ลดความเหลื่อมล้ำด้วย S Curve อาชีวอุดมศึกษา โดย สมพงษ์ จิตระดับ สุอังควาทิน, นวพร สุนันท์ลิกานนท์

ประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจะก้าวเข้าสู่ประเทศที่มีสัดส่วนประชากรส่วนใหญ่ที่เป็นผู้สูงอายุ

และในสังคมผู้สูงอายุนี้เองที่เป็นความท้าทายในการพัฒนากลไกการขับเคลื่อนประเทศ

แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนอกจากจะขยายอายุการทำงานของข้าราชการ กำลังคนพลเรือนที่มีความสามารถจากเกษียณอายุราชการที่ 60 ปี เป็น 65 ปีแล้ว การเตรียมความพร้อมคนรุ่นใหม่ที่เป็นวัยทำงานก็นับว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง

การที่จะพัฒนากำลังคนทั้งระบบต้องอาศัยการทำงานเชิงบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน แต่ตลอดเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยต้องตกอยู่ในสภาวะแช่แข็งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยมีสาเหตุหลักจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งแล้วครั้งเล่า

Advertisement

แค่เพียงการผลักดันการทำงานเชิงบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐเอง ยังมีปัญหาเรื่องโครงสร้างและการบริหารจัดการงบประมาณที่ติดขัด ไม่คล่องตัว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นเรื่องใหญ่ซึ่งต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงต่างๆ จึงถูกกระทำจากนโยบายที่ไม่ต่อเนื่อง เป็นไปคนละทิศคนละทาง ส่งผลให้การพัฒนาคนของประเทศเป็นไปตามยถากรรมและตามกำลังของครอบครัวเท่าที่พอจะส่งเสียเลี้ยงดูลูกหลานของพวกเขาได้

ครอบครัวชนชั้นกลางขึ้นไป ที่พ่อแม่ผู้ปกครองพอมีฐานะ หน้าที่การงานมั่นคงพอสมควร จะสามารถส่งเสียเลี้ยงดูให้บุตรหลานได้รับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นได้อย่างตลอดรอดฝั่ง

ข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน ปี 2556 พบว่ามีเด็กด้อยโอกาส 3-5 ล้านคน จากกลุ่มประชากรวัย 0-18 ปี กว่า 16 ล้านคน

Advertisement

กลุ่มเด็กและเยาวชนเหล่านี้มีความเสี่ยงหลากหลายลักษณะ เช่น เป็นกลุ่มเด็กยากจน เด็กกายพิการและบกพร่องทางการเรียนรู้ เด็กเร่ร่อน เด็กในสถานพินิจฯ ลูกแรงงานต่างด้าว แม่วัยใส เป็นต้น ซึ่งเด็กเยาวชนกลุ่มนี้เกิดจากการลาออกกลางคันและผลักออกจากระบบการศึกษา ขาดโอกาสในการพัฒนาต่อเพื่อประกอบสัมมาชีพ และมีความเสี่ยงต่อการเป็นยุวอาชญากรโดยเฉพาะเด็กในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้เห็นแนวโน้มจำนวนประชากรเด็กและเยาวชนที่ลดลงแต่ด้อยคุณภาพ

โดยมีจำนวนเด็กและเยาวชนทั้งหมดของประเทศกว่า 14 ล้านคน ตามสถิติประชากรปี 2559 การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกหน่วยยิ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ

การศึกษาหลายทางสะท้อนสภาพความเหลื่อมล้ำของคุณภาพชีวิตของคนไทยทั่วประเทศ จนกลายเป็น 2 ใน 6 ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศระยะ 20 ปี

กล่าวคือ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาและการส่งเสริมศักยภาพคน และยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันทางสังคม (ร่างกรอบยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี พ.ศ.2560-2579)

รัฐบาลจำเป็นต้องพัฒนาคนกลุ่มด้อยโอกาสด้วยการเปิดโอกาสให้เข้าถึงการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา สายอาชีพและมหาวิทยาลัย โดยจำเป็นต้องให้ทางเลือกที่เปิดกว้างแก่เด็กและเยาวชน พร้อมทั้งพัฒนาความรู้ ความสามารถ ทักษะชีวิต และทักษะอาชีพ เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถตัดสินใจเลือกเส้นทางในการพัฒนาตนเองสู่การประกอบอาชีพได้อย่างมีจุดหมาย

รัฐบาลจึงควรใช้มาตรการบางประการเข้าจัดการสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการผลิตกำลังคนแบบปล่อยตามยถากรรมปกติ ทำให้ทิศทางการพัฒนากำลังคนผ่านระบบการศึกษาไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนในตลาดแรงงานและหน่วยงานราชการในระดับภูมิภาคที่ต้องการคนที่มีความสามารถพัฒนาท้องถิ่นตนเอง

จากผลสำรวจของอุตสาหกรรมได้คาดการณ์ความต้องการกำลังคนเพื่อเป็นแรงงานใน 14 กลุ่มอุตสาหกรรมสายการผลิต ประมาณกว่า 680,000 คน โดยแบ่งเป็นแรงงานที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือต่ำกว่าร้อยละ 58 จบการศึกษาระดับ ปวช./ปวส. ร้อยละ 29 และจบการศึกษาระดับปริญญาตรีร้อยละ 13 จะเห็นได้ว่าการปล่อยให้การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์แบบตามยถากรรมและค่านิยมของสังคมไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ

ปัจจุบันมีผู้ที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีจำนวนมากที่ต้องอยู่ในสภาวะตกงาน ในขณะเดียวกันกลุ่มที่เข้าไม่ถึงโอกาสยิ่งอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการสร้างปัญหาสังคม ทั้งที่กลุ่มคนเหล่านี้ก็นับเป็นกำลังคนของประเทศเช่นเดียวกัน

ความเร่งด่วนที่รัฐต้องเข้าจัดการ คือ สร้างความเสมอภาคต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทุกหน่วยที่นับเป็นประชากรของชาติ ผ่านการพัฒนาการศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศไปพร้อมกับการไม่ละทิ้งความต้องการและความถนัดของคนรุ่นใหม่

การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างเสมอภาคกันทุกฝ่ายต้องอาศัยการปฏิรูปสังคมเชิงโครงสร้างทั้งระบบ การเข้าถึงการดูแลคุณภาพชีวิตมนุษย์ต้องเริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์ซึ่งบทบาทสำคัญตกอยู่ที่สาธารณสุข หากแต่ความเป็นจริงแล้วเป็นหน้าที่ของทุกคน ทุกหน่วยงานที่ช่วยกันส่งเสริมการเข้าถึงสาธารณสุขที่มีคุณภาพตั้งแต่ระดับท้องถิ่น อนามัยเจริญพันธุ์ การวางแผนครอบครัว การดูแลบุตรในครรภ์ เป็นเรื่องที่ต้องให้ความรู้กับคนทุกกลุ่ม สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ผ่านทุกโครงสร้างทางสังคมเพื่อป้องกันไม่ให้มีกลุ่มคนที่ต้องหลุดกลายเป็นกลุ่มเปราะบาง กลุ่มด้อยโอกาส

การพัฒนาโดยปฏิรูปทั้งโครงสร้างต้องอาศัยการวางแผนจัดการศึกษากระแสหลักตามแนวทาง S Curve ทางการศึกษาและสังคม มุ่งให้การศึกษาแก่เด็กตั้งแต่ชั้นปฐมวัยโดยเน้นให้เด็กมีพัฒนาการร่างกาย สติปัญญาสมวัย ผ่านหน่วยการเรียนรู้บูรณาการ เข้ารับการศึกษาต่อเนื่องในระดับประถมศึกษา มุ่งเน้นพัฒนาทักษะคิดและปฏิบัติการผ่านหลักสูตรสมรรถนะ เสริมศักยภาพเพื่อมุ่งตอบความต้องการในการประกอบอาชีพ

สนับสนุนให้กลุ่มเด็กด้อยโอกาสสามารถตัดสินใจเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ตามความถนัดและตรงความต้องการกำลังคนของประเทศในอัตราสายสามัญต่อสายอาชีวศึกษา 50:50 โดยมีหน่วยงานคลังสมองของรัฐในการศึกษาวิจัยเพื่อกำกับติดตามและประเมินความสำเร็จของนโยบายอันจะนำไปสู่การสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพตลอดทั้งโครงสร้างและมีแนวทางที่ยั่งยืนมากขึ้น

ดังแผนภาพ S Curve ทางการศึกษาและสังคม

เพื่อให้เกิดแนวนโยบายของรัฐและมาตรการแทรกแซงอย่างเป็นรูปธรรม ผู้เขียนจะขอลงรายละเอียดสำคัญของ S Curve 2 ด้านดังต่อไปนี้

1.สร้างระบบการศึกษาเพื่อการมีงานทำควบคู่กับสายสามัญศึกษา ในกลุ่มประเทศเยอรมนี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ออสเตรเลีย สายการศึกษาด้านอาชีวศึกษาเป็นเส้นเลือดใหญ่ โครงร่างความเจริญของประเทศสำคัญเท่ากันหรือยิ่งกว่าสายสามัญศึกษา สำหรับประเทศไทยต้องวางรากฐาน สร้างค่านิยมใหม่ ระบบโรงเรียน หลักสูตรการศึกษา การเรียนรู้เน้นการปฏิบัติ สร้างผลงาน ผลิตนวัตกรรม และอื่นๆ กล่าวคือ

1.1 ระดับปฐมวัย สร้างหลักสูตรบูรณาการ เน้นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ จินตนาการ เตรียมความพร้อมพัฒนาการเด็กตามวัย การให้เล่นกับสิ่งประดิษฐ์ เตรียมสมองให้เจริญเติบโตเต็มที่

1.2 ระดับประถมศึกษา พัฒนาหลักสูตรเน้นสมรรถนะ 3R8C ให้เด็กมีทักษะการอ่าน เขียน คิดเลขเป็น ทักษะการแก้ปัญหา การทำงานเป็นทีม ทักษะคอมพิวเตอร์ ทักษะอาชีพเบื้องต้น ความมีวินัย ตรงต่อเวลา ความซื่อสัตย์ และอื่นๆ

1.3 ระดับมัธยมอาชีวศึกษา เน้นหลักสูตร Dual System ทวิภาคี การเตรียมตัวตน ค้นพบศักยภาพตนเอง ความถนัด การแนะแนวที่ให้ข้อมูลรอบด้าน ต้องมีโรงเรียนเชิงทวิภาคีของรัฐกับผู้ประกอบการ สร้างและผลิต Smart Farmer ผู้ประกอบการรายย่อย SMEs ช่างฝีมือระดับต่างๆ ตามที่ตลาดต้องการ เตรียมการในเรื่องของระบบกฎหมาย สวัสดิการของรัฐ ระบบข้อมูล โรงเรียนแบบนี้ต้องจัดตั้งใหม่ แยกออกเป็นสัดส่วน 50:50 กับโรงเรียนสายสามัญศึกษาที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก

1.4 ระดับอาชีวอุดมศึกษา ให้ความสำคัญด้านปริญญาตรีทางการลงมือปฏิบัติ การประยุกต์ใช้ การวิจัยและนวัตกรรมการศึกษา การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ การส่งเสริมการท่องเที่ยว การบริการ เกษตรผสมผสาน สีเขียวปลอดสารพิษ และอุตสาหกรรมสะอาด เป็นต้น

2.การแทรกแซงของรัฐบาล (Intervention) การจะทำให้เกิด S Curve ระบบอาชีวศึกษา สามัญศึกษา 50:50 เกิดขึ้นได้ รัฐต้องเข้าไปจัดการแทรกแซงตรงไปตรงมา คำนึงถึงประโยชน์ระยะยาวและสิทธิเด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาส กล่าวคือ

2.1 การปฏิรูประบบโรงเรียน หลักสูตรการศึกษา การแนะแนวอย่างจริงจัง วางแนวนโยบายให้ปฏิบัติสอดรับกัน ข้าราชการผู้รับผิดชอบโดยตรง การเจริญเติบโตของสายงานผู้ที่เกี่ยวข้อง การกำหนดบทลงโทษที่เข้มงวดเด็ดขาดในกรณีมีการบาดเจ็บ เสียชีวิตของนักศึกษา การส่งต่ออย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

2.2 การลดบทบาทของรัฐให้น้อยลงแต่เพิ่มบทบาทของเอกชนท้องถิ่นให้มากยิ่งขึ้น สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าระดับประเทศในเชิงนโยบายประชารัฐ ระบบทวิภาคี หลักสูตรออกแบบร่วมกัน การลดหย่อนภาษี รายได้ที่เป็นธรรม ในขณะเรียนรู้ เรียนทฤษฎี 2 วัน ลงมือปฏิบัติในสถานประกอบการ 3 วัน

2.3 การออกกฎหมายที่สำคัญ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ แผนการศึกษาแห่งชาติ ซุปเปอร์บอร์ด พระราชบัญญัติทวิภาคีอาชีวอุดมศึกษา ระบบการผลิตครูสายอาชีวศึกษา เป็นต้น

2.4 กองทุนการศึกษาเพื่อเด็กยากจน ด้อยโอกาสตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เน้นการเรียนฟรีอย่างแท้จริงตลอดหลักสูตรจนจบปริญญาตรี ทุน ODOS 1 อำเภอ 1 ทุนด้านอาชีวะต่างประเทศ และอื่นๆ

2.5 การประชาสัมพันธ์เชิงรุกต่อเนื่องและการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเด็กยากจน ด้อยโอกาส 3-5 ล้านคน สร้างค่านิยมใหม่ ผลิตสื่อ Social Media ลดความหวั่นเกรง ส่งลูกเรียนอาชีวะ ส่งลูกไปตาย เป็นต้น

การลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้และทางสังคมด้วยกระบวนการสร้าง หล่อหลอม ขัดเกลาทางอาชีวศึกษา การมีงานทำ รายได้ที่มั่นคง ช่วยทำให้ประเทศไทยพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้แต่ถ้าเรายังปล่อยตามระบบการศึกษาเพื่อคนเพียง 40% ที่ได้ประโยชน์จากระบบแข็งขัน แพ้คัดออก และทิ้งเด็กจำนวนมากไว้ข้างหลัง แทบจะกำหนดได้ว่า อนาคตแทบไม่มีทางเลือกเลย เป็นยุวอาชญากรบ้าง ผู้ใช้แรงงานราคาถูก ผู้ว่างงานไม่มีรายได้ อันล้วนแต่นำมาซึ่งภาระและเป็นปัญหาสังคมมากมาย

ถึงเวลาที่รัฐต้องมองเส้นทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาสด้วยวิสัยทัศน์ใหม่ S Curve อาจเป็นคำตอบให้กับรัฐไทยได้ทางหนึ่งทีเดียว

สมพงษ์ จิตระดับ สุอังควาทิน
นวพร สุนันท์ลิกานนท์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image