เด็ก’กับ’ผู้ใหญ่’ โดย ปราปต์ บุนปาน

เวลา “เด็กวัยรุ่น” กับ “ผู้ใหญ่” มีปัญหา-วิวาทะกัน

บ่อยครั้ง ภาพการปะทะมักถูกมองเป็นเรื่องของการทะเลาะเบาะแว้งระหว่าง “เด็กกวนๆ” กับ “ผู้ใหญ่ที่ล้าหลัง”

จากนั้น คำอธิบายประเภทหนึ่งที่จะเกิดขึ้นไล่หลังตามมาอยู่เสมอๆ ก็คือ “นี่เป็นความแตกต่างระหว่างเจเนอเรชั่น”

ถ้ามุ่งเน้นความสำคัญไปที่ “เด็กรุ่นหลัง”

Advertisement

ฝ่ายที่เชื่อมั่นในศักยภาพของเยาวชนก็พยายามเน้นย้ำว่า อย่างไรเสีย โลกต้องเป็นของคนรุ่นใหม่ เพราะคนรุ่นใหม่จะเป็นพลังหลักในการกำหนดทิศทางของสังคมในวันนี้และวันข้างหน้า นอกจากนั้น พวกเขายังต้องแบกรับภาระจากปัญหาที่ผู้ใหญ่ในปัจจุบัน/ยุคก่อนก่อเอาไว้

แต่ฝ่ายที่ไม่เชื่อมั่นในเยาวชน ก็สามารถหาเรื่องมาจับผิดเด็กรุ่นหลังได้เรื่อยๆ

เข้าทำนองเจนเอ็กซ์ว่าแย่แล้ว เจนวายแย่กว่า เจนแซดยิ่งไปกันใหญ่

Advertisement

“ไปกันใหญ่” ทั้งในแง่การทำงานร่วมกับคนอื่นภายใต้สถาบัน/องค์กรขนาดใหญ่,

ในแง่การใช้ชีวิตท่ามกลางโลกเสมือน/เทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ ตลอดจนในแง่ทัศนคติ-ค่านิยมทางสังคมและการเมือง

อย่างไรก็ตาม ถ้าปัญหาเรื่องเจเนอเรชั่นนั้นมีอยู่จริง ผู้ใหญ่หรือ “คนแก่” ย่อมเป็นคู่ขัดแย้งอีกข้างหนึ่ง ซึ่งไม่ควรถูกละเลยเหมือนกัน

ฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์ผู้ใหญ่ มักเห็นว่าคนรุ่นอายุ 50-60 ปีขึ้นไป ล้าหลัง ไม่ทันโลก บ้าอำนาจ หรือแม้จะมีท่าทีอินเทรนด์รอบรู้ คล้ายจะเข้าใจสังคมสมัยใหม่ แต่กลับมีปฏิสัมพันธ์กับวิถีชีวิตปัจจุบันและคนรุ่นหลังอย่างผิดที่ผิดทางผิดฝาผิดตัว จนกลายเป็น “มนุษย์ลุง-มนุษย์ป้า” ผู้น่ารำคาญและชอบสร้างปัญหาในเรื่องไม่เป็นเรื่อง

แต่ขณะเดียวกัน คงต้องยอมรับว่าโลกปัจจุบันก็เป็นโลกของ “คนแก่” พอๆ กับที่เป็นโลกของ “คนรุ่นใหม่” เพราะความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ส่งผลให้มนุษย์มีอายุยืนยาวขึ้น

ช่วงเวลาการทำงานของผู้สูงอายุจึงยืดยาวขยายออกไป (เกินวัยเกษียณ 60 ปี) ที่สำคัญ อำนาจในการบริหารจัดการหน่วยงาน/องค์กร รวมถึงการครอบครอง/เข้าถึงสินทรัพย์จำนวนมาก ยังคงถูกผูกติดอยู่กับคนแก่

โลกในปัจจุบันและอนาคตจึงเป็นทั้งโลกของผู้สูงอายุและคนหนุ่มคนสาว

ถ้าจะมองว่าความแตกต่างระหว่างช่วงอายุย่อมนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งตามมา

“ปัญหา” ก็คงเกิดขึ้นได้อยู่ตลอดเวลา

แต่หากมองว่าความแตกต่างเช่นนั้นคือสภาวะที่มิอาจหลีกหนีไปได้พ้น

คำถามที่เราต้องเผชิญ ก็คือ เราควรจะใช้ชีวิตอยู่กับมันอย่างไร?

ถ้าจะเอาคำตอบแบบโรแมนติกหน่อย บางคนอาจฝันถึงสังคมที่เปิดพื้นที่ให้ความหลากหลาย

แม้จะคิดเห็นไม่ตรงกัน แม้จะยึดถือคุณค่าอะไรบางอย่างไม่เหมือนกัน แต่รัฐกับสังคมก็ควรร่วมสร้างพื้นที่สาธารณะซึ่งยืดหยุ่นและมีที่ทางมากพอ เพื่อรองรับหรือเปิดโอกาสให้ความหลากหลายเหล่านั้นได้แสดงตัวตนออกมาโดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้เห็นต่าง

แต่หากยอมรับความจริงว่า สุดท้ายแล้ว คนหนุ่มสาวกับคนแก่ก็คงต้องปะทะถกเถียงกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง (หรือทุกๆ เรื่อง) ณ สังคมที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน

ทางออกที่ดีที่สุด จึงน่าจะเป็นการสร้างระบบ กฎเกณฑ์ กติกาอันสมเหตุสมผล คงเส้นคงวา และยุติธรรม มาครอบทับเรื่องราว (ขัดแย้ง) ต่างๆ เอาไว้

ถ้าเรื่องไหน เด็กได้รับความชอบธรรมจากกฎกติกาที่กำหนดไว้ ผู้ใหญ่ก็จำเป็นต้องแสดงความยอมรับ (ไม่ว่าจะหงุดหงิดหรือรำคาญใจขนาดไหน)

ในทางกลับกัน ถ้าผู้ใหญ่ชนะเกมตามกฎกติกา เด็กรุ่นหลังก็ต้องยอมรับเช่นกัน (แม้อาจตระหนักว่าจะมีปัญหาใหญ่ก่อตัวตามมาหลังชัยชนะดังกล่าว)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image