นาตาแฮกแรกนาขวัญ โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ 12 พ.ค.2560

ขนบธรรมเนียมประเพณี เป็นคำที่มีความหมายกล้ำเป็น ขนบธรรมเนียม และขนบประเพณี พจนานุกรมฉบับมติชน พ.ศ.2547 ให้ความหมายไว้ว่า

ขนบธรรมเนียม คือแนวทางที่เคยทำต่อกันมา ขนบประเพณี คือ แบบอย่างที่วางไว้เป็นเกณฑ์ว่าควรปฏิบัติ ขณะที่แต่ละคำยังมีความหมายคล้ายคลึงกัน คือ ขนบ หมายความถึงระเบียบ แบบแผน ประเพณี กลีบ แนว ชั้น หรือรอยพับ เช่นสมุดหรือผ้าจีวร

ธรรมเนียม หมายความถึง แบบอย่าง แบบแผน ประเพณี

ประเพณี หมายความถึง แนวทางที่ปฏิบัติสืบมาจนเป็นแบบแผน (ภาษาปาก) เรียกงานในพิธีเทศกาล เช่น ประเพณีสงกรานต์ (ภาษากวี) ประเวณี เช่นสร้อยทองข้อยบ่ได้วี่แวว มิได้แผ้วพานพ้องประเพณี

Advertisement

วันนี้เป็นวันพืชมงคล คำอธิบายจากกูเกิลมีว่า พิธีทางพุทธศาสนา มีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎทรงกำหนดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นพิธีทำขวัญเมล็ดพันธุ์ต่างๆ เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ถั่ว งา เป็นต้น ฯลฯ มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นปราศจากโรคภัยและให้อุดมสมบูรณ์เจริญงอกงามดี

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีพราหมณ์ มีมาแต่โบราณ เป็นพิธีเริ่มต้นการไถนาเพื่อหว่านเมล็ดข้าว มีจุดมุ่งหมายให้เป็นอาณัติสัญญาณว่า บัดนี้ฤดูกาลแห่งการทำนาและเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว

พระราชพิธีทั้งสองได้กระทำเต็มรูปแบบมาเรื่อยถึง พ.ศ.2479 ได้เว้นไประยะหนึ่ง ด้วยสถานการณ์โลกและบ้านเมืองอยู่ในภาวะที่ไม่สมควรจัดงานใดๆ จึงว่างเว้นไป 10 ปี

Advertisement

ต่อมาทางราชการเห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม โดยเฉพาะทำนา ควรฟื้นฟูประเพณีเก่าอันเป็นมงคลแก่การเพาะปลูก ดังนั้น พ.ศ.2490 จึงกำหนดให้มีพิธีพืชมงคลขึ้นอีก แต่มีแค่พระราชพิธีพืชมงคล

ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2503 จึงจัดให้มีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญร่วมกับพิธีพืชมงคลถึงปัจจุบัน

พระราชพิธีเริ่มตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม เวลา 16.00 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงประกอบพิธีทางพุทธศาสนา ทรงอธิษฐานเพื่อความสมบูรณ์แห่งพืชผลของราชอาณาจักรไทย และทรงประกอบพระราชพิธีพืชมงคล เสร็จแล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ

วันที่ 12 พฤษภาคม วันพืชมงคล เวลา 7 นาฬิกา 19 นาที สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปยังมณฑลพิธีท้องสนามหลวง เพื่อทำหน้าที่พระยาแรกนา

เวลา 08.30 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังพลับพลาท้องสนามหลวง ระหว่างเวลาพระฤกษ์ พระยาแรกนาจะได้ยาตราพร้อมเทพีออกจากโรงพิธีพราหมณ์ผ่านพลับพลาหน้าพระที่นั่ง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายบังคมแล้วไปยังลานแรกนา เจิมพระโคและไถ แล้วจึงไถดะ ไถกลบ พราหมณ์เสี่ยงของกิน 7 อย่างตั้งเลี้ยงพระโค โหรหลวงถวายคำพยากรณ์ กระทั่งเสร็จพิธี จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับ

หนังสือ “อาหารไทย มาจากไหน ?” สุจิตต์ วงษ์เทศ เรียบเรียง (ราคา 315 บาท) อธิบายถึง “นาตาแฮก แรกนาขวัญ” จากภาพเขียนสีที่ผาหมอนน้อย ราว 2,500 ปีมาแล้ว มีรูปคนกับควายหรือวัว คล้ายกำลังเฮ็ดไฮ่เฮ็ดนา อยู่ท่ามกลางลายเส้นคล้ายจะเป็นต้นข้าว

น่าเชื่อว่ารูปคนกับควายและต้นข้าวกลุ่มนี้ที่เป็นศูนย์กลางของภาพทั้งหมด หมายถึงพิธีนาตาแฮกยุคแรกเริ่มราว 2,500 ปีมาแล้ว (ตามอายุภาพเขียนสี)

นาตาแฮกเป็นประเพณีราษฎร์ ที่ไพร่บ้านต้องทำเมื่อถึงฤดูทำนา เพื่อวิงวอนขอแกมบงการธรรมชาติบันดาลความสมบูรณ์

เมื่อมีการพัฒนาการเป็นบ้านเมือง กระทั่งมีราชสำนักขึ้นก็ทำนาตาแฮกเป็นประเพณีหลวง แล้วเรียกชื่อด้วยภาษาศักดิ์สิทธิ์ขึ้นว่า “จรดพระนังคัล แรกนาขวัญ” สืบมาจนทุกวันนี้

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image