ชนเผ่า (Tribe) โดย:โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

ชนเผ่า (Tribe) คือกลุ่มสังคมที่รวมตัวกันก่อนที่จะพัฒนาขึ้นมาเป็นรัฐ (State) โดยทั่วไปแล้วชนเผ่าประกอบด้วยกลุ่มคนที่อาศัยที่ดินเพื่อทำกิน มีขนบประเพณีที่คล้ายคลึงกัน อาทิ แต่งกายแบบเดียวกัน กินอาหารแบบเดียวกัน มีพิธีกรรมเหมือนกัน มีระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตัวเอง (self-sufficient economy) คือเศรษฐกิจที่ทุกครอบครัวหรือทุกชุมชนต้องผลิตปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคเอง และการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันก็ยังไม่ใช้เงินเป็นสื่อกลางหากแต่ใช้วิธีแลกเปลี่ยนสิ่งของ เช่น แลกไก่กับผ้าที่ทอขึ้นเอง เป็นต้น โดยยังไม่บูรณาการเข้ากับระบบเศรษฐกิจของชาติ

ในสมัยก่อนพวกชาวเขาเผ่าต่างๆ ของไทยก็จัดเป็นเผ่าชนจะเห็นได้จากการแต่งกายของแต่ละเผ่าก็มีแบบแผนแตกต่างกัน ขนบประเพณีก็แตกต่างกันไป มีพิธีกรรมที่เป็นแบบแผนของตนเอง อาทิ พิธีกรรมแบบลานสาวกอดก็เป็นพิธีกรรมเฉพาะชนเผ่าอาข่าเท่านั้น (ปัจจุบันนี้ก็เลิกไปแล้ว)

ชนเผ่าอินเดียนแดงในทวีปอเมริกาเหนือก็เช่นเดียวกัน ต่างก็มีระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตัวเอง (self-sufficient economy) คือเศรษฐกิจที่ทุกครอบครัวหรือทุกชุมชนต้องผลิตปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคเอง และการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันก็ยังไม่ใช้เงินเป็นสื่อกลางหากแต่ใช้วิธีแลกเปลี่ยนสิ่งของเช่นกัน  ปัจจุบันก็เลิกไปแล้ว

รัฐชนเผ่าถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการมีรัฐเกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ โดยเริ่มจากครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุด และรวมตัวกันอยู่เป็นกลุ่มเล็กๆ ในหมู่วงศาคณาญาติเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อจำนวนครอบครัวขยายตัวเพิ่มมากขึ้นจนทำให้ความผูกพันที่มาจากสายเลือดเดียวกันค่อยๆ จางลงไป โดยเปลี่ยนรูปแบบเป็นความผูกพันที่มาจากการเป็นเผ่าเดียวกันแทนของครอบครัวที่อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน หรือใกล้เคียง และสังคมมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าเดิมส่งผลให้มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างกฎเกณฑ์การอยู่อาศัยร่วมกัน เพื่อความเป็นระเบียบ และความสงบสุขให้เกิดขึ้นภายในสังคม กฎเกณฑ์ที่สร้างขึ้นได้แก่ การมีหัวหน้าเผ่า ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และความเชื่อเดียวกัน

Advertisement

ในทางรัฐศาสตร์จัดว่ารัฐเผ่าชน (Tribal State) เป็นรัฐที่พัฒนาน้อยที่สุด มักจะเน้นขนบธรรมเนียมประเพณีมาก การแต่งกายก็จะเป็นลักษณะเครื่องแบบที่คล้ายๆ กันและเครื่องแบบก็จะบอกสถานภาพของผู้แต่งกายนั้นๆ ได้ เช่น สามารถบอกได้ว่าเป็นสตรีที่แต่งงานแล้วหรือยังไม่ได้แต่งงานเป็นต้น การยึดติดอยู่กับดินแดนอาณาเขตที่แน่นอนมีน้อย มักจะร่อนเร่ย้ายที่อยู่เป็นครั้งคราว ในอดีตก็มีอินเดียนแดงในอเมริกาเหนือและชนเผ่าต่างๆ ในมองโกเลีย หรือชาวเขาเผ่าต่างๆ ของไทย และลาว เป็นต้น

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าชนเผ่าต่างๆ ที่มีมาในอดีตทั้งหลายนั้น มีความล้าหลังในเรื่องการจัดองค์การการปกครองจนกล่าวได้ว่าปัจจุบันนี้รัฐเผ่าชนได้สูญพันธุ์ไปหมดแล้วนั่นเอง แต่ผู้เขียนได้อ่านจากหนังสือพิมพ์หลายฉบับซึ่งได้รายงานข่าวว่า นายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ รองประธานศาลปกครองสูงสุดได้กล่าวในวันที่ 3 พฤษภาคม ที่กองบัญชาการกองทัพไทย สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจัดสัมมนาเชิงวิชาการเนื่องในวาระที่ศาลรัฐธรรมนูญครบรอบ 19 ปี เรื่อง มิติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่Ž ว่ารัฐธรรมนูญใหม่มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องระบบเลือกตั้งมาเป็นระบบจัดสรรปันส่วน ซึ่งไม่มีประเทศไหนในโลกทำ ซึ่งตนเองก็ศึกษามาเยอะและพยายามหาว่าเอาตัวอย่างจากประเทศไหนซึ่งอาจจะเอามาจากชนเผ่าใดชนเผ่าหนึ่งก็ได้ จึงประหลาดใจและวิตกกังวลอย่างมากเนื่องจากความล้าหลังทางการเมืองของชนเผ่าต่างๆ ได้แสดงให้เห็นอย่างประจักษ์แจ้งอยู่แล้ว และผู้เขียนเองก็พยายามค้นหาตัวอย่างของระบบเลือกตั้งของประเทศต่างๆ ก็ไม่พบระบบการเลือกตั้งระบบจัดสรรปันส่วนตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของบ้านเราเลย

ดังนั้น หากรัฐธรรมนูญใหม่ของราชอาณาจักรไทยไปเอาตัวอย่างมาจากชนเผ่าใดชนเผ่าหนึ่งอย่างที่ท่านรองประธานศาลปกครองสูงสุดสงสัยก็น่าวิตกกับอนาคตของประเทศไทยมากทีเดียว

Advertisement

นอกจากนี้ ท่านรองประธานศาลปกครองสูงสุดยังได้กล่าวถึงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกว่าในมาตรา 77 ที่กำหนดว่าการออกกฎหมายต้องรับฟังความเห็นในทุกขั้นตอน ซึ่งก็คือการทำประชาพิจารณ์ อาจจะทำให้เป็นอุปสรรค เพราะไม่มีการจำกัดความคำว่าผู้เกี่ยวข้อง เพราะการออกกฎหมายฉบับหนึ่งย่อมกระทบประชาชนทุกคน จึงถือว่าเป็นผู้เกี่ยวข้อง ทำให้การออกกฎหมายจะล่าช้า และอาจมีการทำแบบผักชีโรยหน้าเต็มไปหมด อีกทั้งในมาตรา 26 ที่กำหนดว่าการตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ

กรณีที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดหลักนิติธรรมนั้น ควรมีการระบุเหตุผลในการจำกัดสิทธิไว้ในกฎหมายด้วย

ในการสรุปส่งท้ายนายวรพจน์กล่าวด้วยว่า การกำหนดคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยเฉพาะมาตรา 160 (4) ที่ระบุว่า ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ทำให้รู้สึกว่าไม่รู้ว่าหมายถึงคนชนิดไหนกันแน่ เพราะทุกคนถ้าไม่เคยโดนลงโทษทางวินัยหรืออาญาผิดมาตรา 157 ก็ไม่มีเหตุบอกว่าบุคคลดังกล่าวไม่มีความซื่อสัตย์ สุจริต และที่กำหนดว่าต้องเป็นที่ประจักษ์นั้น ถ้าคนคนนั้นไม่เคยไปพูดโม้หรือโฆษณาตัวเอง จะถือว่าเขาไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่ คำว่าเป็นที่ประจักษ์จะเอาอะไรมาวัด และ (5) บัญญัติว่าต้องไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงนั้น ขอฝากไปยังศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ร่างมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ต้องกำหนดให้ชัดว่าพฤติการณ์ลักษณะใดเข้าข่ายผิดจริยธรรมปกติ และผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง เช่น กรณีการกินของหวานที่แม่ฮ่องสอน ถือว่าผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่

ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองระดับรองประธานศาลปกครองสูงสุดกรุณาออกมาติงเรื่องรัฐธรรมนูญใหม่เอี่ยมของ คสช. นี่น่าฟังดีนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image