…”มีไปทำไม”… โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

ตั้งแต่เกิดจนรู้ความเป็นเด็กเล็ก เป็นนักเรียนในชั้นประถม มัธยม จนเติบโตเป็นนักศึกษา นิสิต เราได้รับการเรียนรู้ สั่งสอนเสมอว่า หนูๆ ทุกคนพึงรู้ว่า ปัจจัย 4 ที่จำเป็นต่อคนเราคือ บ้านที่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ยารักษาโรค แต่เมื่อโลกและสังคมวิวัฒนาการไปก็ก่อให้เกิด “ชีวิตในรูปแบบใหม่เสมอ” (Modern) ปรุงแต่งให้สมบูรณ์แบบยิ่งๆ ขึ้น เช่น มีรถจักรยาน รถจักรยานยนต์ มีรถปิกอัพ รถเก๋งไต่อันดับจากรถญี่ปุ่นไปสู่รถยุโรป เท่านั้นยังไม่พอ ทุกคนทุกบ้านต้องมีวิทยุ ทีวี โทรศัพท์มือถือ ไอแพด ไอโฟน…นั่นคือ…ความต้องการมีมากมายโดยเฉพาะ “ด้านวัตถุ” ทั้งหลายทั้งปวง ก้าวเข้ามาสู่ด้านสังคม เศรษฐกิจ โดยเฉพะ “การเมือง” นับแต่ “สถาบันครอบครัว” เป็นองค์กรหลักของสังคมขาดเสียไม่ได้ มีบิดามารดาอบรมสั่งสอนว่า นอกจากการกินการอยู่ นิสัยใจคอ และบอกว่าพ่อแม่สำคัญนะ ต้องดูแลท่านตอนแก่ และอยู่ในบ้านต้องมี “กติกา” ของครอบครัว นั่นคือ มี “วินัย” ของครอบครัว ต้องเคารพกันตามลำดับขั้น มี พ่อ แม่ พี่คนโต น้องคนเล็ก รวมถึงอีกสิ่งหนึ่งก็สำคัญคือ การรู้ “หน้าที่” บทบาทของแต่ละคน จัดการให้มีระบบระเบียบให้ดีที่สุด การดำเนินชีวิตของครอบครัวจะนำไปสู่ความสงบสุข โดยเฉพาะแต่ละครอบครัวต้องอยู่ภายในกรอบของการมีศีลธรรมที่ดีงาม เคารพในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เด็กเคารพผู้ใหญ่ และทุกคนในครอบครัวต้องดูแลกันอย่างมี “ประชาธิปไตย” ในครอบครัว ในสิทธิเสรีภาพ เสมอภาคกัน

ในครัวเรือน…พ่อ แม่…ปกครองดูแลลูก ต้องให้อิสรภาพ เสรีภาพ และลูกๆ ก็ต้องมีวินัยในครอบครัวตามวัฒนธรรมไทยที่ดีงาม เคารพกตัญญูต่อพ่อแม่ เคารพพี่ๆ น้องๆ และที่สำคัญคือเราเป็นคนชาติไทย นอกจากมีหลายๆ อย่างที่ดีงามดังกล่าวแล้ว โดยประเพณี การปกครองประชาชนไทยเราผ่านมาหลายร้อยปี ตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา กรุงธนบุรี ถึงกรุงรัตนโกสินทร์ เรามีสถาบันที่เทิดทูนสืบเนื่องกันมาในจารีตประเพณีปฏิบัติคือ “สถาบันพระมหากษัตริย์” ซึ่งสมัยรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยพระราชทานระบบการปกครองประเทศให้มีรูปแบบเป็นสากลปฏิบัติตามนานาชาติ อารยประเทศ พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรก ซึ่งเป็น “กฎหมายสูงสุดของประเทศ” ซึ่งเป็นวิวัฒนาการการปกครองที่ดีงาม…นั่นคือสิ่งที่ดีงาม ผู้เฒ่าผู้แก่…ปูชนียบุคคล…มอบให้เป็นมรดก…ให้กับลูกหลานคนไทย มาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน 83 ปีแล้ว…

หากมาดูสถานการณ์ปัจจัยแวดล้อม บ้านเมืองของเรามีหลายอย่าง เป็นข้อพึงสังเกตหลายประการที่จะถึงทางแพร่ง มีคนไทยทุกคนตั้งแต่ผู้นำประเทศ ผู้บริหารระดับประเทศ โดยเฉพาะแม่น้ำ 5 สาย ซึ่งนำพาประเทศมีการปกครองระบบ… “รัฏฐาธิปัตย์” เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบ “ประชาธิปไตย” มาสู่ระบบ “การปกครองโดยทหาร” จากวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 มาจนถึงปัจจุบัน 1 ปีครึ่ง มีความพยายามในการมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปี 2558 ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จด้วยการล้มรัฐธรรมนูญโดยฝ่ายรัฐบาลเสียเอง

และขณะนี้ก็เป็นการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ภายใต้การปกครองของ “รัฐบาลปัจจุบัน” โดยมีท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ และ 29 มีนาคม 2559 ก็จะเป็นวันที่ครบกำหนดที่จะยุติการปรับแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่หลายฝ่ายเสนอ…ขอให้มีการแก้ไข หากเราติดตามดู…บ้านเมือง ดวงบ้านเมือง สื่อสารมวลชน ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ ทีวี โซเชียลมีเดีย มีข้อสะกิดเตือนใจหลายอย่าง ซึ่ง “ผู้นำ” ประเทศทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้องต้องสดับรับฟังช่วยกัน ใช้สติปัญญา…ความรอบคอบ ละเอียดอ่อน ปรับเข้าหากันอย่างละมุนละม่อม อย่าใช้… “อารมณ์” … อย่าประมาทเด็ดขาด

Advertisement

เพราะในอดีตมีบทเรียนให้เราแล้ว ตามที่สื่อหลายฉบับเขียนข้อคิดไว้ และผู้เขียนได้เขียนเรื่อง “กรรม” …ไว้ฉบับวันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559… ให้ดูการ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ในปี 2534 และประกาศใช้นำมาสู่การเลือกตั้งปี 2535 ได้รัฐบาลใหม่ มีนายกรัฐมนตรีชื่อ “พลเอกสุจินดา คราประยูร” และเกิดการคัดค้านด้านความคิด ซึ่งละม้ายกับสถานการณ์ปัจจุบันขณะนั้น นอกจากประชาชน นิสิต นักศึกษา พรรคการเมือง คัดค้าน “พลตรีจำลอง ศรีเมือง” ก็เป็นผู้นำคัดค้านต่อต้านอย่างรุนแรง นำไปสู่การต่อสู้ระหว่างรัฐกับประชาชน มีการนองเลือดที่เราเรียกว่า “พฤษภาทมิฬ”… อะไรคือประเด็นให้ชวนคิด ชวนติดตาม อย่ากะพริบตา ทุกอย่างทุกเหตุการณ์เป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” ได้ทันที หาก… “ประมาท” …หากไม่แคร์…ถึง ณ วันนี้มีอะไรบ้าง…?

ผ่านมาหนึ่งปีครึ่ง นับตั้งแต่มีการยึดอำนาจ เปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบบประชาธิปไตยมาสู่เผด็จการ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ด้วยเหตุผลตามที่เราทราบอยู่จากสื่อต่างๆ และข้อเท็จจริง ถึงตอนนี้ จุดนี้ คำว่า “ปรองดอง” อันเป็นเงื่อนไขหลักหาได้ส่อแววหรือทางสว่างนำไปสู่ความสงบสุขได้ หากแต่ว่า มีแต่จะมีแนวโน้มการมี…การสร้าง…ให้เป็น “หัวเชื้อ” ความแตกแยกที่ถูกกดทับไว้ด้วยอำนาจพิเศษกำลังผุดกันมา…นัยว่า สวนทางกับการดำรงอยู่ หรือภาวะพิเศษ เริ่มอ่อนเปลี้ยลง

ตามสถานการณ์เดิม สงครามสี ม็อบชุมชนหรือม็อบการเมือง จากม็อบสีเหลืองกับม็อบสีแดง… เคยปั่นป่วนการเมือง นำมาสู่ล้มการเลือกตั้ง การปฏิวัติ ขณะนี้ม็อบสีจะยิ่งใหญ่กว่าม็อบสีดังกล่าว…จุดที่เกิดภาพสะท้อนใจคนไทยเมืองพุทธกับฉาก “ม็อบพระ” (ม็อบสีเหลืองของจริง) เผชิญหน้ากับ “ทหาร” (สีเขียว) เมื่อวันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการสกัดขัดขวางไม่ยอมให้พระเข้าไปชุมนุมยังพุทธมณฑล ตามเงื่อนไขที่เครือข่ายคณะสงฆ์และองค์กรภาคีพุทธบริษัท 4 ทั่วประเทศ ได้จัดประชุมสกัดแผนล้มล้างการปกครองคณะสงฆ์ไทย…โดยอ้างเหตุเนื่องจากรัฐบาล คสช.ปล่อยให้คนบางกลุ่มออกมาย่ำยีคณะสงฆ์ไทย

Advertisement

โดยธงมีการโยงที่ “ปมขัดแย้ง” ในการแต่งตั้งพระสังฆราชองค์ที่ 20 ของประเทศไทย ที่เกี่ยวเนื่องเป็นเรื่องเดียวกันกับศึก “ธรรมกาย” สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องไปกับการเมือง ได้มีข้อเสนอ ขมวดปมข้อเรียกร้องของคณะสงฆ์ ขอให้รัฐบาลยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับการปกครองของคณะสงฆ์ เช่น…ขอให้นายกรัฐมนตรียึดถือการดำเนินการตามมติมหาเถรสมาคม (พระ) ในการเสนอสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เป็นสมเด็จพระสังฆราช รวมถึงขอให้ทางรัฐบาลสั่งให้หน่วยราชการไม่ข่มขู่ คุกคามคณะสงฆ์ด้วยการใช้กฎหมาย และขอให้…รัฐบาล บรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างอยู่…งานนี้ขอได้อย่าประมาทพลังสงฆ์…ฝ่ายหนุน “สมเด็จช่วง” เครือข่ายธรรมกาย ย่อมไม่ธรรมดา

โดยอีกด้าน ฝ่ายต่อต้านมีการเคลื่อนไหว… “พุทธะอิสระ” อดีตแกนนำม็อบ “กปปส.” ที่แสดงตัวตนเป็นหัวหอกในการต่อต้านการตั้ง “สมเด็จช่วง” เป็นพระสังฆราชองค์ที่ 20 ต่อเนื่องกับการเดินหน้าจัดการกับ… “ธัมมชโย” เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย แต่หาใช่ย่อยไม่หรือไม่ธรรมดา บังเอิญไปสอดคล้องกับกระบวนการทางกฎหมายในคดีที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จช่วงและธรรมกาย โดย พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ที่ออกมาเปิดเผยผลการตรวจสอบรถเบนซ์โบราณ หมายเลขทะเบียน ขม.99 ที่ได้รับรายงานจาก “กรมสอบสวนคดีพิเศษ” (ดีเอสไอ)…เป็นรถยนต์ผิดกฎหมายทุกขั้นตอน การจดทะเบียนเป็นการตอกย้ำ… “เงื่อนไข” ของสมเด็จช่วงกับความชอบธรรมในการแต่งตั้งพระสังฆราชองค์ที่ 20 ซึ่งจะกลายเป็นระเบิดเวลา…ปมสำคัญเรื่องศาสนาเป็นเรื่องอ่อนไหว ความเชื่อของ “คน” (ศรัทธา) เป็นอันตราย เพราะ “พระ” เป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนชาวไทยพุทธ ของ “ผู้บริสุทธิ์” จากกิเลสยังไม่เว้น ถูกคุกคาม ถูกลากมาในสังคมความขัดแย้งแก่งแย่งชิงผลประโยชน์

ถึงวันนี้..อยากจะบอกว่า เมืองไทยเราเคยยึดอะไรบ้าง…แทบจะไม่มีอะไรยึดเหนี่ยวแล้ว เกือบครบทุกภาคส่วนแล้ว เหมือนมีไฟสุม การเมืองเต็มไปด้วยการแสดง “พลัง” ส่งสัญญาณ…ให้ “ผู้นำ” “ฟังเสียงนก เสียงกา” บ้าง อีกทั้ง “นักศึกษา นิสิต ก็โดนด้วย จากเหตุการณ์ขบวนการล้อการเมืองในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์” เครือข่ายนักวิชาการที่ได้เสวนาวิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไล่เรียงกันก็มีราชการที่ถือกำเนิดเกิดสมัย ร.5 ที่มีการพยายามจะยกเลิกมาตลอดหลายรัฐบาลคือ “กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน” นัดรวมตัวคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “นายมีชัย” พร้อมมีข้อความสื่อสารถึงผู้มีอำนาจว่า “ฟรีซแลนด์ ห้ามคว่ำ ห้ามเผลอ เดี๋ยวเจอกัน” สะท้อนถึงการต่อต้าน “รัฐธรรมนูญ” นักการเมืองท้องถิ่นระดับชาติ รวมถึงพรรคการเมือง “นักเลือกตั้ง” ก็มีการรวมตัวกัน แยกตัวกันเข้าๆ ออกๆ ส่งเสียงเรียกร้องให้รัฐบาล คสช.ปลดล็อกไฟเหลืองไฟเขียว ให้พรรคการเมืองจัดกิจกรรมกลับมาดำเนินการทางการเมือง นอกจากด้านประเด็นทางการเมืองคือ นายกรัฐมนตรีมาจากคนนอก การเลือกตั้ง ส.ส.ภาคพิเศษ การได้มาของ ส.ว.ที่ไม่ผูกกับประชาชน และประเด็นสำคัญคือ การต่อท่ออำนาจของ คสช. ไม่ว่าจะรูปแบบโดยที่มีอยู่ ที่กำลังจะเกิด ตามข้อเสนอของรัฐบาล รวมทั้งแผนยุทธศาสตร์ใช้นานถึง 20 ปี เป็นต้น ยังอึดอัดตามๆ กัน

ด้านนักวิชาการ มีการเสวนาอภิปรายหัวข้อ “อวสานโลกสวย : วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559” จัดโดยคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่างวิพากษ์ตรงๆ แรง ทั้งการครอบงำรัฐบาลใหม่ให้อยู่ใต้อำนาจ คสช. ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญอยู่เหนือทุกอำนาจ ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอย้อนยุคถอยหลังลงคลอง สรุปคือ ไม่สามารถแก้วิกฤตประเทศได้ แค่ร่างไปตามจินตนาการ

อนึ่ง แม่น้ำ 5 สาย ก็รู้สึกขัดๆ ไม่ว่าจะเป็น สนช. สปท. รัฐบาล และแม่น้ำต้นสายก็ยังขัดๆ ตกลงกัน มีข้อเท็จจริงเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญจากรัฐบาล 16 ข้อ สนช. ? ข้อ สปท. ? ข้อ ซึ่ง “กรธ.” จะปรับแก้หรือไม่อย่างไร แต่ดีเดย์แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญก่อนจะสรุปเป็นร่างสุดท้ายคือ 29 มีนาคม 59 เป็นวันสุดท้าย

พลังมวลชน กลุ่มต่างๆ เริ่มกล้าขยับมาเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลทหาร คสช. ใช้ “กฎหมู่” ลองเชิง “กฎหมาย” ประกาศห้ามชุมนุมของ คสช. ดาบอาญาสิทธิ์ มาตรา 44 ซึ่งเป็นยาแรงที่สุดในขณะนี้…ยังออกฤทธิ์ดีหรือไม่ เชื้อโรคเริ่ม “ดื้อยา” หรือเริ่มเกิดภูมิคุ้มกันบกพร่อง นอกจากปัจจัยภายนอกแล้ว ปัจจัยภายในแรงกระเพื่อมของสมาชิก คสช. รัฐบาล กองทัพ ต่างๆ เป็นหนึ่งเดียว ยังคงมีเอกภาพเหมือนเดิมหรือไม่?…

และเมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 59 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐจ่าหัวแม่ไม้ตัวใหญ่ว่า… “6 มีนา 2559 ดาวมฤตยู (เลข 0) ทับดวงเมือง ราศีเมษส่งผลยิ่งใหญ่…เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านดี-ร้าย” “เจ้าคุณธงชัย” พระพรหมมังคลาจารย์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส แห่งวัดไตรมิตร จัดสวดรับมือ ให้สติกับผู้นำการเมือง ผู้เกี่ยวข้องช่วยกันประคับประคองเพื่อความเป็น… “ชาติไทย” เพราะมีทั้งด้านบวกและด้านลบ

ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านข้อความท่าน ว.วชิรเมธี เป็นข้อคิดที่ดีและโดนใจ เชื่อว่า…ผู้นำ ผู้บริหาร นักการเมือง นักวิชาการ และผู้เกี่ยวข้องที่เป็นคนไทย ตั้งสติให้ดีแล้วพิจารณาตาม น่าจะมีประโยชน์มาก…

(+) บวก (-) ลบ มีไปทำไม? (?) คูณ (?) หาร, มีเงินนับแสนล้าน แต่ความจริงใช้วันละไม่ถึง 100 บาท : มีไปทำไม?

มีบ้านใหญ่โตเหมือนวัง แต่อยู่กันแค่ 4 คน : มีไปทำไม?, มีรถนับ 10 คัน แต่ใช้งานจริงแค่คันเดียว : มีไปทำไม?

มีพ่อแม่อยู่ที่บ้าน แต่ไม่เคยปรนนิบัติ : มีไปทำไม?, มีภรรยาแสนดี แต่ไม่เคยแบ่งเวลาให้ : มีไปทำไม?

มีลูกแสนน่ารัก แต่ไม่เคยโอบกอดลูก : มีไปทำไม?, มี ส.ส.อยู่เต็มสภา แต่มาประชุมไม่ครบเลย : มีไปทำไม?

มีวัดอยู่แทบทุกหมู่บ้าน แต่ศีลธรรมของคนแย่ลง : มีไปทำไม?, มีพระไตรปิฎกอยู่เต็มตู้ แต่ไม่เคยเปิดออกมาศึกษาเลย : มีไปทำไม?

มีรองเท้าร้อยคู่ แต่ใส่จริงแค่วันละคู่ : มีไปทำไม?, มีพี่น้องนับสิบคน แต่แตกความสามัคคีกันทุกคน : มีไปทำไม?

มีหูอยู่สองข้าง แต่ไม่เคยฟังธรรมเลย : มีไปทำไม?, มีเท้าอยู่สองข้าง แต่ไม่เคยเดินเข้าหาโอกาสเลย : มีไปทำไม?

มีปัญญาอยู่กับตัว แต่กลับใช้อารมณ์เป็นใหญ่ : มีไปทำไม?, มีอำนาจอยู่เต็มมือ แต่ไม่กล้าตัดสินใจทำอะไรเลย : มีไปทำไม?

ท้ายสุด พระอาจารย์ ว.วชิรเมธี ระบุว่า : มีกฎหมายนับพันมาตรา แต่มีอาชญากรอยู่เต็มเมือง : มีไปทำไม? มีไปทำไม” คือ ข้อคิดเป็น “การบ้าน” สำหรับทุกๆ คน คน 65 ล้านคน ที่ต้องช่วยกันตั้ง “สติ” ใช้ “ปัญญา” เพราะประชาชนคนไทย 65 ล้านคนเป็นเจ้าของประเทศ ถึงเวลาที่เราต้องทำหน้าที่ ต้องสร้างวินัย และความสามัคคี เสียสละ หันหน้าเข้าหากัน เพราะอำนาจอยู่ในมือของคนไทยทุกคน เมื่อถึงเวลาต้องตัดสินใจ ขอให้คิดว่า ด้วยข้อคิด “อริยสัจ 4 และอริยมรรค 8” แก้ไขโดยตรรกะคือ “ต้องถูกต้องเป็นธรรม มีประโยชน์ ใช้ได้ดี มีคุณค่า” เช่น “ร่างรัฐธรรมนูญ” ปี 2559 ฉบับใหม่ : “มีไปทำไม?” … “9-10 ประเด็นต่างๆ”

รวมถึงการทำประชามติในการพิจารณา “ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ปี 2559” ขอให้ใช้วิจารณญาณของตนเอง เพราะทุกคนคือ “เจ้าของประเทศไทย” นะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image