ประชาธิปไตยคือการรับฟัง : โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

ระบบการศึกษาของเราไต่ระดับตั้งแต่อนุบาลขึ้นไปถึงอุดมศึกษา มีอาชีวศึกษาคั่นระหว่างนั้น

การศึกษาระดับอุดมศึกษา หรือมหาวิทยาลัยเป็นการศึกษาขั้นสูงสุด ครั้งหนึ่งเคยมีการแยกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานกับระดับการศึกษาอุดมศึกษาออกจากกัน เมื่อก่อนมหาวิทยาลัยเทียบเท่ากรมหนึ่งในสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อมาตั้งทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ แล้วตัดคำว่า “ของรัฐ” ออกกระทั่งปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาเป็นการศึกษาแห่งชาติ รวมระบบการศึกษาทั้งหมดไว้ในกระทรวงเดียวกัน คือกระทรวงศึกษาธิการ วันนี้เริ่มมีแนวความคิดจะแยกอุดมศึกษาระดับมหาวิทยาลัยออกเป็นกระทรวงหรือทบวงอีกครั้งหนึ่ง ระบบการศึกษาตามรัฐธรรมนูญที่มีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 แบ่งออกเป็นในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย คือการศึกษาตลอดชีวิต

ประการสำคัญของระบบการศึกษาแห่งชาติ คือส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ด้วยเหตุนี้ การศึกษาระดับอุดมศึกษาจึงมีการเลือกตั้งตัวแทนนิสิตนักศึกษาดำเนินการบริหารกิจการของนิสิตนักศึกษาที่ไม่ได้เป็นงานธุรการของมหาวิทยาลัย เช่น กิจกรรมนิสิตนักศึกษากีฬา และอื่น ๆ

Advertisement

หลังจากที่มหาวิทยาลัยมีองค์การบริหารนิสิตนักศึกษา มีสภานิสิตนักศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ “ล้อ” ระบบการเมืองการปกครองของประเทศ ที่มีรัฐบาล มีสมาชิกรัฐสภา มีข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ผ่านการพิจารณาของสภา

ขณะที่ฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยทุกวันนี้ มีการสรรหาตำแหน่งสำคัญตั้งแต่คณบดี และอธิการบดี แต่ยังไม่มีการเลือกตั้งเต็มตามระบอบประชาธิปไตย ไม่เหมือนกับของนิสิตนักศึกษา ที่มีการเลือกตั้งทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งได้แก่การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารนิสิตนักศึกษา มีการสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งเป็นในลักษณะพรรค และในลักษณะตัวบุคคล ซึ่งผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การจะเป็นผู้ได้รับเลือกโดยตรงจากสมาชิกคือนิสิตนักศึกษา ส่วนการเลือกตั้งประธานสภาเป็นการเลือกจากผู้ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภา

ระบบการเลือกตั้งในมหาวิทยาลัยจึงเป็นการเตรียมตัวเข้าสู่การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยอีกทางหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกตั้งในโรงเรียนถึงระดับประถมศึกษาแล้ว

Advertisement

ปีการศึกษา 2560 เป็นปีที่ประเทศไทยต้องเตรียมการเพื่อไปสู่การเลือกตั้ง หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แม้ต้องรอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งซึ่งจะเสร็จภายในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

เท่าที่กำหนดระยะเวลาการเลือกตั้งจากรัฐบาลน่าจะเป็นต้นปี 2561 หรือไม่น่าจะเกินกลางปี 2561

ดังนั้น นับตั้งแต่เปิดภาคเรียนของระบบการศึกษาไทย สมควรที่จะให้กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายให้บรรดาครูอาจารย์นำความรู้กี่ยวกับระบอบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งเป็นสำคัญเข้าไปอธิบายหรือให้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนตั้งแต่อย่างน้อยในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

โดยเฉพาะความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2560 ที่มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาบางประการให้นักเรียนนักศึกษา และผู้บริหารและคณาจารย์ทั้งหลายได้ทราบและเรียนรู้ เพื่อเตรียมตัวกับการเลือกตั้งในไม่นาน

ประการสำคัญ ขอให้กระทรวงศึกษาธิการกำหนดนโยบายให้ผู้บริหารโรงเรียนทำความเข้าใจกับผู้บริหารโรงเรียน เจ้าหน้าที่ บุคลากร ครู ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะในเรื่องการแสดงความคิดเห็นในหลายเรื่องเพื่อให้บรรยากาศประชาธิปไตยเกิดขึ้นในสถาบันการศึกษา

ขณะเดียวกัน ควรที่ครูและผู้บริหารสถาบันการศึกษา ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสร้างความเข้าใจให้กับนักเรียนถึงการแสดงความคิดเห็น การรับฟังความคิดเห็น และการแสดงออกในระบอบประชาธิปไตยว่าควรมีและควรเป็นอย่างไร

ผู้บริหารและครู คือผู้ที่ควรรับฟังให้มาก เพื่อให้ทุกฝ่ายรู้ว่าประชาธิปไตยคืออย่างนี้เอง

โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image