หวานอม ขมกลืน ”ศุกร์’เข้า’เสาร์’แทรก เศรษฐกิจ การเมือง

เหมือนกับการปรากฏขึ้นของ “ร่าง” รัฐธรรมนูญฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ จะดำเนินไปประหนึ่งว่าเป็น “สายล่อฟ้า” ในทางการเมือง

อาจ “ใช่”

ใช่เพราะว่าเรื่องของ “ร่าง” รัฐธรรมนูญมากด้วยความละเอียดอ่อน เนื่องจากเป็นประเด็นที่สอนกันมาอย่างยาวนานว่ามีความสำคัญ

เพราะเป็น “กฎหมายสูงสุด” ของประเทศ

Advertisement

กระนั้น ต่อให้เรื่องของ “ร่าง” รัฐธรรมนูญมากด้วยความล่อแหลมมากเพียงใด แต่หาก “เปิดตัว” ขึ้นในจังหวะอันเหมาะสม

ที่คิดว่าเป็น “เรื่องร้าย” อาจกลับกลายเป็น “เรื่องดี”

แต่เมื่อเป็นการเปิดตัว หรือ LAUNCE อย่างไม่ได้จังหวะจะโคน ประเด็นต่างๆ อันปรากฏอยู่ใน “ร่าง” รัฐธรรมนูญจึงถูกขยาย จึงถูกตีความจนบานเบอะ

Advertisement

ไม่ว่าจะจาก “ประชาธิปัตย์” ไม่ว่าจะจาก “เพื่อไทย”

ถามว่าอะไรคือจังหวะที่ไม่เหมาะสม ถามว่าอะไรคือปัจจัยอันทำให้ประเด็นของ “ร่าง” รัฐธรรมนูญกลายเป็นปัญหาและทวีความร้อนแรงเป็นทบเท่าทวีคูณ

คำตอบก็คือ “เศรษฐกิจ”

ประเด็นในทางเศรษฐกิจได้กลายเป็นความร้อนแรง และกลายเป็นตัวฉุดรั้งและดึงให้การปรากฏขึ้นของ “ร่าง” รัฐธรรมนูญกลายเป็นตัวปัญหาได้อย่างไร

เรื่องนี้ต้องศึกษาจาก “ยุโรปตะวันออก”

เรื่องนี้ต้องศึกษาบทเรียนจาก “อาหรับสปริง” หรือแม้กระทั่งต้องศึกษาบทเรียนจากความพ่ายแพ้ของรัฐบาลทหารในการเลือกตั้งของ “เมียนมา”

วิกฤตอันเกิดขึ้นในยุโรปตะวันออกกระทั่งกำแพงเบอร์ลินต้องพังทลายมาจากปัจจัยอะไร

คำตอบรับรู้กันอย่างเด่นชัดว่าเกิดจากความล้มเหลวในปัญหาทาง “เศรษฐกิจ” รัฐบาลคอมมิวนิสต์อาจมากด้วยคำหวาน ปลอบประโลมใจในทางการเมือง ฝันไปไกลถึงสังคม “ยูโทเปีย” ที่ชนชั้นกรรมาชีพจะต้องได้ตามความต้องการ

แต่ความจริงที่ประชาชนในยุโรปตะวันออกรับรู้อย่างต่อเนื่องก็คือ ภาวะขาดแคลนอย่างชนิดที่ไม่สามารถ “กินอิ่ม นอนอุ่น”

ยุโรปตะวันออกเป็นเช่นนี้ ดินแดนอาหรับก็เป็นเช่นนี้

ยิ่งในเมียนมานับแต่ภายหลังวิกฤตในเดือนสิงหาคม 2531 เป็นต้นมา คนเมียนมาที่อพยพออกไปแสวงโชคในต่างประเทศเป็นเรื่องปกติ เพราะชาวเมียนมาไม่มีความหวังอะไรกับรัฐบาลทหารที่ถนัดในการยึดอำนาจ แต่ไม่ถนัดในการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน

ในที่สุดชาวเมียนมาก็ทำสงครามสั่งสอนผ่านกระบวนการของ “การเลือกตั้ง”

ภาวะในทาง “เศรษฐกิจ” จึงส่งผลสะเทือนต่อ “การเมือง” อย่างล้ำลึกและรุนแรง

ถามว่าแล้วทีมเศรษฐกิจชุดของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งมาแทนที่ชุดของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล มิได้จุดประกายแห่งความหวังให้กับประชาชนได้หรือ

ได้แต่ก็เสมอเป็นเพียง “ความหวัง”

ความหวังอันได้จากความพยายามในการทุ่มเงินลงไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ความหวังที่นำเอาคำว่า “ประชานิยม” มาตกแต่งใหม่เป็น “ประชารัฐ”

กระนั้น เมื่อความเป็นจริงได้ “เผยแสดง” ออกมา กลับมิได้เป็นเช่นเดียวกับ “คำประกาศ”

การส่งออกที่ตั้งเป้าว่าจะทะยานไปสู่หลักร้อยละ 5 กลับกลายเป็นเพียงเดือนแรกของปี 2559 ก็ต้องติดลบร้อยละ 8.91

จำเป็นที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องลดเป้า “จีดีพี”

จำเป็นที่ดัชนีความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรมต้องโยกเยก คลอนแคลน จำเป็นที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต้องลดระดับลง

ทั้งนี้ แทบไม่ต้องกล่าวถึงดัชนีความเชื่อมั่นในภาคการเกษตร

ภาวะชะลอตัวและต่ำเตี้ยติดดินในทางเศรษฐกิจเช่นนี้สามารถอ้างได้ 1 เป็นเพราะเศรษฐกิจโลก และ 1 เป็นเพราะความผิดพลาดและล้มเหลวจากรัฐบาลก่อน ไม่ว่ารัฐบาลพรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2544 ไม่ว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยเมื่อปี 2554

แต่อย่าลืมว่ารัฐประหาร 2549 ผ่านมา 10 ปีแล้ว และรัฐประหาร 2557 ผ่านมาเกือบ 2 ปีแล้ว

การเปิดตัว “ร่าง” รัฐธรรมนูญ บนซากหักพังในทาง “เศรษฐกิจ” จึงเท่ากับเป็นการซ้ำเติมในทาง “การเมือง”

ความสามารถทางด้าน “การตลาด” โดยทีมเศรษฐกิจ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อาจมีอยู่ในระดับสูงสุด แต่การตลาดจะอาศัยเพียง “วาทกรรม” อย่างเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องอยู่กับ “ความเป็นจริง”

“ความเป็นจริง” จะฟ้องทั้งด้านที่ “สำเร็จ” และด้านที่ “ล้มเหลว”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image