นวัตกรรมหุ่นยนต์ตอบโจทย์อนาคต ; โดย มณวลัญช์ ธาตุธรรม

เห็นคลิปส่งต่อกันใน Social Media ที่โชว์ความสามารถของหุ่นยนต์ทอดไข่เจียว ลีลาท่าทางตั้งแต่การตอกไข่ ใส่ซอส ลงทอด เคาะกระทะ ไปจนโยนไข่ลอยฟ้าและรับได้อย่างแม่นยำ ออกมาเป็นไข่เจียวหน้าตาสะสวยดูดี 1 จานนั้น เล่นเอาเรายังอายว่าจะโยนไข่ได้แม่นเท่าเจ้าหุ่นหรือไม่ งานนี้ต้องขอชมผู้คิดค้นที่โชว์ผลงานได้ฮือฮาสมเป็นพระเอกของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ไทย ส่วนรสชาติไข่เจียวจะอร่อยทัดเทียมที่เราๆ ท่านๆ ทอดเองกันรึปล่าวคงต้องขอตามไปชิมอีกที

นวัตกรรมนี้บอกให้เห็นว่าโลกยุคที่ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนนั้น คงไม่มีอะไรเกินกว่ามันสมองและความสามารถของมนุษย์ที่จะรังสรรค์สิ่งใหม่เพื่อตอบโจทย์อนาคต พูดง่ายๆ ก็คือ หุ่นยนต์เจ๋งๆ จะเกิดไม่ได้เลยถ้าไม่มีมนุษย์ทำให้เกิด แต่ที่น่าแปลกใจคือ นวัตกรรมดีๆ อย่างนี้กลับสร้างความกังวลให้คนบางกลุ่มว่ามันจะเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์

จริงอยู่!! แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะในจำนวนงานที่มนุษย์ทำอยู่นั้น ยังมีงานที่หนักเกินกำลัง งานที่เสี่ยงอันตราย หรืองานที่ไม่ดีต่อสุขภาพ หุ่นยนต์เหล่านี้จะเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงเหล่านั้น ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เกิดประโยชน์ในหลายส่วน อาทิ งานเก็บกู้ระเบิดที่ไม่ต้องเอาชีวิตคนเข้าไปเสี่ยง งานในสายการผลิตที่คนงานต้องใช้เวลาอยู่ในพื้นที่ร้อนจัดหรือเย็นจัดเป็นระยะเวลานาน งานเช็ดกระจกที่ทำในที่สูงและหาคนงานยาก รวมถึงงานที่ใช้ทักษะต่ำๆ แต่ต้องทำซ้ำในจำนวนมากๆ ซึ่งก่อให้เกิดความเบื่อหน่ายไม่ดีต่อคุณภาพชีวิตของแรงงาน

งานหลายงานที่คนไทยไม่ทำและต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวเป็นหลักก็มีความเสี่ยง หากยังจำเหตุการณ์ปี 2015 ที่แรงงานกัมพูชานับแสนคนยกขบวนกลับประเทศพร้อมกัน เพราะตื่นตระหนกกับข่าวลือว่าจะถูก คสช.จับกุมและกวาดล้าง ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักในกระบวนการผลิต กระทบการดำเนินธุรกิจของคนไทยทันที การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจึงตอบโจทย์ในประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน

Advertisement

สำหรับในสายการผลิตอาหาร เป็นที่ทราบกันดีว่ากระบวนการผลิตอาหารปลอดภัยนั้น ยิ่งลดการสัมผัสมือคนได้มากเท่าไหร่ ย่อมลดการปนเปื้อนได้มากเท่านั้น เนื่องจากคนถือเป็นพาหะนำเชื้อโรคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม การจะเลือกใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนย่อมต้องคำนึงถึงต้นทุนการผลิต สภาวะแวดล้อมในการใช้ รวมถึงข้อจำกัดต่างๆ ดังนั้น ข้อความทางไลน์ที่ว่าหุ่นยนต์ทอดไข่เจียวจะมาทดแทนแม่ค้าไข่เจียวหน้าปากซอยนั้น จึงมีความเป็นไปได้เท่ากับศูนย์

เกิดเป็นมนุษย์ที่เก่งกาจมากความสามารถเหนือสัตว์ทั้งปวง เป็นทั้งสัตว์ประเสริฐ เป็นทั้งสัตว์สังคม งานที่ต้องใช้สมอง ใช้ความคิด และงานที่ต้องมีการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนด้วยกัน หรืองานที่ต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ล้วนยังจำเป็นต้องอาศัย “มนุษย์” หรือแรงงานคนทั้งสิ้น ฉะนั้นจะกังวลไปไย ตราบเท่าที่เรายังสามารถพัฒนาตนเอง พัฒนาทักษะวิชาชีพเหล่านี้ได้ ก็ไม่จำเป็นต้องหวั่นไหวไปกับ “หุ่นยนต์” ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของมนุษย์

Advertisement

อันที่จริง ภาคธุรกิจของไทยก็นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้อยู่แล้วหลายอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมโลหะ อุตสาหกรรมก่อสร้าง หรือล่าสุดที่กำลังถูกกล่าวถึงกันมาก ก็คือ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ซีพีเอฟ ธุรกิจอาหารของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ที่ว่ากันว่าเข้าสู่ระบบซีพี 4.0 ไปแล้ว ภายใต้แนวคิด 3 สูง 1 ต่ำ คือเทคโนโลยีสูง ประสิทธิภาพสูง และการลงทุนสูง นำมาสู่ต้นทุนที่ต่ำลง หรือไทยเบฟ ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ประกาศตัวเข้าสู่ยุค 4.0 ตั้งบริษัทสร้างหุ่นยนต์ตอบสนองธุรกิจผลิตเครื่องดื่มของตน โดยทั้งสองบริษัทล้วนยืนยันตรงกันว่า ในโลกยุค 4.0 ระบบการผลิตจำเป็นต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีชั้นสูง โดยมีผู้ช่วยหลักคือหุ่นยนต์ที่สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องในปริมาณมาก พร้อมๆ กับการยกระดับทรัพยากรบุคคลในองค์กรให้มีศักยภาพสูงขึ้น

เมื่อประเทศไทยต้องเดินไปข้างหน้าให้สอดคล้องกับวิถีความเป็นไปของโลก การหยุดพัฒนาเทคโนโลยีย่อมเท่ากับถอยหลังเข้าคลอง … คนไทยจึงควรเปิดรับนวัตกรรมที่จะช่วยตอบโจทย์อนาคตของประเทศ แล้วเร่งพัฒนาทักษะความสามารถของตนและเด็กรุ่นหลังให้พร้อมรับ Thailand 4.0 ที่กำลังจะมาถึง…ดีกว่าการนั่งตีอกชกตัวแล้วโวยวายว่าจะถูกหุ่นยนต์แย่งงาน

มณวลัญช์ ธาตุธรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image