่และมีความรุนแรงกว่าบทลงโทษในกฎหมายเดิมอย่างมาก

ในเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมนี้ รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ได้เคยมีบัญญัติไว้ในมาตรา 270 และมาตรา 279 โดยการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ถือเป็นการกระทำผิดทางวินัย และในกรณีที่เป็นการกระทำผิดร้ายแรง ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาดำเนินการ ซึ่งเป็นเหตุให้วุฒิสภามีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งบางตำแหน่งได้เท่านั้น ดังนั้น บทลงโทษกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญปี 2550 จึงเบากว่าตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นอย่างมาก

อนึ่ง ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้มีบทบัญญัติเป็นส่วนเฉพาะในเรื่องการตรวจสอบทรัพย์สินและการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เหมือนเช่นที่รัฐธรรมนูญปี 2550 เคยบัญญัติไว้เป็นส่วนเฉพาะในหมวด 12 มาตรา 259 ถึง 264 แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 บัญญัติเรื่องนี้ไว้แต่เพียงในมาตรา 234 (3) โดยบัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอำนาจหน้าที่กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งตามที่กำหนดไว้ ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน

ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 234 วรรค 2 ได้กำหนดอำนาจเพิ่มเติมอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจให้แก่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไว้ในรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ในกรณีจำเป็นคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตดำเนินการแทนในเรื่องที่มิใช่เป็นความผิดร้ายแรงหรือที่เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐบางระดับ หรือกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของหน่วยธุรการของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นผู้ดำเนินการสอบสวนหรือไต่สวนเบื้องต้นก็ได้ ซึ่งในเรื่องนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงแทนคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ตามมาตรา 45 และจะมอบหมายให้พนักงานไต่สวนดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงตามมาตรา 45/1 ได้อยู่แล้ว

การที่บัญญัติเรื่องการมอบหมายให้ดำเนินการแทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือให้มีอำนาจสอบสวนหรือไต่สวนเบื้องต้นไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ด้วยอีก จึงย่อมทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้บุคลากรมาช่วยแบ่งเบาภาระงานมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งย่อมเป็นผลดีต่อการลดภาระงานที่คั่งค้างของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มีการเปลี่ยนแปลงวาระการดำรงตำแหน่งจากเดิม 6 ปี เป็น 7 ปี ตามมาตรา 239 และตามรัฐธรรมนูญปี 2560 คตง.มีอำนาจเพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่น่าสนใจในหลายๆ เรื่อง ได้แก่ อำนาจในการกำกับการตรวจเงินแผ่นดินให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ตามมาตรา 240 (3) และอำนาจในการสั่งลงโทษทางปกครองกรณีมีการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ตามมาตรา 240 (5) โดยตัดอำนาจของ คตง.ในการแต่งตั้งคณะกรรมการวินัยทางการเงินและการคลังที่เป็นอิสระตามที่รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 253 วรรค 1 บัญญัติไว้ออกไป เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญปี 2560 จะมีการบัญญัติกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐเป็นการเฉพาะต่างหากตามมาตรา 62 และบทเฉพาะกาล มาตรา 278

โดยตามบทเฉพาะกาลจะต้องมีการจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐให้แล้วเสร็จและเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติภายใน 240 วัน นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 245 ยังได้ให้อำนาจใหม่แก่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในการเสนอผลการตรวจสอบการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐและอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างร้ายแรงต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อพิจารณา ระงับ หรือยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐด้วย

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มีอำนาจที่ลดลงจากเดิมในหลายๆ เรื่องหากเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญปี 2550 อำนาจที่ กสม.เคยมีอยู่ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่ถูกตัดออกไปตามรัฐธรรมนูญใหม่ที่น่าสนใจได้แก่ อำนาจในการเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญในกรณีที่บทบัญญัติกฎหมายกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อำนาจในการเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครองในกรณีที่กฎ คำสั่ง หรือการกระทำทางปกครองกระทบต่อสิทธิมนุษยชนหรือมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และอำนาจในการฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนผู้เสียหายเมื่อได้รับการร้องขอจากผู้เสียหายเพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนรวม

แต่ กสม.กลับมีภาระหน้าที่เพิ่มขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 247 (4) ในการมีหน้าที่ชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้าในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม ซึ่งดูเหมือนเป็นบทบาทในการเป็นกระบอกเสียงแก้ต่างให้กับรัฐบาลมากกว่าที่จะเป็นบทบาทในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 247 วรรค 2 ก็ยังมีข้อดี ที่บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีเมื่อรับทราบรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน รายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศ และข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่เสนอโดย กสม.แล้ว จะต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขโดยเร็ว ซึ่งบทบัญญัติที่กำหนดให้คณะรัฐมนตรีจะต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขโดยเร็วในกรณีดังกล่าวนี้ ไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2550

อำนาจขององค์กรอิสระต่างๆ ที่กล่าวมา ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่มีอำนาจเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน โดยองค์กรอิสระบางแห่ง เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน มีลักษณะก้าวกระโดดของอำนาจจากเดิมอย่างชัดเจน สำหรับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เดิมมีอำนาจมากอยู่แล้ว ตามรัฐธรรมนูญใหม่นี้ยิ่งมีอำนาจในมือเพิ่มมากขึ้นไปอีก

ส่วนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติถือว่าเป็นองค์กรอิสระเพียงแห่งเดียวที่ไม่ได้มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญใหม่เพิ่มขึ้น แต่กลับถูกลดทอนอำนาจที่สำคัญลงไปในหลายๆ เรื่อง ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

และหลังจากมีการออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมารองรับการใช้อำนาจของบรรดาองค์กรอิสระเหล่านี้ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 267 แล้ว คงจะได้เห็นการใช้อำนาจของบรรดาองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญใหม่นี้ได้ชัดเจนมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image