สงคราม แสนล้าน ธุรกิจ ปลอดภาษี ในยุค ขั้วอำนาจ

เมื่อหนึ่งในเสาหลักของเศรษฐกิจไทย คือธุรกิจท่องเที่ยว

ยิ่งธุรกิจท่องเที่ยวเบ่งบานขึ้นเท่าใด

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องยิ่งเป็นเงินเป็นทอง เป็นแหล่งผลประโยชน์มหาศาล

มิใช่เพราะความขัดแย้งในผลประโยชน์หลายหมื่นล้านบาทดอกหรือ

Advertisement

จึงนำมาสู่การจับกุมเครือข่าย “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” ชนิดล้างบาง

แล้วขุมทรัพย์ที่ใหญ่กว่าระดับแสนล้านบาท อย่างธุรกิจสินค้าปลอดภาษี

จะพ้นมรสุมได้อย่างไร

มรสุมนี้กระหน่ำไปถึงทำเนียบรัฐบาล

16 พฤษภาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.

กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการด้านป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.)

เสนอให้รัฐบาลยกเลิกสัญญาเช่าพื้นที่ให้บริการสินค้าปลอดอากรในท่าอากาศยานของบริษัท คิงเพาเวอร์ ว่า

เมื่อ สปท. เสนอขึ้นมาก็จะรับไว้พิจารณา แต่จะทำอย่างไรก็ต้องดูกฎหมายและหลักการให้ชัดเจน

ไม่ใช่เป็นเรื่องของใครสนิทสนมกับใคร หรือใครเป็นผู้มีอำนาจ

การเขียนข่าวแบบนั้นถือว่าเลอะเทอะ โดยจะต้องใช้กฎหมายทั้งเรื่องของสัญญาและเรื่องอื่นๆ ก็จะต้องไปดู

“การจะบอกเลิกสัญญา ทำอย่างไรก็ต้องไปดูให้ดี เพราะที่ผ่านมาไม่ได้ทำในสมัยรัฐบาลนี้

เมื่อถึงรัฐบาลนี้บอกว่าจะยกเลิกสัญญาก็ต้องไปดูว่าทำได้หรือไม่

ว่ากันตามกลไกทางกฎหมายไม่ใช่ว่าจะเข้าข้างใคร”

ข้อเสนอหรือความพยายามที่ว่านี้มิได้เพิ่งเกิดขึ้น

แต่ก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

และหนักหน่วงชัดเจนขึ้นตั้งแต่กลางปี 2559

นับตั้งแต่คณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ สปท.

สรุปผลการศึกษาโครงการของรัฐที่เสียเปรียบเอกชน เรื่อง “การสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมให้เกิดคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากรให้แพร่หลายมากขึ้น”

พร้อมข้อเสนอแนะ 5 ข้อ ส่งให้ประธาน สปท. นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี

ถามว่าข้อเสนอนี้มีน้ำหนักขนาดใด

ก็ให้พิจารณาจากที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ต้องเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุม เมื่อวันที่ 25 เมษายน ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี

โดยมีผู้ร่วมประชุมเต็มคณะ

ทั้ง สปท., สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)

กระทรวงการคลัง, กระทรวงคมนาคม, กรมศุลกากร, กรมสรรพากร และคณะผู้บริหารของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.

รองนายกรัฐมนตรีอ่านข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ 5 ข้อให้ที่ประชุมรับทราบ ดังนี้

1.ควรปลดผู้อำนวยการ ทอท. คนปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายและก่อให้เกิดความเสียหาย รวมทั้งควรปรับเปลี่ยนคณะกรรมการ ทอท.

2.ควรทำการยกเลิกสัญญากับกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ฯ เพราะไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน

3.ควรบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลทั้งของ ทอท. กรมศุลกากร และกรมสรรพากร เพื่อ ทอท. จะได้รับส่วนแบ่งอย่างครบถ้วน

4.ควรพิจารณาศึกษากฎหมายที่เกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจทั้งหมด เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535, พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม พ.ศ.2542

5.ควรกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการจัดเก็บรายได้ให้เกิดความชัดเจน โปร่งใส เปิดเผย เป็นธรรม ไม่ให้ขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

และดำเนินการเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบ

แม้ข้อเสนอทั้ง 5 จะยังไม่ปรากฏผลเป็นรูปธรรม

แต่

เมื่อกล้าเสนอข้อเสนอชนิด “หักด้ามพร้าด้วยเข่า” ขึ้นมาถึงผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐบาล

ขวัญของผู้เสนอย่อมมิใช่ธรรมดา

ยิ่งถ้าพิจารณาว่าพร้าที่จะถูกหักนั้น สนิทแนบแน่นกับขั้วอำนาจด้านหนึ่งในรัฐบาล

ความใกล้ชิดของกลุ่มผู้เสนอต่ออีกขั้วอำนาจหนึ่งยิ่งกลายเป็นประเด็นที่ถูกจับตา

เบื้องหลังผลประโยชน์มหาศาล

อาจมิใช่อาชญากรรมเสมอไป

แต่ขาด “สายสัมพันธ์” มิได้เลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image