ผมก็จบจุฬาฯ – ขอพูดเรื่องเนติวิทย์ด้วยคน : โดย ไพฑูรย์ ปานสูง

ผมมาจากครอบครัวยากจน พ่อเป็นครูประชาบาล เงินเดือน 900 บาท แม่ขายส้มตำข้างถนน จบจาก ร.ร.ประจำจังหวัด (นครพนมปิยะมหาราชาลัย) มาต่อที่ ร.ร.สันติราษฎร์บำรุง แล้วเข้าจุฬาฯเมื่อปี 2501
ถ้าถามว่าภาคภูมิใจไหมที่เข้าจุฬาฯ ต้องตอบว่ามากถึงมากที่สุด เข้าจุฬาฯทำให้ผมได้มีโอกาสเรียนจากครูอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิเปี่ยมด้วยเมตตา มาสอนนิสิตด้วยจิตอาสาเพื่อสานปณิธานในหลวง ร.5 ที่ต้องการให้ประชาชนไทยมีความรู้สูงขึ้น เพื่อพัฒนาบ้านเมือง

ที่นี่ผมได้เรียนกฎหมายจากองคมนตรีธานินทร์ เรียนวิชาภาษีอากรจากหม่อมเจ้า (พวกเราเรียกท่านแจ๊ค) ซึ่งใจดีมากๆ สอนให้เข้าใจเรื่องคิดและกรอกภาษี และประโยชน์ของภาษีที่มีต่อประเทศชาติ ทำให้ผมมีความภาคภูมิใจยิ่ง เมื่อทำงานและถูกหักภาษีครั้งแรก เพราะรู้ว่าภาษีที่เราจ่ายไปเพื่อทำนุบำรุงบ้านเมือง (แน่นอนรวมทั้งจุฬาฯเราด้วย) มีคณบดีที่เป็นถึงพระยาผู้มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ งบที่ท่านได้มาสร้างตึกเหลือท่านส่งคืนคลัง ทำให้เราจำเป็นแบบอย่างเพื่อดำเนินชีวิตต่อไป

ตลอด 4 ปีที่เรียน เราได้ซึมซับความเป็นจุฬาฯโดยไม่รู้ตัว ไม่มีใครหรอกครับที่จบแล้วไม่รักจุฬาฯ (รวมถึงสถาบันอื่นๆ ด้วยเช่นกัน)

เราต้องยอมรับสิ่งที่ว่า เกิดขึ้น คงอยู่ ดับไป (เปลี่ยนแปลง) ดังนั้น เราจะมาคิดว่าจุฬาฯตอนนี้ต้องเหมือนเมื่อปี 2501 แค่คิดก็บ้าแล้วละครับ

Advertisement

ประเพณีเป็นสิ่งดีงาม ที่ควรรักษา และปรับปรุงให้เข้ากับสมัยเพื่อให้คงอยู่

รุ่นผมเป็นรุ่นแรกที่การรับพระราชทานปริญญาบัตรเป็นการยืนรับอย่างปัจจุบันเปลี่ยนจากการนั่งรับเมื่อก่อนหน้า ตอนแรกพวกเราก็เสียใจว่า เราอยู่ห่างพระเจ้าอยู่หัวไปหน่อยเมื่อเทียบกับรุ่นก่อน แต่เราก็เข้าใจเหตุผลว่าทำไมถึงเปลี่ยน ขอเรียกว่าปรับปรุงจะดีกว่า เพราะการรับแบบปัจจุบันใช้เวลาน้อยกว่าการนั่งรับแบบอดีต ผลก็คือพระเจ้าอยู่หัวใช้เวลาน้อยลง (พูดตรงๆ ก็คือพวกเราทรมานท่านน้อยลงนั่นเอง) ซึ่งเป็นผลดีต่อพระองค์

ขอพูดเรื่องความรักจุฬาฯ ซึ่งแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน ผมดีใจทุกครั้งเมื่อรู้ว่าจุฬาฯถูกจัดเป็นมหาวิทยาลัยอันดับโลก ดีใจทุกครั้งเมื่อทราบว่าทีมนิสิตจุฬาฯไปชนะเลิศการแข่งขันเสนอเรื่องธุรกิจจากต่างประเทศ และดีใจและภาคภูมิใจตอนเรียนที่รู้ว่าจุฬาฯเป็นตัวนำในการเดินขบวนต่อต้านการเลือกตั้งสกปรกสมัยปี 2500 และเอาใจช่วยศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาต่อต้านทรราช เพราะคิดว่าสถาบันอุดมศึกษาเป็นสมองของชาติ ต้องเป็นตัวนำสังคม และความคิดเพื่อการพัฒนาเปลี่ยนแปลงประเทศในทางที่ถูกที่ควร

Advertisement

สิ่งที่ผมไม่เข้าใจก็คือ ครูบาอาจารย์ที่สอนวิชากฎหมายก็ดี รัฐศาสตร์ก็ดี หรือเศรษฐศาสตร์ที่รู้ถึงผลเสียของระบบผูกขาด (เศรษฐกิจกับอำนาจเหมือนกัน) ก็ดี ท่านสอนนิสิตให้รู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี แต่ทำไมท่านจึงไปลอยหน้าลอยตาร่วมมือกับพวกผูกขาด แทนที่จะปฏิเสธเพราะรู้ว่ามันไม่ดี ตรงข้ามกับที่ท่านสอนลูกศิษย์ ท่านลองคิดดู ถ้าพวกท่านไม่ร่วมมือซะอย่าง มันจะไปได้สักแค่ไหน

ผมว่าการทำแบบนี้มีผลต่อชื่อเสียงมหาวิทยาลัยมากกว่าเนติวิทย์หลายเท่า

เนติวิทย์เป็นเด็กรุ่นใหม่ มีความคิดปรับปรุง เปลี่ยนแปลงของเดิมที่มีอยู่ ที่เขาเห็นว่าน่าจะมีสิ่งที่ดีกว่า เราเคยคิดว่าประเทศเราไม่เจริญเพราะเด็กๆ เอาแต่ท่องตำรา ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ แต่พอมีคนคิด (และบังเอิญไม่เหมือนเรา) เราในฐานะอาวุโสกว่าก็ไปตำหนิว่าเขาจะทำลายสถาบัน

ผมว่าลำพังเนติวิทย์และความคิดของเขาไม่มีวันทำลายสถาบันได้หรอกครับ คนที่ทำลายสถาบัน คือคนที่ไม่คิดปรับปรุงอะไร ด่าอย่างเดียว แล้วก็หาสมัครพรรคพวกให้มาช่วยกันด่า

ขอถามว่าแล้วไงต่อ? มีอะไรใหม่ไหมครับ? ปรากฏว่าไม่มี คือด่าแล้วเลิก

ขอพูดกับเนติวิทย์อย่างนี้ครับ คุณเดินหน้าแนวคิดของคุณไปเถอะ ตราบใดที่แนวคิดของคุณเพื่อปรับปรุงสังคมให้ดีขึ้นก็จะเอาใจช่วย

แต่เมื่อไหร่ทำเพื่อให้ตัวเอง “ดัง” ละก็จะขอ “ถุย”

ไพฑูรย์ ปานสูง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image