ไม่สดชื่น โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (แฟ้มภาพ)

การประเมินผลงาน 3 ปีรัฐบาล กลายเป็นการตอบโต้ จากฐานความคิด เหตุผล และผลประโยชน์คนละอย่าง

จากพรรคการเมืองที่เสียงดังสุดมี 2 พรรค คือ เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์

พรรคหนึ่งนั้นแหลมคมกว่า ในฐานะรัฐบาลที่ถูกรัฐประหารล้มไป

และกลายเป็นจำเลยการเมือง เพราะคณะทหาร ใช้การบริหารงานของรัฐบาลที่พรรคดังกล่าวเป็นแกนนำเป็นเงื่อนไขล้มกระดาน เข้ามาจัดระเบียบการเมือง

Advertisement

และยังเป็นตัวตั้งของประเด็นว่า การรัฐประหารจะ “เสียของ” หรือไม่

โดยจะใช้ผลการเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะเกิดในปี 2561 เป็นตัวชี้วัด

ก็คงได้ยินข่าวกันแล้วว่า มีเสียงจากทำเนียบเปรยๆ ทำนอง ไม่สดชื่น ถ้าประชาชนจะเลือก “อย่างเดิมๆ”

Advertisement

แสดงให้เห็นว่า ร่องรอยของการที่จะเลือกอย่างเดิมๆ ยังมีอยู่

ในวาระ 3 ปี คสช. พรรครัฐบาลที่ถูกล้มไป จึงจำเป็นต้องแสดงออก ด้วยการวิเคราะห์วิจารณ์ อย่างน้อยๆ ก็เพื่อปกป้องตัวเอง จากข้อหาทางการเมืองต่างๆ

และเพื่อรักษาฐานเสียง ที่อาจจะกลับมาเลือกแบบเดิมๆ

ส่วนอีกพรรคหนึ่ง ผลจากเหตุการณ์รัฐประหาร ทำให้ตกเป็นจำเลยการเมืองหลายประเด็นเช่นกัน

การออกมาวิจารณ์รัฐบาลที่เกิดจากรัฐประหาร มีความจำเป็น โดยเฉพาะถ้ามองการเมืองระยะยาวที่พรรคนี้ยังจะต้องกลับมาสู่การเมือง

และอาจมาเป็น “ตัวเลือก” อีกขั้วสำคัญของการเมือง

ดังนั้น เรื่องหนึ่งที่ต้องทำในระยะนี้ ได้แก่การเป็นปากเสียงแทนฐานเสียงที่เดือดร้อนในการทำมาหากิน

ส่วนพรรคอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ยังสงวนท่าที ยึดแนวทางปลอดภัย ยืนยันความพร้อมเลือกตั้งสถานเดียว

ไม่ว่ากฎกติกาจะเป็นอย่างไร จะเก็บค่าสมาชิกพรรคจากประชาชนเท่าไหร่ก็ตาม

แน่นอนว่า เมื่อมีเสียงวิจารณ์ ก็ต้องมีการตอบโต้

โดยเฉพาะการวิจารณ์ผู้มีอำนาจ ซึ่งมีศักยภาพในการตอบโต้สูงกว่าผู้วิจารณ์

อย่างที่ทราบกันว่า มีสมาชิกสภาแต่งตั้ง ออกมายืนยันว่า รัฐบาลปัจจุบันทำงานดีกว่ารัฐบาลเลือกตั้ง

ทั้งแก้ปัญหาเดิมๆ ที่รัฐบาลเลือกตั้งก่อไว้ และวางรากฐานสำหรับรัฐบาลต่อไป

ยังมีผู้มีหน้าที่ ออกมาให้ข่าวตอบโต้ชี้แจงแทนรัฐบาล

พูดจาเป็นข่าวไปแล้ว ดูหรูหราน่าเชื่อไปหมด แต่ฝ่ายไหนน่าเชื่อมากกว่ากัน ฟังแล้วจะเชื่อฝ่ายไหน เป็นเรื่องที่ชาวบ้านจะตัดสิน

ความน่าเชื่อนี้ ขึ้นกับหลายอย่าง ใช่ว่ามีอำนาจเหนือกว่าแล้วจะมีคนเชื่อถือมากกว่า

หรือจะใช้อำนาจที่มี บังคับให้คนเชื่อ ก็ไม่ง่ายนัก

ตัวช่วยในการเลือกเชื่อ ก็ยังมีเสียงจากนักวิชาการ โพล ผู้รู้ ผู้อยู่ในแวดวงปัญหาต่างๆ

กระบวนการแบบนี้ ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาของ “การเมือง” ไม่ว่าจะเป็นการเมืองในระบบ หรือการเมืองแบบพิเศษ

ที่จะต้องมีความเห็นที่แตกต่าง และต้องหาทางแสดงความเห็นนั้นออกมา

เพียงแต่ว่า ในการเมืองแบบพิเศษ เสียงที่เห็นต่างจากผู้มีอำนาจ มีความเสี่ยง อาจจะต้องเบาๆ แผ่วๆ สักหน่อย

ถ้าเป็นการเมืองปกติในวาระแบบนี้ ป่านนี้คงมีการอภิปรายในสภา นอกสภา ตั้งเวทีเสวนา กันครึกครื้นไปแล้ว

ทั้งหมดนี้ จะกลายเป็นกระแสความคิดความเห็น ซึ่งเป็นประโยชน์มากสำหรับผู้มีอำนาจ หากไม่รีบมองเป็น “เกมการเมือง” ไปเสียก่อน

หากถอดรหัสออก ตีความแตก น่าจะเห็นหนทางเดินไปในอนาคตที่สดชื่นรื่นรมย์มากกว่านี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image