รับผิด การเมือง ระบบ บังคับบัญชา ครม. ‘เศรษฐกิจ’

เหมือนกับว่า กระแสข่าวลือ ข่าวปล่อย ในเรื่องการปรับ ครม.อันกระหึ่มขึ้นก่อนวาระ 3 ปี ของรัฐประหารเมื่อ เดือนพฤษภาคม 2557 จะเป็นความผิดพลาดของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

เพราะว่าเป็น “ร่องนายกรัฐมนตรี” ที่คุมงานด้าน “เศรษฐกิจ”

สภาพการณ์การดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ขณะนี้จึงแทบไม่แตกต่างไปจากสภาพการณ์การดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ก่อนเดือนสิงหาคม 2558

ไม่เพียงแต่ “นิ้วชี้” หาก ทุกนิ้วล้วน “ชี้” ไปอย่างนั้น

Advertisement

ในความเป็นจริง แม้ว่าทั้ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะเป็นรองนายกรัฐมนตรีกำกับงานด้านเศรษฐกิจ

แต่ถามว่า 2 รองนายกรัฐมนตรีนี้กำกับได้อย่างเบ็ดเสร็จ เด็ดขาดหรือ

จากเดือนพฤษภาคม 2557 กระทั่งเดือนพฤษภาคม 2560 ทุกคนย่อมรู้ดีว่า “อำนาจ” ของ 2 รองนายกรัฐมนตรีนี้มิได้เบ็ดเสร็จ เด็ดขาด อย่างนั้น

Advertisement

เพราะว่าเหนือ “รองนายกรัฐมนตรี” ยังมี “นายกรัฐมนตรี”

หากศึกษาหนังสือ “ระบบบังคับบัญชา” ที่เขียนโดย พล.อ.สายหยุด เกิดผล ระหว่างดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด

ก็จะ “เข้าใจ”

เข้าใจว่า ระบบบังคับบัญชาของทหารแบ่งออกเป็น 2 สาย 1 คือ สายบังคับบัญชา และ 1 คือสายอำนวยการ หรือที่เรียกกันว่าฝ่ายเสนาธิการ

สายอำนวยการหรือเสนาธิการ คือฝ่ายชงเรื่องเสนอ ภายใต้โครงสร้างการบังคับบัญชานี้ ผู้ที่ตัดสินชี้ขาดว่าจะทำ หรือจะไม่ทำ เป็น “ผู้บังคับบัญชา” ไม่ใช่ “เสนาธิการ”

COMMANDER ต่างหากที่ “ตัดสินใจ”

ขณะเดียวกัน เมื่อ “ผู้บังคับบัญชา” เป็นฝ่ายตัดสินใจว่าจะทำ ว่าจะไม่ทำ ความรับผิดชอบจึงเป็นของ “ผู้บังคับบัญชา”

ระบบทหารเป็นเช่นนี้ ระบบรัฐบาลก็เป็นเช่นนี้

แปลกใจหรือไม่ที่เมื่อหลังจากถูกปรับออกจาก ครม.เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล จึงระบุถึงปัญหาที่ประสบระหว่างนั่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี

เป็นปัญหาอันเนื่องแต่ “แบ่งแยกแล้วปกครอง”

คำคำนี้อาจปรับแต่งมาจากภาษาอังกฤษว่า DEVIDE and RULE อันถือว่าเป็นอนุสาสน์ สำคัญในการบริหารจัดการกับ “อาณานิคม”

บทสรุปนี้ของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล จึงเป็นบทสรุปในการบริหารจัดการ

การบริหารจัดการซึ่งไม่ว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ไม่ว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ล้วนเคยผ่านตาระหว่างศึกษาอยู่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ถามว่า “แบ่งแยกและปกครอง” เกิดขึ้นได้อย่างไร

แม้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล มิได้ขยายลักษณะ “แบ่งแยกและปกครอง” ระหว่างที่ตนดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีออกมาอย่างเป็นรูปธรรม

แต่เชื่อว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็รู้

ขณะเดียวกัน ความรู้จากยุคของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ย่อมตกทอดมายังยุคของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ด้วยแน่นอน

และก็ยังดำรงอยู่ภายใน “รัฐมนตรี” กระทรวง “เศรษฐกิจ

ความล้มเหลว หรือความสำเร็จทางด้าน “เศรษฐกิจ” จึงเป็นกระบวนการที่โยงถึงโครงสร้างการบังคับบัญชา

ในเดือนสิงหาคม 2558 รองนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อาจต้องรับผิดชอบและต้องก้มหน้ารับชะตากรรมไป

แต่ในห้วง 3 ปีแห่งรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 อาจไม่เป็นเช่นนั้น

คนที่รับผิดชอบอาจไม่ใช่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อาจเป็นคนอื่น อาจเป็นรายอื่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image