กัมปนาท ระเบิด กับ ‘กลยุทธ์’ การเมือง เป้า คือ ปิดเกม

พลันที่กัมปนาทแห่งระเบิดก้องขึ้นในคืนวันที่ 15 พฤษภาคม บริเวณข้างโรงละครแห่งชาติ ไม่ว่าใครจะกำหนด “กลยุทธ์” อย่างไร

เป็น “ท่อพีวีซี” แตก หรือ “ประทัดยักษ์”

แต่ความเป็นจริงที่ต้องยอมรับว่า ใครที่ตกเป็นเหยื่อ ใครที่อยู่ในบริเวณนั้นย่อมสามารถสรุปได้จากความเป็นจริงว่า

เป็นเสียงดัง “แก๊ก” หรือเป็นเสียงดัง “ปัง”

Advertisement

ที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ “ความเป็นจริง” เริ่มคลี่คลายและแผ่แบออกมาโดยการตรวจสอบจากสิ่งที่เรียกว่า “วัตถุพยาน”

1 สะท้อนความเกี่ยวเนื่อง สะท้อนความสัมพันธ์

ขณะเดียวกัน 1 ความเกี่ยวเนื่อง ความสัมพันธ์ นั้นมิได้ดำรงอยู่ห่างไกลเท่าใดนัก หากอยู่ที่กัมปนาทแห่งระเบิดบริเวณถังขยะ หน้าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเก่า ถนนราชดำเนินกลาง เมื่อวันที่ 5 เมษายน

Advertisement

ยืนยันว่าความเป็นพี่ ยืนยันความเป็นน้อง

ไม่ว่าจะเป็น พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. ไม่ว่าจะเป็น พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น. ซึ่งรับผิดชอบโดยตรง

คนแรก เพราะเป็นรอง ผบ.ตร.ฝ่ายความมั่นคง

คนหลัง เพราะเป็น ผบช.น.เจ้าของพื้นที่กรุงเทพมหานคร

จึงต้องมากด้วยความรอบคอบ มากด้วยความรัดกุม อาจดำเนินไปอย่างมี “กลยุทธ์” แต่มิอาจใช้กลยุทธ์อย่างเดียวกันกับเมื่อแรกระเบิด

การสับขาหลอกยังจำเป็น แต่ต้องอิงตาม “หลักฐาน”

โปรดสังเกตว่า ยังไม่มีคำยืนยันอย่างเป็นที่ “ประจักษ์” เชิงหลักฐานในความสัมพันธ์ระหว่างระเบิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน กับระเบิดในวันที่ 15 พฤษภาคม

ทั้งยังตีวงกว้างไปถึงสถานการณ์ระเบิดใน “อดีต”

ไม่ว่าจะเป็นอดีตของการเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 และก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

และรวมถึงสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ความเป็นจริงที่จำเป็นต้องยอมรับกันโดยพื้นฐาน คือ ระเบิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน กับ ระเบิดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม เป็นระเบิด “การเมือง”

ต้องการก่อกวน แต่ไม่ต้องการชีวิต

ยิ่งกว่านั้น แม้ระเบิดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม จะผ่านมา 1 เดือนเศษแล้ว แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นฝีมือของใครหรือกลุ่มใด

เพราะว่ายัง “จับ” ตัว “มือระเบิด” ไม่ได้

แม้ว่าจะมีการตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิด แม้ว่าร่องรอยและพยานหลักฐานจะบ่งชัดว่าลายมือในการประกอบระเบิดมีรากฐานมาอย่างไร

นี่จึงเป็น “บทเรียน” อย่างทรงความหมาย

ต้องตระเตรียมทางความคิดเอาไว้ด้วยว่า สถานการณ์เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม อาจดำเนินไปอย่างเดียวกันกับสถานการณ์เมื่อวันที่ 5 เมษายน

นั่นก็คือ แม้จะมี “เบาะแส” แต่ก็เหมือนกับ “ไร้ร่องรอย”

เพราะทั้งหมดนี้คือ การลอบวางระเบิด และยังเป็นระเบิดในทาง “การเมือง”

ไม่ว่าระเบิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน ไม่ว่าระเบิดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม เป็นระเบิดการเมืองอย่างแน่นอน

ไม่เพียงเกิดขึ้นในพื้นที่ถนนราชดำเนิน และสนามหลวง หากแต่ยังเกิดขึ้นอย่างอิงกับความหมายของวันและเดือน

อย่างแรกกับ “รัฐธรรมนูญ” ล่าสุดกับ “คสช.”

ถนนทุกสายยังมุ่งไปยัง “รัฐบาล” และมีผลข้างเคียงไปถึง “คสช.”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image