ดุลยภาพ ดุลยพินิจ การเมืองว่าด้วย เรื่องของสัญลักษณ์ โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร 12พ.ค.2560

สงกรานต์คราวนี้ว่าจะทำใจสบายๆ ให้คลายเครียด แต่ก็เป็นไปไม่ได้ ด้วยข่าวเรื่อง “หมุดหาย” และการเปลี่ยนหมุดใหม่ในชั่วค่ำคืน เครียดเพราะรู้สึกว่าบ้านเมืองไม่มีขื่อมีแปไปแล้วหรืออย่างไร

แต่เรื่อง “หมุดหาย” นี้ ก็ทำให้นึกถึงการเมืองของสัญลักษณ์ ซึ่งหมายถึงการใช้สัญลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อสำแดงจุดยืนทางการเมือง การขุดหมุดเก่าออก แล้วนำหมุดใหม่ใส่ลงไป นอกจากจะเป็นการสำแดงจุดยืนทางการเมืองในขั้วตรงกันข้ามกับคณะราษฎรแล้ว ยังเป็นการทำให้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากที่สุดชิ้นหนึ่งหายไป แต่แม้หมุดจะหาย สัญลักษณ์ยังอยู่ เพราะมีรูปของหมุดกระจายไปทั่วแล้ว นอกจากนั้น การหายของหมุดเป็นปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์เรื่องใหม่อีกเรื่องหนึ่ง และเป็นสัญลักษณ์ใหม่ด้วย

ที่จริงหมุดหายได้กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นให้แก่ผู้คนจำนวนมาก ซึ่งหลายๆ คนอาจจะไม่เคยรู้เรื่องหมุดที่คณะราษฎรได้ฝังไว้นี้มาก่อนเลย จึงอยากจะได้รับรู้เรื่องราวและกิจกรรมของคณะราษฎรและเรื่องอื่นๆ ที่ต่อเนื่องกันมากยิ่งขึ้นไปอีก เท่ากับปลุกเร้าให้สนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัยมากขึ้น

แน่นอนว่าฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยรับเรื่องหมุดหายนี้ไม่ได้ จึงมีปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้อย่างมากมาย และกรณีนี้ก็ได้ทำให้ประเทศไทยดังไปทั่วโลกอีกครั้งหนึ่ง

Advertisement

ผู้เขียนติดใจปฏิกิริยาของนายพิชัย รัตตกุล นักการเมืองผู้อาวุโสอายุ 91 ปี อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตประธานรัฐสภา ที่ตอบคำถามผู้สื่อข่าวความว่า “ตนทนไม่ได้ ทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้ก่อการสมัยนั้น แต่เห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ยุติธรรมโดยสิ้นเชิง” (“ ‘พิชัย’ ชี้ หมุดคณะราษฎรมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ซัดคนทำไม่คำนึงถึงปรองดอง” Matichon.co.th) โดยก่อนหน้าการให้สัมภาษณ์นี้ นายพิชัยได้ออกแถลงการณ์และแจกจ่ายสื่อมวลชน เมื่อเช้าวันที่ 18 เมษายน 2560

เป็นถ้อยแถลงที่สื่อความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา จึงขออนุญาตนำแถลงการณ์ของท่านบางส่วนซึ่งหนังสือพิมพ์มติชนลงข่าวมาให้อ่านกันดังนี้

“เมื่อคณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 นั้น ผมเพิ่งอายุ 6-7 ขวบ ไม่รู้ประสีประสาอะไร แต่เมื่ออายุมากขึ้น มีโอกาสได้พบและให้ความเคารพแก่ผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองหลายท่าน เช่น อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม พลเอกหลวงเสรี เรืองฤทธิ์ พันตรีควง อภัยวงศ์ และคุณชุณห์ ปิฑานนท์ เป็นต้น ผมไม่ทราบมาก่อนเลยว่าคณะราษฎรได้ทำหมุดเกี่ยวกับเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น และนำไปฝังไว้ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า มาทราบอีกทีและเป็นครั้งแรกก็เมื่อมีข่าวว่ามีคนมาขุดเอาหมุดนี้ออก และนำหมุดใหม่มาใส่แทนที่ แสดงว่า…จะต้องมีแผนการไว้ล่วงหน้า หมุดนี้ไม่ใช่หัวจ่ายน้ำประปา หมุดเดิมที่คณะราษฎรได้นำมาฝังไว้ 85 ปี มาแล้ว อาจจะไม่มีราคาค่างวดอะไร… แต่…มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และทางจิตใจอย่างยิ่ง ซึ่งไม่สามารถนำมาคำนวณเป็นตัวเงินได้ …การเอาหมุดเดิมออก ไม่ได้คิดสักนิดว่า …กระทบกระเทือนจิตใจ และความรู้สึกที่ไม่ดี …เป็นอย่างมาก และเป็นการ…ไม่นึกถึงความปรองดอง ความรักใคร่สามัคคีของคนในชาติเลย เจ้าหน้าที่ตำรวจก็แสนจะดี โดยแจ้งให้ผู้ไปแจ้งความว่า ใครเป็นเจ้าของหมุด ต้องให้เจ้าของมาแจ้งความเอง ผมก็อายุมากแล้ว ก็อยากเห็นบ้านเมืองเรียบร้อย ประชาชนมีความรักใคร่ปรองดองกัน แต่เหตุการณ์เรื่องหมุดนี้ ไม่นำไปสู่สิ่งที่ผมอยากเห็นเลย อย่ามาพูดว่า ให้มารักกันด้วยปาก อย่ามาพูดให้ปรองดองกันด้วยปาก ตราบใดที่ขาดความจริงใจ ตราบนั้นบ้านเมืองของเราก็ย่ำอยู่กับที่”

แล้วเราก็จะย่ำอยู่กับที่อีกนานเท่าใด?

แล้วเราจะเครียดกันไปอีกนานเท่าใด?

ผาสุก พงษ์ไพจิตร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image