ปกป้องพุทธศาสนาจากเผด็จการทุกรูปแบบ

มาตรา 40 ในร่าง พ.ร.บ.ปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา ซึ่ง ครม.ได้อนุมัติให้นำเข้าสภาเถื่อน และระหว่างนี้ยังอยู่ในการพิจารณาของกฤษฎีกา กำหนดว่าภิกษุรูปใดที่ให้อุปสมบทโดยรู้อยู่แล้วแก่บุคคลที่ “มีพฤติกรรมทางเพศเบี่ยงเบน” มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ในขณะเดียวกัน มาตรา 41 ก็ระบุว่า ภิกษุรูปใดซึ่งมี “เบี่ยงเบนทางเพศ” หากกระทำการใดซึ่งเป็นอันตรายหรือเสื่อมเสียแก่พระพุทธศาสนา มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนเช่นกัน

ถ้อยคำที่คลุมเครือเพราะขาดความรู้เกี่ยวกับเพศสภาวะและเพศรสซึ่งได้มีการศึกษาก้าวหน้าไปในโลกนี้มากแล้วเหล่านี้มุ่งจะป้องกันมิให้”เกย์” ได้บวชเรียนในคณะสงฆ์ หรือถึงได้บวชไปแล้วโดยพระอุปัชฌาย์ไม่ทราบมาก่อน ก็มิให้แสดงตนว่าเป็น “เกย์” อย่างประเจิดประเจ้อ

ความคิดของผู้ร่างกฎหมายฉบับนี้ (มหาเถรสมาคมร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) นำพุทธศาสนาไทยมาสู่ “ทางตัน” ในโลกสมัยใหม่อีกอย่างหนึ่ง กล่าวคือ นอกจากลิดรอนสิทธิสตรีในการได้บวชเรียนแล้ว สิทธิของเกย์ซึ่งเป็นเพศสภาพในสำนึกใหม่ของผู้คน ก็ยังถูกกีดกันลดทอนไปด้วย

อันที่จริงนักบวชในพระพุทธศาสนาต้องถือพรหมจรรย์อยู่แล้ว ไม่ว่าพฤติกรรมทางเพศจะเบี่ยงเบนหรือปรกติ การมีเพศรสไม่ว่ากับคนต่างเพศหรือเพศเดียวกัน ก็ผิดพระวินัยขั้นร้ายแรงอยู่แล้ว (พระวินัยพูดเรื่องนี้ละเอียดมาก)

Advertisement

ผมทราบดีว่ามีปัญหาการตีความในการสวดญัตติ เพราะในการขอบวชจะต้องตอบคำถามว่าเป็น “ปุริโส” หรือไม่ แต่ก็ขึ้นอยู่ว่าจะตีความกันตามตัวอักษรหรือตามเจตนารมณ์ หากยอมรับว่าพระพุทธเจ้าอนุญาตให้ทั้งหญิงและชายบวชได้ เพศสภาพเท่าที่สำนึกกันในสมัยนั้น (คือหญิงและชาย) จึงไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางการบวชเรียนแต่อย่างไร เพศสภาพจึงไม่ใช่ปัญหาของการบวชเรียน

เพศสภาพนั้นเป็นธรรมชาติ หรือเป็นสำนึก การศึกษาในปัจจุบันทำให้มองเห็นว่าแท้จริงแล้วเป็นสำนึกมากกว่าเป็นสิ่งที่เกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่ “บัณเฑาะก์” ซึ่งก็บวชไม่ได้เหมือนกันนั้นหมายถึงอะไรกันแน่ผมไม่ทราบ (นักบาลีชั้นนำทั่วโลกก็ยังเถียงกันอยู่) แต่แน่ใจว่าไม่ใช่ “เกย์” อย่างที่เราใช้ในปัจจุบัน เพราะบัณเฑาะก์อาจรู้ว่าตัวไม่เหมือนคนอื่น แต่ไม่รู้หรือไม่สำนึกว่า ที่ไม่เหมือนนั้นก็เพราะตนมีเพศสภาพอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ตรงกับหญิงหรือชาย (ยิ่งถ้าบัณเฑาะก์แปลว่าขันที ก็ยิ่งไม่เกี่ยว จบกันเลย)

อันที่จริง ศาสนาที่มีอายุมาเป็นพันปีทุกศาสนา ล้วนต้องเผชิญการท้าทายของโลกสมัยใหม่ทั้งนั้น ไม่ใช่เพิ่งเผชิญด้วย แต่เผชิญมาหลายร้อยปีแล้วในยุโรป และร้อยกว่าปีในเมืองไทย และคงต้องเผชิญต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด เพราะกระแสความคิดของโลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก มีสำนึกใหม่ มีคุณค่าใหม่ มีการประจักษ์ถึงโทษที่ไม่เคยประจักษ์มาก่อน ฯลฯ หากศาสนาที่ยังเหลืออยู่จะไม่ตายไปเหมือนศาสนาโบราณอีกมากที่ตายไปแล้ว เหมือนภาษาเป็นพันๆ ที่ตายไปแล้ว เหมือนสัตว์และพืชอีกเป็นหมื่นที่สูญพันธุ์จากโลกแล้ว ศาสนาต้องผลิตความหมายใหม่ที่สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ตลอดไป

Advertisement

ไม่มีอะไรที่อกาลิโกในตัวของมันเองยกเว้นแต่สามารถผลิตความหมายใหม่ไปได้อย่างไม่สิ้นสุดในทรรศนะของคนที่มีความรู้น้อยอย่างผม พุทธธรรมซึ่งโดยเนื้อแท้แล้ว เปิดกว้าง ให้เสรีภาพ และง่ายที่จะผลิตความหมายใหม่ในแต่ละยุคสมัย และแต่ละท้องถิ่น จนเกิดเป็นนิกายจำนวนมากขึ้นในโลก มีโอกาสอย่างสูงมากที่จะดำรงอยู่ต่อไปได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ แต่พุทธศาสนาที่เป็นทางการของไทยต่างหาก ที่กลายเป็นคำสอนปิด, คับแคบ, ไร้จินตนาการ และไร้อารมณ์ความรู้สึกต่อโลกจริงที่ทุกคนต้องเผชิญอยู่ โอกาสที่จะเหลือรอดต่อไปในอนาคตมีน้อยมาก แม้แต่การใช้อำนาจรัฐมาค้ำจุนให้หนักขึ้น ดังเช่นร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ก็อาจยิ่งทำให้เสื่อมทรุดจนสลายไปเร็วขึ้น ก็รัฐไทยเองที่ถูกตรึงแน่นให้ปรับเปลี่ยนโดยสงบไม่ได้ มีอยู่เพียงเพื่อรับใช้คนจำนวนน้อยที่ได้เปรียบอยู่แล้ว จึงเป็นรัฐที่ไม่อาจอำนวยคุณค่าพื้นฐานของรัฐคือความยุติธรรมแก่ใครได้ ก็ไม่สามารถดำรงลักษณะเช่นนี้ต่อไปได้อยู่แล้ว เอาพุทธศาสนาไปฝากไว้กับรัฐที่จะเอาตัวเองให้รอดก็ยังยาก จะเหลืออนาคตอะไรแก่พระพุทธศาสนาในประเทศไทยเล่า

ผมคิดว่ามีสิ่งใหม่ที่สำคัญอยู่สามอย่างในโลกปัจจุบันที่ศาสนาทุกศาสนาต้องผลิตความหมายใหม่จากหลักธรรมคำสอนของตนเพื่ออธิบายและสร้างจุดยืนที่ผู้คนในโลกปัจจุบันรับได้แก่ศาสนา (ทั้งที่เป็นหลักธรรมคำสอนและเป็นองค์กรศาสนา) สิ่งใหม่สามอย่างนั้นคือ

1) ประชาธิปไตย ศาสนาต้องยอมรับความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ของเพศ และของสถานภาพทางสังคม ถึงจะยอมรับอภิสิทธิ์ก็ต้องอธิบายอภิสิทธิ์นั้นได้ด้วยเหตุผลเชิงประจักษ์ทางโลก ไม่ใช่เหตุผลในเชิงอภิปรัชญา (ผมคิดว่านักคิดทางพุทธศาสนาไทยในช่วง “ปฏิรูปศาสนา” ตั้งแต่ ร.3 จนถึง ร.5 ได้ผลิตความหมายใหม่ในเรื่องนี้ไปแล้ว เช่นเน้น “หน้าที่ทางสังคม” ของอภิสิทธิ์แทนบารมี แต่ความหมายใหม่ที่ผลิตขึ้นในช่วงนั้นยังใช้ได้ในปัจจุบันหรือไม่เป็นคนละเรื่อง) แต่ประชาธิปไตยที่มีความหมายถึงสิทธิเสมอภาคทางการเมืองเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ เพราะนับวันผู้คนในสังคมต่างๆ พากันเรียกร้องสิทธิเสมอภาคทางเศรษฐกิจมากขึ้น อย่างน้อยก็คือสิทธิเสมอภาคในการเข้าถึงทรัพยากรของส่วนรวม

ศาสนาส่วนใหญ่ผลิตความหมายใหม่ที่มีความสำคัญต่อประชาธิปไตย(อย่างน้อยก็ทางการเมือง)ได้เกือบทั้งนั้น แม้แต่ศาสนาฮินดูในการตีความของมหาตมะคานธี ก็หมายถึงความเท่าเทียมกันของคนทุกเพศและทุกวรรณะโดยตรง วิโนภาภะเว ขยายความหมายของฮินดูให้รวมถึงสิทธิเสมอภาคในการเข้าถึงทรัพยากรพื้นฐานอันจำเป็นต่อชีวิตด้วย การเคลื่อนไหวของทะไลลามะ คือการเรียกร้องสิทธิที่จะเข้าถึงทรัพยากร (โดยเฉพาะทางวัฒนธรรม) ของชาวทิเบต ไม่ใช่การต่อต้านจีนซึ่งถืออำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนทิเบตในปัจจุบัน

หันกลับมาดูพุทธศาสนาที่เป็นทางการของไทยบ้างเพราะไปผูกติดกับรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์รูปแบบต่างๆไม่ได้ผลิตความหมายใหม่อะไรจากพุทธธรรมที่จะตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องประชาธิปไตยทางการเมืองด้วยซ้ำ ไม่พักต้องพูดถึงประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ทำไมคนไทยจึงต้องอ้างนักปราชญ์ฝรั่งเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ก็เพราะไม่อาจอ้างพระพุทธเจ้าได้ล่ะสิครับ พระพุทธเจ้าจะเป็นนักประชาธิปไตยหรือไม่ยกไว้ก่อน แต่ทั้งพุทโธวาทและพุทธจริยาอาจมีความหมายใหม่ในเชิงประชาธิปไตยได้มากมาย เช่น ปราศจากเสรีภาพในการคิดเอง ไม่มีใครสามารถเข้าถึงพุทธธรรมได้เลย แต่พุทธศาสนาไทยไม่เคยเชื่อมโยงพุทธธรรมกับเสรีภาพเลย (ผ่าไปเชื่อมกับวิทยาศาสตร์ซึ่งในปัจจุบันถูกใช้เป็นเครื่องมือในการลดทอนเสรีภาพอย่างหนัก)

หากตีความอย่างเคร่งครัดเสรีภาพจากความโลภโกรธ หลง ย่อมขาดไม่ได้ในการเข้าถึงพุทธธรรม แต่จากสามอย่างนี้ก็อาจขยายไปถึงเสรีภาพจากความกลัว, ความหิว, การถูกเหยียดให้สูญสิ้นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ฯลฯ ได้อีกมาก ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารซึ่งไม่เคารพเสรีภาพในด้านใดทั้งสิ้น มหาเถรสมาคมกลับร่วมกับ คสช.ที่จะออกกฎหมายใช้ความกลัวโทษทางอาญาเป็นเครื่องมือบังคับให้ผู้คนเข้าถึงพุทธธรรม ปัญญาชนไทยที่ชอบอ้างพุทธธรรมสนับสนุนระบอบที่ดำรงอำนาจอยู่ได้ด้วยความกลัว ทั้งในที่ลับและที่แจ้งโดยไม่ละอายใจเลย

จะปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนาจากอะไรได้อีก นอกจากปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนาในประเทศไทยให้พ้นจากมหาเถรสมาคม, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และเหล่าปัญญาชนเหล่านั้น เท่านั้น

ผมอยากให้เปรียบเทียบกับคณะสงฆ์คาทอลิค นอกจากนำให้คาทอลิคไม่เป็นอริกับประชาธิปไตยทางการเมืองแล้ว สำนักวาติกันยังยอมรับบางส่วนของอุดมการณ์เทววิทยาเพื่อการปลดปล่อย หรือประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ที่ริเริ่มเคลื่อนไหวในหมู่สงฆ์ในละตินอเมริกาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ”ธรรมะ”ที่เป็นทางการ ศาสนาคาทอลิกจะก้าวตามความเปลี่ยนแปลงของโลกได้ท่วงทันหรือไม่เพียงไรก็ตาม แต่เขาพยายามก้าว ถึงจะก้าวอย่างระมัดระวังมากสักเพียงไรก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาพยายามก้าว

2) ทุนนิยม ก็คงอย่างที่พระพุทธเจ้าเตือนไว้นั่นแหละ คือไม่มีอะไรดีแต่ถ่ายเดียว และไม่มีอะไรเสียแต่ถ่ายเดียว ทุนนิยมก็คงเป็นอย่างนั้น แต่ที่สำคัญกว่าก็คืออย่างไรเสียเราก็คงหลบหนีอิทธิพลของมันที่จะกำหนดชีวิตและความสัมพันธ์ทางสังคมของเราไปได้ศาสนาจะมีส่วนช่วยให้เราต่อรองกับทุนนิยมอย่างไรสิ่งที่นักบวชในศาสนาต่างๆ ทำมากคือการ “สงเคราะห์” คนที่ถูกทุนนิยมกีดกันออกไปจากทรัพยากรพื้นฐานของชีวิต เช่น คนจน, คนไร้อำนาจ, คนไร้สิทธิ เพียงเท่านี้ก็ถือว่าได้นำศาสนามาเผชิญกับทุนนิยมอย่างสร้างสรรค์แล้ว แม้ไม่ได้เพิ่มอำนาจต่อรองของคนเหล่านั้นได้สักกี่มากน้อยก็ตาม แต่เพียงเท่านี้ ก็ไม่ค่อยได้เห็นนักบวชฝ่ายพุทธไทยทำสักเท่าไรนัก ถึงที่ทำไปก็ทำอย่างไม่เป็นระบบ ประหนึ่งทำด้วยความบังเอิญมากกว่า

ปัญหาที่สำคัญก็คือพุทธธรรมจะมีความหมายในการบรรเทาผลกระทบร้ายแรงของทุนนิยมที่มีต่อคนเล็กคนน้อยหรือไม่พุทธศาสนาที่เป็นทางการของไทยจะยกเอาคำสอนเรื่องเมตตาธรรมและสันโดษประหนึ่งเป็นเกราะกำบังทุนนิยมที่วิเศษ แต่การสอนให้คนรวยมีเมตตาธรรมต่อคนตกทุกข์ได้ยาก โดยไม่พูดถึงสิทธิของคนจน ไม่พูดถึงความเป็นธรรมในการแข่งขัน ไม่พูดถึงภาระหน้าที่ของคนรวยที่ต้องเสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วยแก่รัฐ ฯลฯ เมตตาธรรมกลับเป็นเครื่องประดับปกปิดความอัปลักษณ์ของทุนนิยม เช่นเดียวกับการสอนเรื่องสันโดษแก่คนจน โดยไม่พูดถึงสิทธิของเขาในฐานะมนุษย์ที่จะต้องเข้าถึงทรัพยากรพื้นฐานได้เท่าเทียมกับคนอื่น เช่นการรักษาพยาบาล, การศึกษา, การได้รับค่าตอบแทนอย่างไม่ถูกเอาเปรียบ, การได้รับความเคารพในฐานะมนุษย์เสมอกับผู้อื่น, อำนาจในการต่อรอง ฯลฯ เลยแล้ว สันโดษก็กลายเป็นเครื่องมือกดขี่คนเล็กคนน้อยให้สยบยอมต่อความอยุติธรรมในระบบทุนนิยมโดยดุษณีเท่านั้น

นี่เป็นส่วนของพุทธธรรมที่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจต่ำเพราะเศรษฐีย่อมไม่พอใจทำบุญแก่ธรรมเทศนาอย่างนี้แต่นี่คือวิธีคิดของทุนนิยม ซึ่งผมไม่ทราบว่าครอบงำคณะสงฆ์ไทยไปมากน้อยเพียงไร คำตอบของภิกษุในพระพุทธศาสนาไทยต่อเศรษฐกิจตกต่ำใน 2540 จึงเป็นการรวบรวมทองคำจากนิ้วและคอของโยม ไปเก็บไว้ในพระคลังหลวง ประหนึ่งพระพุทธศาสนาไม่มีคำตอบอื่นใดมากไปกว่าคำตอบของทุนนิยม คนจบเศรษฐศาสตร์จากฮาร์เวิร์ดก็จะทำอย่างเดียวกัน โดยไม่ประเจิดประเจ้อเช่นนี้ด้วย

3) อัตลักษณ์ใหม่ คนในทุกสังคมและทุกสมัยย่อมสร้างอัตลักษณ์อันหลากหลายขึ้น เพื่อต่อรองอำนาจ และต่อรองผลประโยชน์กับคนอื่นในสังคม ความสลับซับซ้อนของโลกปัจจุบันยิ่งทำให้คนสร้างอัตลักษณ์ที่หลากหลายขึ้นไปกว่าเก่าอีกมาก แต่ละคนมีอัตลักษณ์หลายอย่าง

พูดตามพุทธธรรม อัตลักษณ์เป็นสิ่งที่สร้างขึ้น ไม่ได้มีอยู่จริง แม้กระนั้นมันก็จริงในชีวิตของเขา จริงขนาดที่บอกว่าอย่าไปยึดติดก็ไม่มีประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ คนข้ามเพศจำนวนหนึ่งเรียกตัวเองอย่างนี้ เพราะไม่ต้องการถูกยัดเยียดอัตลักษณ์ “กะเทย” ให้ เนื่องจากอัตลักษณ์ “กะเทย” เป็นอัตลักษณ์ที่สร้างขึ้นเพื่อรอนสิทธิ์ของเขา ฉะนั้น “คนข้ามเพศ” จึงจริงสำหรับเขา ในขั้นปรมัตถ์จะไม่จริงอย่างไรก็ตาม แต่ในชีวิตของเขาเป็นเรื่องจริงที่ใช้ต่อรองสิทธิ์ได้อย่างดี เช่นเดียวกับ “พลเมือง”, “คนไทย”, “ภิกษุณี”, “คนดี”, “ผู้เก็บขยะแผ่นดิน”, “นักอนุรักษ์ธรรมชาติ”, ฯลฯ ล้วนเป็นอัตลักษณ์ใหม่ที่มีจริง และถูกยึดว่าจริงในสังคม โดยปราศจากความรู้ทางพุทธธรรม ผมเชื่อว่ามีส่วนของพุทธธรรมที่อาจให้ความหมายใหม่ เพื่อตอบรับแก่อัตลักษณ์ใหม่นี้ได้ แต่จะต้องตอบรับอย่างฉลาดด้วย

ไม่แต่เพียงอัตลักษณ์ที่เกิดใหม่เท่านั้น ผมอยากเตือนให้ระวังด้วยว่า แม้แต่อัตลักษณ์เก่าก็กลายความหมายไปไม่น้อย คนทุคตะเข็ญใจกับ “คนจน” ในชื่อ “สมัชชาคนจน” ไม่ใช่คนประเภทเดียวกัน มีสำนึกที่แตกต่างกันอย่างยิ่ง แม้แต่ที่เรียกว่า “คณะสงฆ์” ของไทยเวลานี้ ก็ไม่ได้มีมาก่อนในประเทศไทยสมัยโบราณ เพราะคณะสงฆ์สมัยโบราณไม่ได้รวมศูนย์อย่างนี้

จะปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนาในประเทศไทยอย่างไรคำตอบกว้างๆที่ได้กล่าวไปแล้ว คือการให้ความหมายใหม่แก่พุทธธรรมที่สอดคล้องกับชีวิตของคนในโลกสมัยใหม่ แต่ในทางปฏิบัติต้องทำอย่างไรบ้าง ขอสารภาพว่ายังคิดได้ไม่ปรุโปร่งพอ แต่เชื่อแน่ว่า การใช้อำนาจรัฐมาข่มขู่ให้กลัวจะไม่ช่วยปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนาในประเทศไทยแต่อย่างไร ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ กลับจะทำให้พระพุทธศาสนาและพุทธธรรมซึ่งห่างเหินคนไทยไปมากแล้วในปัจจุบัน ถึงกาลดับสูญจากประเทศนี้เร็วขึ้นด้วยซ้ำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image