อภัย : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

เดล คาร์เนกี นักปรัชญาเมธีเป็นปรมาจารย์ผู้สร้างแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ชาวอเมริกาได้กล่าวไว้ว่า “…บางทีเราไม่อาจจะรักศัตรูของเราได้ดังนักบุญ ทว่า เพื่อสุขภาพเพื่อความสุขของตนเองอย่างน้อยเราก็ต้องให้อภัยพวกเขา ลืมพวกเขาเสีย การกระทำเช่นนี้ถือเป็นการกระทำอันชาญฉลาด…”

การเก็บความโกรธแค้นเราไว้ในใจ รังแต่จะทำให้รอยแผลในใจเจ็บลึกยิ่งขึ้น หายยากกว่าเดิม ความเจ็บปวดที่เกินจะอดทนไหวเช่นนี้ จะทำให้คนเราเป็นคนเลวร้ายที่สุด คลุ้มคลั่ง ขาดสติได้ ประมาณว่าเป็น “คนบ้า”

ความคิดแค้นเป็นความทุกข์ทรมานแบบหนึ่ง ในสังคมโดยบริบทไม่เว้นแต่ในเมืองนครเมืองหลวง หรือแห่งสลัม ชุมชน แม้ในละครทีวีมีให้เห็น กรณีตัวอย่างเรื่องเล่าที่เป็นเรื่องจริงในชีวิตของสาววัยกลางคนคนหนึ่ง (นามสมมุติ นางนิด) ไม่เคยคิดฝันมาก่อนเลยว่า สามีจะทอดทิ้งทั้งๆ ที่เรียนหนังสือร่วมกันมาตั้งแต่ชั้นประถม มัธยม มหาวิทยาลัยเดียวกัน บ้านอยู่หมู่บ้านเดียวกัน เรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว แต่งงานอยู่ด้วยกันมา เธอทุกข์ระทมเสียใจอย่างมากแทบเป็นแทบตาย นำสิ่งของที่สามีเคยใช้ไปโยนทิ้ง ทั้งยังตัดรูปสามีที่มีอยู่ในอัลบั้มออกเป็นชิ้นเล็กๆ จนเกลื่อนบ้าน ขณะที่มีลูกชายหญิงสองคน รู้สึกกลัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กลัวแม่ดุ ทั้งคู่ไม่กล้าเอ่ยคำว่า “พ่อ” ต่อหน้าแม่อีก แม้ว่าในใจจะคิดถึงผู้เป็นพ่อก็ตาม

นางนิดเคยอ่อนโยน ใจเย็น สุขุมในวันวาน แต่วันนี้กลายเป็นคนขี้หงุดหงิด ฉุนเฉียวร้าย เธอฝากความหวังทั้งหมดเอาไว้ที่ลูกทั้งสองคน เมื่อรู้ว่าผลการเรียนของลูกทั้งสองตกลง ก็จะต่อว่าอย่างดุดัน ทั้งตวาดหรือแม้กระทั่งตบตี

Advertisement

จากนั้นลูกทั้งสองที่ว่านอนสอนง่าย ก็เปลี่ยนเป็นคนเย็นชา ไม่พูดไม่จา เหม่อลอย ถึงขนาดว่าตลอดทั้งวันไม่พูดอะไรเลยแม้แต่ประโยคเดียว..

วันหนึ่ง เธอให้ลูกๆ เข้าไปอ่านหนังสือในห้อง จากนั้นเธออยู่คนเดียวเปิดโทรทัศน์ด้วยความเบื่อหน่าย ในทีวีกำลังฉายหนังต่างประเทศเรื่องหนึ่ง เนื้อหาบอกเล่าถึงแม่ที่เลี้ยงลูกทั้งสามคนอยู่เพียงลำพัง เธอค่อยๆ ถูกหนังเรื่องนี้ดึงดูดความสนใจเมื่อเธอดูไปเรื่อยๆ น้ำตาของเธอก็ไหลรินเต็มใบหน้า เธอไม่ได้ร้องไห้มานาน เธอคิดว่าตัวเองไม่มีน้ำตามานานแล้ว

เธอรู้สึกว่าบทบาทของแม่ในหนังเรื่องนั้นก็คือ “ภาพ” ระทึกของตัวเอง เพราะความกดดันทั้งสองทาง ทั้งด้านจิตใจและการดำรงชีวิตทำให้แม่ที่มีอยู่ในหนังมีนิสัยและความรู้สึกที่เบี่ยงเบนไป หล่อนเผด็จการต่อลูกๆ หยาบคายต่อลูกๆ ถึงกับลงไม้ลงมือกับเด็กอย่างขาดสติ จนเมื่อเรื่องเกิดขึ้นไปแล้ว จึงค่อยมาเสียใจและเจ็บปวดภายหลัง นางนิดรู้สึกสะเทือนใจอย่างแรง เพราะขณะนี้ตนเองก็ปฏิบัติเช่นนี้กับลูกทั้งสองเหมือนกันไม่ใช่หรือ? ตอนจบของหนังลูกๆ ต่างพากันหนีจากผู้เป็นแม่ไป ปล่อยให้เธอใช้ชีวิตเปล่าเปลี่ยว เดียวดาย เพียงลำพัง

Advertisement

คืนนั้นทั้งคืน “นางนิด” นอนไม่หลับ เอาแต่คิดทบทวนไปมา เธอคิดว่าเรื่องนี้ช่างน่ากลัวเหลือเกิน ดูหนังแล้วย้อนดูตัวเอง เธอกลายเป็นคนแบบนี้ไปเมื่อไร… ลูกรักทั้งสองคนต้องกลายมาเป็นจำเลยผู้แบกรับอารมณ์ ผลการแต่งงานมีคู่ของพ่อแม่ที่ล้มเหลว เขาทั้งสองกลายเป็นเหยื่อรองรับอารมณ์ความโกรธแค้นของแม่ผู้บังเกิดเกล้า แท้ที่จริงแล้ว ไม่แฟร์กับลูกทั้งสอง เวลาที่ตัวเองบาดเจ็บก็กลับกันมาทำร้ายลูกทั้งสองไปด้วยเช่นกัน

นางนิดจึงตัดสินใจว่าจะไม่ให้เป็นเรื่องแบบนี้ต่อไป เธอปรับเปลี่ยนตัวเองเสียใหม่ เริ่มที่ตัวเองเท่านั้นที่จะแก้ปัญหา คือ วิธีการพูดกับลูกชายลูกสาวใหม่ ยามที่ลูกไม่เชื่อฟัง ก็ไม่ต่อว่าต่อขาน ยามที่ลูกมีเรื่องในใจ เธอก็จะรับฟังอย่างอดทนพร้อมกับให้คำปลอบใจ ยามที่ผลการเรียนคะแนนออกมาไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง เธอไม่ตำหนิและโบยตีอีก แต่จะชี้ให้เห็นจุดเด่นด้านอื่นๆ ของลูกแทน ให้กำลังใจกับลูกๆ ให้ของ ให้ความรัก ให้ความมั่นใจกับลูกๆ เมื่อผ่านการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ลูกทั้งสองของแม่นิดก็เริ่มมั่นใจคลายความเครียด หวาดกลัวที่เคยมีต่อแม่นิด เริ่มพูดจาโต้ตอบ มีรอยยิ้มที่แก้มของลูกทั้งสอง นัยน์ตาสดใสแววงาม จากก้มหน้าประจำก็จะเงยหน้าขึ้นพูดจาโต้ตอบปราศรัยกับแม่นิด แม่นิดเคยหน้าเครียดขาดรอยยิ้ม

ณ เวลานี้ใบหน้าเริ่มผ่อง มีรอยยิ้ม จริงใจ ให้ความรัก ความเอ็นดู เมตตา กรุณา กับลูกทั้งสอง ยังส่งผลให้ความผูกพัน ความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกก็ดูจะเข้ากันได้ดีนี้ตามลำดับ

วันหนึ่งแม่นิดเปิดสมุดการบ้านของลูกทั้งสองแล้วเจอข้อความที่เขียนไว้ว่า “วันแม่” ใกล้จะถึงแล้วหนูอยากจะมอบดอกมะลิ ที่สวยที่สุดให้แม่นิด รอให้หนูโตขึ้นมีเงินเดือนจะต้องมอบของขวัญที่ดีๆ ให้แม่นิด และแล้วน้ำตาแห่งความปีติก็ไหลพรากแก้มของเธอทั้งสองข้าง แม้ว่าทั้งลูกชายลูกสาวจะมีครอบครัวไม่สมบูรณ์ แต่ก็เรียนรู้เผชิญหน้ากับความจริง และห่วงใยเอาใจใส่ผู้อื่น แท้จริงแล้ว “โลกที่มีกันเพียงสามคนแม่ลูก ก็มีความสุขได้เช่นกัน” ไม่ใช่หรือ

นิดหรือแม่นิดเธอกลับเป็นคนไม่โกรธแค้นอดีตสามีเหมือนเมื่อก่อนอีก ทั้งยังรู้ซึ้งดีว่า “ความคิดแค้น” นั้นเป็นความทุกข์ทรมานมาก สุดท้ายคนที่จะต้องเจ็บปวดก็คือ “ตัวเอง” เพราะการคิดแค้น โกรธแค้น พยาบาท จองเวรเป็นการทรมานตนเองอย่างหนึ่ง

เป็นการทรมานที่จะค่อยๆ ทำลายความสุข ความสมหวัง ความดีงาม และความอ่อนโยนให้หมดไปในที่สุด

เนลสัน แมนเดลา ชาวแอฟริกา เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง เขาเคยถูกจองจำอยู่ที่เกาะร็อบเบน อันรกร้างในมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นเวลายาวนานถึง 27 ปี เนื่องมาจากการคิดค้านนโยบายการแบ่งแยกสีผิวของผู้บริหารประเทศแอฟริกาใต้ท่ามกลางวันเวลาอันแสนยาวนานเกือบสามทศวรรษ แมนเดลาต้องทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสและวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 1990 ในที่สุดเนลสัน แมนเดลา ก็ได้รับการปล่อยตัว และวันที่ 10 พฤษภาคม 1994 แมนเดลาในวัย 76 ปี เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีผิวดำคนแรกในหน้าประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐแอฟริกาใต้อย่างเป็นทางการ

สิ่งที่คาดไม่ถึงคือ “เนลสัน แมนเดลา” ผู้ได้รับการเลือกให้เป็นประธานาธิบดีนั้นไม่เพียงแต่จะไม่แก้แค้นบรรดาผู้คนเรือนจำที่เคยปฏิบัติต่อเขาอย่างทารุณเมื่อครั้งถูกจองจำอยู่ในคุกเกาะร็อบเบน ซ้ำยังเชิญคนเหล่านี้ให้เข้าร่วมพิธีดำรงตำแหน่งอันยิ่งใหญ่ของตนเสียอีก และให้นั่งร่วมกับแขกผู้มีเกียรติซึ่งเป็นตัวแทนจากรัฐบาลที่มาจากหลายประเทศทั่วโลก เมื่อพิธีการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเริ่มขึ้น แมนเดลาจึงลุกขึ้นกล่าวคำปราศรัย เขากล่าวว่า การได้ต้อนรับแขกผู้มีเกียรติทั้งหลายนี้ทำให้รู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง และดีใจที่สุดคือ… เจ้าหน้าที่เรือนจำทั้งสามคนที่เคยดูแลเขาในยามนั้นก็มาร่วมในพิธีนี้ด้วย จากนั้นก็เชิญให้ผู้คุมทั้งสามคนลุกขึ้น ก่อนจะแสดงความเคารพต่อผู้คุมทั้งสามที่เคยคุมขังและควบคุมเขาอย่างเคร่งครัด

งานพิธีสงบเงียบฉับพลัน ทุกคนต่างก็สะเทือนใจกับการกระทำเช่นนี้ ประธานาธิบดีแมนเดลาได้กล่าวหลังจากนั้นว่า… ตนเองในยามวัยรุ่นนั้น นิสัยหุนหันพลันแล่นและมุทะลุ ซึ่งเวลาที่อยู่ในคุกเขาได้เรียนรู้การควบคุมอารมณ์ของตนเอง ชีวิตในคุกอันแสนยากลำบากได้หล่อหลอมความมุ่งมั่นและความอดทนให้แก่เขา ทำให้เขารู้ว่าการจัดการกับความทุกข์ทรมานและยากลำบากอย่างไรสำหรับตัวเองแล้ว

สิ่งนั้นจะเป็นทรัพย์สมบัติอันมีค่ามหาศาล

“อับราฮัม ลินคอล์น” เป็นนักการเมืองต้นแบบอีกคน ที่ได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาถึงสองสมัยก็มีเรื่องราวดีที่เล่าต่อกันมาเป็นยาวนาน ความว่า… ช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี ขณะที่ลินคอล์นกล่าวคำอภิปราย เขาก็ต้องพบกับการดูหมิ่นจากวุฒิสภาคนหนึ่ง วุฒิสภาคนนั้นกล่าวว่า “…ลินคอล์นก่อนที่คุณจะเริ่มอภิปราย ผมหวังว่าคุณจะจำได้นะว่าคุณเองเป็นลูกช่างทำรองเท้า…”

ครั้งนั้นลินคอล์นได้กล่าวว่า “…ผมต้องขอบคุณเป็นอย่างยิ่งที่คุณทำให้ผมได้นึกถึงคุณพ่อซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ผมจะจำความหวังดีของคุณเอาไว้ ผมทราบดีว่าตนเองคงไม่อาจทำหน้าที่ประธานาธิบดีได้เท่าคุณพ่อซึ่งเป็นช่างทำรองเท้าแน่ๆ…แล้วผมไม่ได้กำจัดศัตรูอย่างนั้นหรือเมื่อเขากลายเป็นมิตรกันแล้ว ศัตรูก็ไม่เหลืออีกต่อไป…” ประธานาธิบดีกล่าวอย่างอ่อนโยน และนั่นคือวิธีการที่ประธานาธิบดีลินคอล์นใช้กำจัดศัตรูทางการเมือง โดย “เปลี่ยนศัตรูให้กลายเป็นมิตร”

บนกำแพงอนุสาวรีย์ที่ใช้ชื่อประธานาธิบดีลินคอล์นได้สลักคำกล่าวไว้ว่า อย่ามีเจตนาร้ายต่อผู้ใด มีเมตตากรุณาอันยิ่งใหญ่ต่อทุกคน ยืนหยัดในความยุติธรรม เพราะพระเจ้าบันดาลให้เขารู้จักความเป็นธรรม เราจะปฏิบัติหน้าที่การงานที่กำลังดำเนินให้สำเร็จและสมานแผลให้กับประเทศชาติ

กรณีแม่นิด เนลสัน แมนเดลา สู่อับราฮัม ลินคอล์น เป็นเรื่องของ “ความแค้น” ความโกรธ ความเกลียด ความอาฆาต ความชั่ว อันอาจทำให้ “อารมณ์” ขาดสติ ขาดสมาธิ จะทำอะไรๆ ก็ได้ที่คาดไม่ถึง แต่การรู้ระลึกของ “แม่นิด” คนธรรมดาๆ รู้ซึ้งว่าความคิดแค้นเป็นเรื่องทุกข์ทรมานมาก สุดท้ายคนนี้ต้องเจ็บปวดก็คือตัวเอง เนลสัน แมนเดลา ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ ถ้าหากตนเองไม่ละทิ้งความเจ็บปวด ความเครียดแค้นเอาไว้เบื้องหลัง เท่ากับว่าผมก็ยังถูกคุมขังอยู่ในคุกอยู่ดี ส่วนอับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 2 สมัย ใช้วิธีกำจัดศัตรูทางการเมืองด้วยการ “เปลี่ยนศัตรูให้กลายเป็นมิตร” ด้วยวาทกรรมทางการเมืองเรื่องที่ว่า “…สำหรับวุฒิสมาชิกทุกท่านก็เหมือนกันครับ ถ้ารองเท้าที่คุณสวมอยู่เป็นรองเท้าที่คุณพ่อผมทำละก็ หากต้องการซ่อมแซมหรือแก้ไข ผมก็จะช่วยแก้ไขให้อย่างเต็มความสามารถ ทว่ามีสิ่งหนึ่งที่ผมยืนยันได้ ก็คือ ฝีมือคุณพ่อผมไม่มีใครเทียบได้อย่างแน่นอน…”

ผู้เขียนเชื่อว่าทุกกรณีของความ “โกรธแค้น” ที่มีต่อกันรุนแรงขนาดใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นคนระดับใด ความแค้นทำให้จิตตกอยู่ในความมืด “เรา” ต้องเป็นผู้ให้ “อภัย” ต่อผู้อื่นที่โกรธแค้นเราก็คือ การทำดีกับตนเอง ขอเพียงแค่เรียนรู้วิธีให้ “อภัย” ปล่อยวางความโกรธแค้น จึงจะสามารถเริ่มตั้งชีวิตใหม่ได้ “ตั้งสติ” ถอยหนึ่งก้าวคือ “การให้อภัย” ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เป็นทานที่สูงส่ง แล้วทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตย่อมมีทางออกเสมอ

บางครั้ง “การให้อภัย” เกลี้ยกล่อมคนได้มากกว่า “การลงโทษ” หรือ “แก้แค้น” แท้ที่จริงแล้ว มีเพียงคนฉลาดที่จิตใจกว้างขวางอย่างกรณีทั้งสามท่าน จึงจะรู้จักการให้อภัย ก็คลายความ “ขัดแย้ง” ที่มีกับผู้อื่น สร้างมนุษยสัมพันธ์อันเป็นไมตรีที่ดีงามเช่นนี้ “ประเทศไทย” หากเราอาจจะลองใช้วิธีการนี้ดูบ้าง ท่านจะได้รับการสนับสนุนและความเชื่อถือจากคนหมู่มาก เป็นการสร้างพื้นฐานที่มั่นคงสำเร็จ

ความสำเร็จในหน้าที่การงาน อย่างกรณีแม่นิด เนลสัน แมนเดลา อัมราฮัม ลินคอล์น ไงเล่าครับ

นพ.วิชัย เทียนถาวร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image