สื่อกับโซ่ตรวน และปลอกคอ : โดย รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

ประเด็นร้อนที่ส่งผลต่อวงการวิชาชีพสื่อสารมวลชนในระยะนี้คงหนีไม่พ้นกรณีที่คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน ของ สปท.ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน และผ่านความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 141 เสียง ไม่เห็นด้วย 13 เสียง และงดออกเสียง 17 เสียงนั้น

พลันที่ สปท.เสียงข้างมากเห็นดีเห็นงามกับร่างฉบับดังกล่าวถึงแม้จะมีเวลาอีกยาวไกลในการประกาศเป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการ แน่นอนเหตุและผลย่อมก่อให้เกิดต่อความสะเทือนของผู้ประกอบการวิชาชีพสื่อสารมวลชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หนังสือพิมพ์มติชนซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์คุณภาพ เพื่อคุณภาพของประเทศได้เกาะติดสถานการณ์นี้มาอย่างต่อเนื่องเคียงคู่ไปกับสื่อแขนงต่างๆ พร้อมกับได้เปิดพื้นที่ด้วยการพาดหัวตัวไม้น่าสนใจส่ง 2 วันติดต่อกันได้แก่ “141สายข้าราชการโหวต สปท.ผ่านกม.คุมสื่อ” (2 พฤษภาคม 2560) ตามด้วย “องค์กรสื่อยื่นบิ๊กตู่จี้เลิก กม.ล่ามโซ่” (3 พฤษภาคม 2560)

ก่อนที่ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะถูกนำเสนอจนคลอดออกมาเป็นพิมพ์เขียวได้นั้นย่อมมีมูลแห่งเหตุที่ สปท.ชุดนี้จำเป็นต้องดำเนินการและอาจจะมีประเด็นที่การทำหน้าที่ของสื่ออาจจะมองว่าเป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการในกิจการภาครัฐ

Advertisement

และที่สำคัญเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า สปท.ส่วนใหญ่ที่ผ่านการสรรหามานั่งในสภาอันทรงเกียรติส่วนใหญ่มาจากผู้ที่มีอาชีพเป็นข้าราชการ ข้าราชการอาจจะมีมุมมองที่แตกต่างจากภาคเอกชนหรือสื่อมวลชนและเหนือสิ่งอื่นใดเมื่อต้นทางแห่งความคิดส่งสารมาอย่างไรข้าราชการ (บางคน) ก็จะขานรับเข้าทำนอง “ได้ครับพี่ ดีครับผม เหมาะสมครับท่าน”

สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ มีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะแนวทางเพื่อการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ 11 ด้าน (มาตรา 27) สื่อสารมวลชนเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูป แต่การปฏิรูปใดก็ตามย่อมเป็นไปตามสภาพการณ์และบริบทของสังคมอยู่บนความถูกต้องเหมาะสม โดยไม่ขัดต่อกฎหมายบ้านเมืองและเหนือสิ่งอื่นใดต้องไม่กระทบกับสิทธิและเสรีภาพอันพึงมี

พร้อมกันนั้นหากทำการใดที่ไม่เหมาะไม่ควรสังคมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกระทำการนั้นก็จะสอดคล้องกับภาษิตจีนที่ว่า “เด็ดดอกไม้ย่อมสะเทือนถึงดวงดาว”

Advertisement

องค์กรสื่อรวม 30 องค์กรซึ่งเป็นผู้ที่จะต้องได้รับผลกระทบโดยตรงต่อการประกอบวิชาชีพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หาก พ.ร.บ.ที่มีความมุ่งมั่นในการจะตีโซ่ตรวนหรือผูกคอสื่อคลอดออกมา จึงไม่อาจจะนิ่งเฉยจำต้องแสดงบทบาทและพลังการขับเคลื่อนเพื่อแสวงหาความถูกต้องและชอบธรรมต่อสังคม จึงได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี 4 ข้อ รวมทั้งยังเดินทางเข้าพบนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ผู้เขียนในฐานะผู้บริโภคสื่อและเคยเป็นหนึ่งในผู้ทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านสื่อสารมวลชนให้กับนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาต้องขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ยื่นไมตรีและเปิดใจกว้างต่อการที่จะมีการพิจารณาต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวอย่างรอบด้านด้วยความตอนหนึ่งว่า “ยินดีเพราะถือเป็นการหารือร่วมกัน เรื่องกฎหมายยังมีอีกหลายขั้นตอน ตนรับฟังทั้ง 2 ทาง สปท.มีหน้าที่มีคิดและปฏิรูป เมื่อ สปท.คิดขึ้นมาและลงมติแล้วก็เข้ามาที่รัฐบาล ก่อนให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา บางเรื่องต้องให้ประชาชนพิจารณาไม่ใช่ให้สื่อตัดสิน

และ 1.อย่าคิดว่าตนต้องการครอบงำทั้งหมดเพราะไม่ได้ครอบงำใครเลยถ้าครอบงำการออกกฎหมายจะเร็วกว่านี้ 2.ถ้าสื่อคุมกันเองต้องคุมให้ได้ แต่มีอะไรที่ไม่ดีอยู่ต้องหาให้เจอ สื่อเลือกข้างก็มี อาจจะมีเรื่องเงินทองบ้างจะทำอย่างไรไม่ให้เกิด

ยืนยันว่าไม่ได้รังเกียจใครเลย ไม่ได้เป็นศัตรูกับสื่อ แต่อยากขอความร่วมมือสื่อให้ช่วยประเทศ เรื่องสื่อเป็นเรื่องสำคัญจะดูให้ ขอให้ใจเย็นๆ” (มติชน, 4 พฤษภาคม 2560 หน้า 3)

จากนี้ไปสังคมไทยโดยเฉพาะสื่อมวลชนและผู้บริโภคสื่อจะต้องติดตามความเป็นไปซึ่งเคยมีกรณีศึกษาจากปรากฏการณ์และหลายๆ บทเรียนเมื่อมีเหตุกระแสสังคมจะจับตาแต่เมื่อกาลเวลาผ่านกระแสนั้นก็เลื่อนลอยสิ่งที่ต้องพิสูจน์ในความจริงใจของผู้มีอำนาจที่จะประสานสัมพันธ์ให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมาด้วยความถูกต้องชอบธรรมโดยไม่มีอภินิหารที่จะสวนกระแสสังคมย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะมองข้าม

อย่าลืมว่าคำพูดย่อมจะเป็นนาย ดังนั้น คำพูดคำกล่าวทั้งมวลจะนำมาซึ่งคำว่าสัจจะย่อมมีในหมู่ประชาคมที่เจริญแล้ว

บ้านเมืองของเราอยู่มาได้ทุกวันนี้ล้วนแล้วแต่เกิดจากความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการพัฒนาและดำเนินชีวิตด้วยการรู้รักสามัคคีของคนทั้งมวล สื่อมวลชนเป็นหนึ่งในภาคส่วนของสังคมที่ได้ทำหน้าที่เพื่อร่วมเคียงคู่ไปการสร้างสรรค์และพัฒนาสังคมเฉกเช่นเดียวกันเพียงแต่ว่าสื่อมวลชนอาจจะเป็นวิชาชีพที่แตกต่างจากวิชาชีพอื่นที่การทำหน้าที่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้ของคำว่า เสรีภาพ

และเสรีภาพที่ได้ในบางโอกาสนำมาซึ่งอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน มีผู้กล่าวและเทียบเคียงการทำงานของสื่อว่า “สื่อเปรียบเสมือนสุนัขเฝ้าบ้าน”

ดังนั้นการที่สุนัขจะเฝ้าบ้านได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพเป็นไปตามความไว้วางใจของเจ้าของบ้าน เจ้าของบ้านจะนำโซ่ตรวนหรือเชือกมาผูกคอย่อมส่งผลกระทบต่อการเฝ้าบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากปรากฏการณ์และกระแสที่ส่งผลกระทบต่อสื่อมวลชนอันเนื่องมาจากร่าง พ.ร.บ.คุมสื่อในครั้งนี้ทำให้สังคมได้เกิดการเรียนรู้ในความสำคัญและความจำเป็นของวิชาชีพสื่อที่ดำรงอยู่ในสังคมมากขึ้นโดยเฉพาะผู้นำทางความคิด นักหนังสือพิมพ์อาวุโสหรือบุคคลที่ได้ชื่อว่าอยู่เคียงคู่กับความถูกต้องชอบธรรมของสังคมมาอย่างยาวนานต่างได้สะท้อนมุมมองที่น่าสนใจและจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่จะขับเคลื่อนการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.นี้เพื่อออกมาเป็นกฎหมายในอนาคต

โดยเฉพาะแนวคิดของบุคคลสำคัญซึ่งเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีผู้ที่ผ่านการเป็นสื่อมวลชนอย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ยุคหนึ่งท่านเคยประสบปัญหากับการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชนสังกัดหนังสือพิมพ์สยามรัฐ แต่ท่านก็ใช้ความฉลาดในการตอบโต้ด้วยกระบวนการของนักปราชญ์ชั้นเซียน จนผู้มีอำนาจต้องเลิกกำกับและควบคุม

ในขณะที่ นายเกษม ศิริสัมพันธ์ อีกหนึ่งของอดีตรัฐมนตรี และนักวิชาการได้เคยแสดงแนวคิดไว้เกี่ยวกับการกำกับ ดูแล หรือตรวจสอบควบคุมสื่อมวลชนตอนหนึ่ง ความว่า “ถ้าเรายังอยู่ในระบบอำนาจนิยม ที่ตอบง่ายๆ ที่สุดของผู้ที่จะทำการตรวจสอบสื่อคือรัฐหรือผู้ใช้อำนาจรัฐเป็นผู้ตรวจสอบและควบคุมสื่อมวลชน แต่ถ้าหากเราเดินตามวิถีทางของประชาธิปไตยจนเป็นสังคมเปิดแล้วนั้น รัฐหรือผู้ใช้อำนาจแทนรัฐจะควบคุมสื่ออย่างเบ็ดเสร็จไม่ได้ เพราะต้องยึดมั่นในหลักอิสรภาพและหลักเสรีภาพของสื่อมวลชน” พร้อมกันนั้น ท่านยังให้แนวคิดต่อการตรวจสอบสื่อที่ควรมี 2 ประการ

ประการแรก ได้แก่ การให้สื่อมวลชนคุมกันเอง ซึ่งแม้จะเป็นการพูดง่ายแต่เห็นผลยากเพราะต้องอาศัยปัจจัยหลัก 2 ปัจจัยคือ (1)ต้องอาศัยความสำนึกร่วมอย่างเข้มแข็งของสื่อมวลชนแต่ละแขนงเป็นความสำนึกร่วมกันในหลักความรับผิดชอบจริยธรรมของสื่อมวลชนทั้งสื่อมวลชนเองจะต้องมีความรู้สึกหวงแหนอิสรภาพและเสรีภาพของตนเองจึงพร้อมกันที่จะจัดการกันเองแทนที่จะปล่อยให้อำนาจรัฐก้าวเข้ามาตรวจสอบและควบคุม (2)เมื่อไม่ยอมรับให้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซง ตรวจสอบ ควบคุมสื่อมวลชนขณะที่การใช้ระบบการควบคุมกันเองของสื่อนั้นองค์กรที่ควบคุมก็ไม่มีอำนาจในการลงโทษทางกฎหมายจึงต้องอาศัยการลงโทษกันเองทางสังคมเท่านั้น

ประการที่สอง การตรวจสอบหรือควบคุมจากกลุ่มผู้บริโภคสื่อ ที่เป็นการตรวจสอบต่อเนื่องกันจากที่สื่อมีการควบคุมกันเองและมีบทลงโทษทางสังคมกันแล้ว ซึ่งการตรวจสอบควบคุมจากผู้บริโภคจะมีผลมากที่สุด ต่อเมื่อมีพลังหนุนของกลุ่มผู้บริโภคสื่อเป็นสำคัญอีกด้วยโดยกลุ่มผู้บริโภคสื่อนับว่าเป็นพลังภาคประชาชน ซึ่งอาจสร้างกระแสการตรวจสอบ วิพากษ์ วิจารณ์ และกดดันสื่อมวลชนให้อยู่ในกรอบของจริยธรรมและความถูกต้องได้ไม่น้อยทีเดียว แต่ก็มีเงื่อนไขที่สำคัญเหมือนกันว่าผู้บริโภคต้องตื่นตัวและเอาจริงเอาจังกับการตรวจสอบเนื้อหาของสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

ในการสะท้อนความคิดเห็นเพื่อปลุกกระแสและยับยั้งแนวคิดอันสุดโต่งของคณะกรรมาธิการของ สปท.ในอันที่จะผูกโซ่ตรวนหรือผูกคอควบคุมสื่อในครั้งนี้นั้นจะพบว่าผู้ที่ได้ชื่อว่านักวิชาการ อาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาหรือสังคมแห่งอุดมปัญญาไม่ว่าผู้ที่สังกัดในศาสตร์ด้านสื่อสารมวลชนหรือด้านกระบวนการยุติธรรม แม้กระทั่งนักศึกษาเองต่างเงียบเฉยเหมือนกับไม่ทุกข์ร้อนแห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว

จะมีอยู่บ้างก็เพียงไม่กี่คนที่ถูกเชิญไปขึ้นเวทีอภิปรายหรือสะท้อนผ่านสื่อออนไลน์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่น่าสนใจและต้องขอบคุณนักสื่อสารมวลชนมืออาชีพผู้ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมานานวันในการประกอบวิชาชีพสื่อจำนวนมากนี้โดยเฉพาะคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์อย่าง ลมเปลี่ยนทิศ ในหมายเหตุประเทศไทย จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐแสดงทรรศนะเพื่อสื่อสารให้เห็นถึงความไม่ควรที่จะมีร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวตอนหนึ่งว่า

“กฎหมายฉบับนี้ตั้งใจจะควบคุมสื่อไทย แต่ไม่แน่ใจว่าสื่อต่างประเทศ นักข่าวต่างประเทศ สื่อออนไลน์ต่างประเทศจะอยู่ใต้กฎหมายฉบับนี้ด้วยหรือไม่ โลกวันนี้เป็นโลกยุค 4.0 ไม่ใช่ยุคไดโนเสาร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังประกาศนโยบายประเทศเป็นไทยแลนด์ 4.0 ไปโรดโชว์เรียกร้องให้บริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกมาลงทุนในประเทศไทย จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการสื่อสารของภูมิภาค

แต่วันนี้สภาการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศกลับออกกฎหมายมาทำลายนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาลเอง มีกฎหมายฉบับนี้เมื่อไหร่ก็อย่าหวังว่าจะมีบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่ไหนในโลกจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์พูดและทำมาตลอด 3 ปีจะเสียเปล่า เพราะกฎหมายควบคุมสื่อฉบับเดียว” (ไทยรัฐ, วันที่ 4 พฤษภาคม 2560 หน้า 5)

หากศึกษาถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับเสรีภาพสื่อซึ่งรายงานโดยกลุ่มผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (อาร์เอสเอฟ) พบว่าวันนี้ประเทศ 5 อันดับแรกที่สื่อมีเสรีภาพมากที่สุดประกอบด้วย นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ เดนมาร์ก และเนเธอร์แลนด์ ในขณะที่ประเทศที่สื่อมีเสรีภาพในอันดับท้ายๆ ของโลกเช่น เกาหลีเหนือ อันดับที่ 180 เอริเทรีย อันดับที่ 179 เติร์กเมนิสถาน อันดับที่ 178 ซีเรีย อันดับที่ 177 จีน อันดับที่ 176 สำหรับประเทศไทยในปี 2560 นี้อยู่อันดับที่ 142 ซึ่งในปีก่อนอยู่ที่อันดับ 136

พูดถึงเสรีภาพของสื่อมวลชนระหว่างบ้านเรากับต่างประเทศในยุคของโลกดิจิทัลและโลกของพลังข้อมูลข่าวสารจะนำไปเทียบเคียงกับบางประเทศดังที่กรรมาธิการใน สปท.บางท่านกล่าวถึงและยกตัวอย่างว่าการมีกฎหมายควบคุมสื่ออย่างเข้มงวดอย่างประเทศสิงคโปร์ทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพสามารถพัฒนาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าเจริญเติบโตได้ แต่ถ้าคนในสังคมไทยใช้คำพูดในลักษณะที่เหมือนกับกรรมาธิการคนดังกล่าวในทำนองว่าประเทศสิงคโปร์สามารถพัฒนาประเทศไปสู่ความก้าวหน้าเจริญเติบโตได้เพราะรัฐบาลของเขาบริหารประเทศด้วยความซื่อสัตย์สุจริตไม่มีการหาประโยชน์เข้าตัวเอง

คำกล่าวนี้คงเทียบเคียงระหว่างเขากับเราคงไม่ได้ ทั้งนี้ เพราะแก่นแท้หรือบริบทในการปกครองประเทศมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงโดยเฉพาะในแง่ของอำนาจรัฐที่เป็นรัฐบาลพรรคเดียว

เพื่อให้สังคมไทย สื่อมวลชนไทยก้าวไกลสู่ไทยแลนด์ 4.0 แห่งอนาคตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ดังแนวนโยบายแห่งรัฐภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงขอนำแนวคิดของพระพรหมมังคลาจารย์ (เจ้าคุณธงชัย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรฯที่ท่านได้เมตตาฝากเป็นข้อคิดสำหรับคนไทยในยุคของการเปลี่ยนแปลงสู่นวัตกรรมใหม่ และทันต่อโลก

วันนี้คนไทยทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเข้าสู่การ Chang, Innovation, Idealist และ Freedom และด้วยแนวคิดนี้หาก

ผู้ที่จะผ่านกฎหมายควบคุมสื่อออกมานำไปประยุกต์เพื่อการเดินหน้าของประเทศไทยที่สร้างสรรค์เชื่อว่าน่าจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งของการตัดสินใจโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงไปสู่นวัตกรรมแห่งความคิดของอิสรเสรีที่ไม่มีใครมาครอบงำ

เมื่อเร็วๆ นี้จากผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนของบางสำนักโพล พบว่ารัฐบาลมีปัญหาที่จะต้องแก้ไขหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจและปากท้องตลอดจนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

หวังว่ารัฐบาลจะฟังความรอบด้านใช้เหตุใช้ผลไม่ดึงดันให้กฎหมายที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพของสื่อเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.มิเช่นนั้นกระแสตอบกลับจะรุนแรงส่งผลเสียต่อการพัฒนาและนำข้อมูลข่าวสารไปสู่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บทเรียนจากการออกกฎที่สวนกระแสสังคมอย่างห้ามนั่งหลังรถกระบะก็ดี หรืออีกหลายๆ ประเด็นที่สังคมกังขา รัฐต้องไม่ให้กลับมาเป็นสายล่อฟ้าเพื่อฟาดฟันตนเอง

การฟังความรอบด้าน การหันหน้าเข้าหากันด้วยเหตุและผลบนพื้นฐานของประโยชน์ส่วนรวมตามหลักของความพอดี พอเพียง รู้รักสามัคคีและเข้าใจ เข้าถึงในแก่นของปัญหาอย่างแท้จริงจะนำพาให้รัฐบาล สังคมและสื่อมวลชนเดินเคียงคู่ไปด้วยกันอย่างสง่างาม ซึ่งจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตลอดไป

รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร
ศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image