การสลับขั้วในการเมืองไทย

ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนใหญ่ของนักเรียนอาชีวะมาจากชนชั้นกลางระดับล่าง ในตอนนั้นคนเหล่านี้หมายถึงคนจนเมืองและชนบท ซึ่งเพิ่งเข้าสู่อาชีพในเศรษฐกิจสมัยใหม่ภายใต้นโยบายพัฒนา ทำให้มีฐานะเศรษฐกิจดีและมั่นคงขึ้น แต่ก็ไม่ดีพอจะลงทุนกับการศึกษาของลูกได้ยาวนานนัก จึงเลือกที่จะให้เรียนด้านอาชีวศึกษา

เช่นเดียวกับลูกเสือชาวบ้าน ส่วนใหญ่คือคนที่อยู่ในเขตเมือง หรืออย่างน้อยก็ชุมชนที่อยู่ใกล้เมืองและกำลังหลุดจากภาคเกษตร (เช่น ส่วนใหญ่ของรายได้ของครอบครัวมาจากงานนอกภาคเกษตร) จริงอยู่แกนนำของลูกเสือชาวบ้านในแต่ละชุมชน มักเป็นพ่อค้าหรือข้าราชการที่มีฐานะดีในท้องถิ่น เข้าไปจัดตั้งสนับสนุนลูกเสือชาวบ้านเพื่อเป็นช่องทางที่จะมีบทบาททางการเมือง เช่น เป็นที่จับตาของนักการเมืองในฐานะคนที่สามารถยกคะแนนเสียงให้ได้จำนวนเป็นกอบเป็นกำ จึงเขยิบฐานะของตนในเครือข่ายของนักการเมือง ทั้งระดับชาติและท้องถิ่น (ในเวลาต่อมา) แต่ส่วนใหญ่ของสมาชิกไม่ใช่คนเช่นนั้น แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่คนจนกรอบในภาคการเกษตรหรือแรงงานรับจ้างในภาคเกษตรกรรม พูดอีกอย่างหนึ่งคือเป็นคนชนบทที่กำลังเขยิบฐานะทางเศรษฐกิจขึ้นมาระดับหนึ่งเหมือนกัน

(ขออนุญาตออกนอกเรื่องนิดหนึ่งด้วยว่าโดยส่วนตัวผมเชื่อว่าขบวนการลูกเสือชาวบ้านอาจมีพลังทางการเมืองอยู่ได้ก็เฉพาะในการเมืองที่มีการเลือกตั้งและต้องเป็นการเลือกตั้งที่อิงอาศัยความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์อย่างสูงด้วย นั่นคือเหตุผลที่ขบวนการลูกเสือชาวบ้านซบเซาลงไปเรื่อยๆ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา เพราะการเลือกตั้งถูกงดบ้าง เปลี่ยนจากอาศัยความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์มาเป็นการซื้อเสียงอย่างตรงไปตรงมามากขึ้นบ้าง หรือเปลี่ยนมาเป็นการเลือกพรรคมากขึ้นบ้าง)

ผมพูดถึงคนสองจำพวกนี้ก็เพราะคนสองจำพวกนี้นี่แหละที่เป็นหัวหอกต่อต้านขบวนการนักศึกษาชูอุดมการณ์อนุรักษนิยมคือชาติศาสน์ กษัตริย์ ไม่อยากให้นักศึกษาพาบ้านเมืองไปสู่ความเปลี่ยนแปลง “สถานะเดิม” คือสิ่งที่พวกเขาต้องการให้ดำรงคงอยู่สืบไป และอย่างมั่นคงด้วย จึงร่วมมือกับอำนาจตามประเพณีทุกอย่าง เพื่อบดขยี้ขบวนการนักศึกษาลงอย่างป่าเถื่อนในเหตุการณ์ 6 ตุลา

Advertisement

ตรงกันข้ามกับคนกลุ่มนี้ คือคนชั้นกลางระดับกลางและบน คนกลุ่มนี้มีเหตุไม่พอใจ “สถานะเดิม” หลายอย่าง ตกมาถึง 2519 นักธุรกิจและนายทุนมองเห็นชัดแล้วว่า อุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้าถึงทางตันแล้ว จะสร้างเส้นทางขนส่งคมนาคมอีกสักกี่เส้น ก็ไม่ทำให้ตลาดภายในขยายใหญ่ไปกว่าที่เป็นอยู่กี่มากน้อย ซ้ำร้ายตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำทั่วโลก ฉะนั้น ชาวไร่ที่บุกเบิกไปก่นสร้างไร่ปลูกพืชเศรษฐกิจ มีแต่จะจนลงมากกว่ารวยขึ้น ถึงจะลงทุนต่อไฟฟ้าไปให้ถึงทุกหมู่บ้าน พวกเขาก็ไม่มีเงินพอจะซื้อทีวีสี ฉะนั้น แม้จะปกป้องอุตสาหกรรมด้วยภาษีนำเข้าสูงสักเพียงไร ตลาดภายในก็โตได้แค่นี้

ความพยายามผลักดันให้รัฐบาลเปลี่ยนนโยบายจากอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้าไปสู่อุตสาหกรรมส่งออกไม่ประสบความสำเร็จทั้งในรัฐบาลทหารและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งไม่มีเสถียรภาพเอาเลยจึงไม่อาจเข้ามาปรับแก้นโยบายที่ใหญ่ขนาดนี้ได้ ดังนั้น แม้นักธุรกิจนายทุนเข้ามามีบทบาททางการเมืองโดยตรงมากขึ้นหลัง 14 ตุลา ก็ยังไม่อาจปรับแก้นโยบายได้ ภายใต้รัฐบาลทหาร นอกจากปรับแก้นโยบายไม่ได้แล้ว ยังต้องเสียค่าต๋งให้นายพลทั้งหลายด้วย จึงไม่คิดกลับไปสู่รัฐบาลทหารแบบเก่าอีก

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายถึงว่าคนเหล่านี้มีศรัทธาต่อประชาธิปไตยขนาดที่พร้อมจะรอเวลา ให้ประชาธิปไตยได้พัฒนาจนพวกเขาพอมีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเองได้มากขึ้น จะเป็นรัฐบาลทหารก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่รัฐบาลทหารแบบเก่า ซึ่งนอกจากเก็บค่าต๋งแล้ว ยังไม่ค่อยฟังเสียงของพวกเขาด้วย แต่ควรเป็นรัฐบาลทหารที่รักษาเสถียรภาพทางการเมืองและสังคมได้ แต่ฟังเสียงพวกเขา (ใน กรอ. เป็นต้น) และปรับแก้นโยบายให้เป็นไปในทิศทางที่พวกเขาต้องการ (นั่นคือเหตุผลที่รัฐบาล เปรม ติณสูลานนท์ ได้รับความนิยมจากพวกเขาอย่างสุดขีด และการปรับแก้นโยบายเศรษฐกิจเป็นการส่งออกก็เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลเปรม)

Advertisement

ผมไม่ปฏิเสธว่าคงมีนายทุนและนักธุรกิจระดับใหญ่บางคนที่ร่วมมือกับทหารในการก่อรัฐประหาร6ตุลาคม แต่นั่นหมายถึงพวกเขาได้ตกลงกันจนพอมองเห็นทิศทางในอนาคตได้ว่า รัฐบาลทหาร (ซึ่งจะมีพลเรือนหอยฉาบหน้าหรือไม่ก็ตาม) จะฟังเสียงพวกเขาบ้าง

ในระดับที่ต่ำลงมาจากนักธุรกิจระดับใหญ่และนายทุนใหญ่ๆคนชั้นกลางอึดอัดกับ”สถานะเดิม”มากขึ้น เพราะเมื่อเศรษฐกิจไม่ขยายตัวได้รวดเร็ว ก็หมายถึงลูกหลานหางานทำได้ยากขึ้นเพราะบริษัทเอกชนไม่ขยายกิจการ ในช่วงนั้น งานในภาคเอกชนกำลังเริ่มให้ค่าตอบแทนและเสถียรภาพได้สูงเท่าหรือกว่าราชการ ในขณะที่ภาคราชการก็ชะลอการขยายงานมาตั้งแต่ก่อน 14 ตุลาแล้ว แม้ว่ายุคประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลาไม่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงมากไปกว่ามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ยังดีกว่าย้อนกลับไปอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารอีก คนชั้นกลางระดับนี้คิดว่า ฝ่าไปข้างหน้าดีกว่าย้อนกลับไปสู่ “สถานะเดิม” แม้ว่าพวกเขาอาจไม่ได้ศรัทธากับระบอบประชาธิปไตยอย่างแน่นแฟ้นนัก แต่ “ประชาธิปไตย” ที่หมายถึงความเปลี่ยนแปลงไปจาก “สถานะเดิม” มีเสน่ห์แก่พวกเขาอย่างยิ่ง อย่างน้อยมันก็เปิดให้พวกเขาเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อปกป้องและเพิ่มพูนผลประโยชน์ของตนได้ดีกว่า

ชะตาชีวิตของพวกเขาก็ดีขึ้นจริงหลัง6ตุลาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ดึงทั้งทุนต่างประเทศและขยายตลาดจนทำให้สถานภาพทางเศรษฐกิจของกลุ่มคนสองจำพวกนี้สูงขึ้นอย่างผิดหูผิดตา น้ำหนักทางการเมืองของพวกเขาก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย ยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้น ก็ยิ่งผลักดันให้ “เปิด” ประตูประเทศให้กว้างขึ้น กว้างเสียจนนายทหารนอกราชการอย่างพลเอกเปรมรับไม่ไหว เพราะมันสั่นคลอน “ความเป็นไทย” อย่างถึงรากถึงโคนมากขึ้นไปพร้อมกัน แม้เมื่อจำเป็นต้องลอยตัวค่าเงินบาท รัฐบาลเปรมก็ขอลอยแบบมีการจัดการ (managed float) ดังนั้น อาศัยน้ำหนักทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น จึงเคลื่อนไหวให้พลเอกเปรมไม่รับตำแหน่งนายกฯ อีกต่อไปใน พ.ศ.2531

หลังจากนั้น ประตูประเทศก็เปิดอ้าซ่ามากขึ้นตลอดมา ใครๆ ก็พูดถึงโลกาภิวัตน์ว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ “ความเป็นไทย” ต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงเพื่ออยู่ร่วมกับโลกาภิวัตน์ แม้ในการปรับนั้นอาจหมายถึงอำนาจ, ผลประโยชน์, เกียรติยศของสิ่งที่เป็นตัวแทน “ความเป็นไทย” อาจต้องลดลงก็ตาม ในขณะเดียวกันคนชั้นกลางระดับบน, ระดับกลาง และระดับล่างก็อู้ฟู่ขึ้นอย่างรวดเร็ว แน่นอนในสัดส่วนที่ต่างกัน แต่ก็อู้ฟู่เหมือนกัน

“สถานะเดิม” ถูกทอดทิ้ง ไม่มีใครแคร์ที่จะรักษาแม้ส่วนใดส่วนหนึ่งเอาไว้อย่างจริงจังอีกแล้ว แม้แต่ภาษาไทย ในช่วงนี้มีผู้เสนอให้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาการสอน (language of instruction) ในโรงเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมขึ้นมาด้วยซ้ำ แม้ผู้ได้รับประโยชน์จาก “สถานะเดิม” จะเลือกใช้การรัฐประหารของกองทัพมาสกัดขัดขวาง แต่ก็ไม่อาจทำให้ “สถานะเดิม” หรือแม้บางส่วนของมันดำรงอยู่อย่างยั่งยืนได้ เป็นผลให้เกิด “พฤษภามหาโหด” ใน 2535 และรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนใน พ.ศ.2540

โดยสรุปก็คือตั้งแต่ 14 ตุลา จนถึงประมาณ 2540 คนชั้นกลางระดับกลางและบางส่วนของระดับบน ไม่เอากับ “สถานะเดิม” แต่พร้อมจะเกาะยอดคลื่นของโลกาภิวัตน์ไปไหนก็ได้เท่าที่คลื่นนั้นจะพาไป โดยอาศัยเรือซึ่งเรียกกันว่า “ประชาธิปไตย” นำไป ไม่ใช่เพราะศรัทธาต่อเรือลำนั้น เท่ากับว่าในการเล่นคลื่นโลกาภิวัตน์เรือ “ประชาธิปไตย” แล่นได้ดีที่สุด ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงเป็นด่านหน้าของกระแสประชาธิปไตยในสังคมไทย นำการประท้วงรัฐบาลทหารใน 2535 และผลักดันรัฐธรรมนูญ 2540 ด้วยธงเขียวไปทั่วเมือง

ตรงกันข้ามกับข้างต้น ในระยะแรกหลัง 14 ตุลา คนชั้นกลางระดับล่างยังอยากรักษา “สถานะเดิม” ไว้ อย่างน้อยก็รักษาไว้เป็นส่วนใหญ่ เพราะพวกเขาเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้นมาจากนโยบายของ “สถานะเดิม” จากครูประชาบาลกลายเป็นพ่อค้าขายปุ๋ย สะสมทุนจนสามารถรับซื้อพืชผลการเกษตร และเป็นนายทุนเงินกู้ในที่สุด หรือจากชาวนาไร้ที่ดิน ได้ครอบครองไร่บนที่สูงถึง 30 ไร่ แม้ไม่ได้ร่ำรวยขึ้นมา ซ้ำยังมีหนี้สินรุงรัง แต่อย่างน้อยก็พอเงยหน้าอ้าปากได้กว่าแต่ก่อน ก็เพราะ “สถานะเดิม” ที่สถาปนานโยบายพัฒนาขึ้นอย่างมั่นคงในประเทศ แม้ทางตันของอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า และราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำจะคืบคลานถึงเขาอย่างช้าๆ ด้วยก็ตาม แต่รัฐบาล เปรม ติณสูลานนท์ ก็ได้โอนงบประมาณลงไปปรับปรุงชีวิตของชาวชนบทหลายอย่าง ชีวิตของเขาดีขึ้นอย่างช้าๆ เหมือนกัน

ในช่วงนั้นคนชั้นกลางระดับกลางและบนคือหัวหอกของรัฐบาล “ประชาธิปไตย” ในขณะที่คนชั้นกลางระดับล่างไม่สู้จะวางใจกับรัฐบาลประเภทนี้นัก กระแสโลกาภิวัตน์เสียอีกที่ผลักให้ทุนใช้อำนาจรัฐเข้าไปแย่งชิงทรัพยากรในท้องถิ่นหนักมือขึ้น ก่อให้เกิดการลุกขึ้นสู้ของชาวบ้านเพื่อปกป้องทรัพยากรท้องถิ่นหลายครั้ง ซ้ำนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งก็มักเข้าข้างนายทุนที่สนับสนุนเงินแก่พรรคของตน ไข่แพงก็ช่วยนายทุนก่อน ไข่ถูกก็ช่วยนายทุนก่อน รัฐบาลทหารที่ขาดความชอบธรรมทางการเมืองเสียอีก ที่ต้องทำทีปกป้องผลประโยชน์ของคนเล็กคนน้อยมากกว่า

แต่ตกมาถึงปลายทศวรรษ 2540 กลับเกิดการสลับขั้วเป็นตรงกันข้าม คนชั้นกลางระดับล่างกลายเป็นหัวหอกของการตั้งรัฐบาล “ประชาธิปไตย” พร้อมจะแตกหักกับ “สถานะเดิม” อย่างถึงไหนถึงกัน โดยไม่อาลัยอาวรณ์ต่อ “ความเป็นไทย” มากนัก ในขณะที่คนชั้นกลางระดับกลางกลายเป็นสลิ่ม รังเกียจรัฐบาล “ประชาธิปไตย” รวมทั้งต่อต้านหลักการของประชาธิปไตยบางอย่างเช่นความเสมอภาคอย่างออกหน้า การต่อต้านของพวกเขาใช้ “ความเป็นไทย” และ “สถานะเดิม” เป็นเครื่องมือปลุกเร้าระหว่างกันอย่างได้ผล เพราะสามารถดึงมวลชนคนชั้นกลางได้เป็นหมื่นเป็นแสน ด้วยคำขวัญเช่น “เราจะสู้เพื่อในหลวง” บ้าง ธงชาติบ้าง สีสัญลักษณ์บ้าง การชูตระกูลผู้ดีเก่าเป็นแนวหน้าของผู้ร่วมเคลื่อนไหวบ้าง ฯลฯ

“สถานะเดิม” อยู่ตรงกลาง แต่มีการสลับขั้วเป็นตรงกันข้าม เกิดอะไรขึ้นระหว่าง 14 ตุลา ถึงปลายทศวรรษ 2540 ที่ทำให้ปรากฏการณ์สลับขั้วเกิดขึ้น เราจะอธิบายปรากฏการณ์นี้อย่างไร

ผมคิดว่าวิกฤตเศรษฐกิจ2540เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการสลับขั้วขึ้น

วิกฤตครั้งนั้นสอนทั้งคนชั้นกลางระดับบนและระดับกลางว่าการเปิดประเทศอ้าซ่าหรือที่เรียกกันว่าการยอมจำนนอย่างสร้างสรรค์ต่อโลกาภิวัตน์เป็นอันตรายอย่างยิ่งยวดจริงอยู่ที่เงินทุนที่ไหลเข้าจำนวนมากก่อนหน้านั้นถูกนำไปใช้ในการเก็งกำไรเหมือนเล่นพนันแต่นักธุรกิจนายทุนไทยไม่ได้มีความสามารถในการแข่งขันสูงนัก (ย้อนกลับไปดูประวัติการเติบโตของพวกเขาสิครับ) จะเอาเงินจำนวนนั้นไปทำอะไรก็ชัวร์พอๆ กับเล่นพนันเก็งกำไรโน่น เก็งกำไรนี่

คนที่เอาเงินไปขยายกิจการอย่างรวดเร็วเพื่อโกยเงินที่จะไหลเข้ามาในอนาคตต่างหากที่เจ็บตัวมากกว่าเพื่อนดังนั้นวิกฤตเศรษฐกิจจึงสอนให้พวกเขารู้ว่าโลกาภิวัตน์นั้นเป็นทั้งโอกาสและวิกฤต แต่ฝีมือขนาดเขารับได้แต่วิกฤตมากกว่าโอกาส ฉะนั้น ต้องควบคุมระดับของโลกาภิวัตน์ไว้ให้อยู่ในระดับที่เขาพอสู้ได้ ไม่ใช่เปิดอ้าซ่า

นโยบายแก้วิกฤตของรัฐในช่วงนั้นมุ่งจะช่วยฝ่ายทุนก่อน (โดยเฉพาะทุนมีเส้น) และปล่อยคนชั้นกลางระดับกลางออกมาขายแซนด์วิช หรือตกงาน เดือดร้อนกันไปทั่ว ยิ่งรับเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟ ก็แปลว่าสมรรถภาพของรัฐในการเป็นหมอนกันกระทบให้แก่คนชั้นกลางระดับกลางและล่างหมดไปเลย เพราะต้องรัดเข็มขัดตามคำสั่งไอเอ็มเอฟ

ดังนั้น คนชั้นกลางสองกลุ่มนี้จึงมองเห็นต่างชาติหรือโลกาภิวัตน์เป็นศัตรูตัวฉกาจ ทีแรกก็ไอเอ็มเอฟ ต่อมาก็ จอร์ช โซรอส แล้วใครก็ได้ที่เป็น “ทุนสามานย์” ผมคิดว่าแม้แต่ความรังเกียจตะวันตกหลังรัฐประหารครั้งล่าสุดนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการพลิกกลับจากมิตรเป็นศัตรูของตะวันตก พร้อมกันไปนั้นก็เกิดอารมณ์หวนหาอดีตความเป็นไทยที่สงบร่มเย็น ภายใต้ระเบียบทางสังคมที่ดำรงอยู่มาหลายศตวรรษ สังคมเต็มไปด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ กัมมันตพลเมืองทำให้ทั้งสังคมมุ่งไปสู่ความดีงามและความไพบูลย์ องค์กรตระกูล ส. ทั้งหลายซึ่งเกิดขึ้นในช่วงนี้ ล้วนสาบานต่อพระแก้วมรกตว่า ตั้งอยู่บนฐานคิดแบบนี้ จึงได้รับความชื่นชมอย่างปรีดาจากคนชั้นกลางสองกลุ่มนี้โดยพร้อมเพรียง

ตั้งแต่บัดนี้ไม่เอาอีกแล้วที่จะหลงใหลได้ปลื้มกับโลกาภิวัตน์จนสุดตัวอย่างที่ผ่านมาต้องมีรัฐที่คอยขวางกั้นต่างประเทศโดยเฉพาะตะวันตกเอาไว้บ้างอย่าให้มันทะลวงเข้ามากินตับไตไส้พุงอย่างที่ผ่านมาเป็นอันขาด

ตรงกันข้ามกับคนชั้นกลางระดับกลางและระดับบนคนชั้นกลางระดับล่างได้ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจน้อยกว่าตลาดของเขาอยู่ภายในเมื่อตลาดภายในหดตัวลง ย่อมได้รับผลกระทบบ้างเป็นธรรมดา เช่น เคยขายมะลิได้ทีละเป็นร้อยกิโล ก็เหลือเพียง 4-50 ก.ก. แต่ไม่มีเจ้าหนี้มาตามทวงหนี้อย่างที่คนชั้นกลางระดับกลางและระดับบนโดน ยิ่งไปกว่านั้น คนชั้นกลางระดับล่างยังพอจะมีกำลังเอื้อเฟื้อญาติพี่น้องที่ตกงานจากในเมืองได้บ้าง อย่างน้อยก็มีข้าวให้กินได้ครบมื้อ คนกลุ่มนี้จึงไม่มีความหวาดระแวงโลกาภิวัตน์เหมือนคนชั้นกลางระดับกลางและบน ตรงกันข้าม “ความเป็นไทย” อย่างที่ใช้เป็นข้ออ้างกันนั้นต่างหาก ที่ทำให้พวกเขาตกที่นั่งลำบากมากขึ้น ขายของบนทางเท้าก็ทำให้นครหลวงของประเทศขาดระเบียบงดงาม แม่น้ำที่ใช้หากินก็ควรเสียสละเพื่อเอาไปทำพลังงานไฟฟ้าให้แก่ชาติไทย

สิ่งที่เขาต้องการมากกว่าคือหลักประกันความมั่นคงในชีวิตเพราะเมื่อหลุดออกมาจากชุมชนหมู่บ้านหลักประกันตามประเพณีก็หายไปหมดเงินไม่ได้มีมากพอจะฝากชีวิตไว้กับเงินออมได้ทั้งหมด หลังวิกฤตเศรษฐกิจ มีการพูดกันถึง social safety net แต่ก็ไม่มีโครงการอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ซ้ำยังค่อนข้างเน้นไปที่แรงงานในระบบ ในขณะที่จำนวนมากของคนชั้นกลางระดับล่างคือผู้ประกอบการรายย่อย (เช่น ขับแท็กซี่ของตนเอง)

คะแนนเสียงท่วมท้นที่พรรค ทรท. ได้รับใน พ.ศ.2544 ส่วนหนึ่งมาจากคนชั้นกลางระดับกลางและบน เพราะหัวหน้าพรรคเคยประกาศว่าจะต้านทานแรงกดดันจากไอเอ็มเอฟ จะรักษา “ความเป็นไทย” ให้ดำรงคงอยู่อย่างแข็งแกร่งท่ามกลางโลกาภิวัตน์ แม้แต่ชื่อพรรคซึ่งคัดเลือกมาจากการส่งประกวดก็สะท้อนสังคมในอดีตตามอุดมคติขององค์กรตระกูล ส. ผู้หลักผู้ใหญ่สายอนุรักษนิยมยกย่อง คุณทักษิณ ชินวัตร เป็นอัศวินควายดำ อัศวินที่กลับมายืนบนฐานของ “ความเป็นไทย” ซึ่งใช้ควายดำเป็นสัญลักษณ์ เพราะฟังดูตรงข้ามกับม้าขาวของฝรั่งดี ฉะนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับ คุณชวน หลีกภัย ซึ่งแบหงายให้แก่ไอเอ็มเอฟจนหมดตัวเช่นนั้น จะหาใครมารักษาความเป็นไทยในยามวิกฤตได้ดีไปกว่า คุณทักษิณ ชินวัตร เล่า

แต่หลังจากคุณทักษิณหลุดจากคดีซุกหุ้นไม่นาน ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป คำสัญญากับคนชั้นกลางระดับกลางและบนที่จะรักษาความเป็นไทยอย่างเข้มข้นเริ่มจางลง นโยบาย dual track ของเขาคือการนำเศรษฐกิจของประเทศเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ แม้แต่ใน track ที่จะช่วยคนระดับล่าง ก็มุ่งช่วยให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อเข้าไปมีบทบาทในเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ ในตลาดทางเลือกบ้าง หรือในฐานะส่วนหนึ่งของสายพานการผลิตของบริษัทโลกาภิวัตน์บ้าง มีความพยายามจะแปรรัฐวิสาหกิจเป็นของเอกชน เข้าไปควบคุมระบบราชการได้กระชับ และปรับเปลี่ยนระบบค่าเช่าทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ของธุรกิจไทย ให้อำนวยประโยชน์แก่บริษัทบริวารของตนเท่านั้น

(ดูรายละเอียดใน Thanee Chaiwat, “Rents and Rent-Seeking in the Thaksin Era” และ “Conclusion”, ใน Pasuk Phongphaichit & Chris Baker, Thai Capital After the 1997 Crisis)

การสลับขั้วเกิดขึ้นอย่างชัดเจนมากขึ้นในการประท้วงของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยใน2548และสำเร็จเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์เมื่อเกิดรัฐประหารในพ.ศ.2549 บัดนี้คนชั้นกลางระดับกลางและบนซึ่งเคยเป็นหัวหอกของ “ประชาธิปไตย” กลับกลายเป็นศัตรูของ “ประชาธิปไตย” อย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา ในขณะที่คนชั้นกลางระดับล่างซึ่งเคยเป็นลูกเสือชาวบ้านและส่งลูกเรียนอาชีวะ กลับมายืนอยู่ฝั่งที่เรียกร้องประชาธิปไตย

แต่ที่อยู่ลึกกว่า “ประชาธิปไตย” (ไม่ว่าจะมีความหมายอย่างไร) คือการต่อสู้กันระหว่าง “ความเป็นไทย” ในความหมายถึงระเบียบทางสังคมที่เชื่อว่าจะปกป้องตนเองจากการแข่งขันในโลกกว้าง ไม่ใช่การแข่งขันทางเศรษฐกิจอย่างเดียวนะครับ แต่รวมถึงการแข่งขันทางศิลปะ, วัฒนธรรม, เกียรติยศ, ระบบคุณค่า ฯลฯ ด้วย น่าสนใจนะครับ “คำสั่ง” แรกๆ ของคณะรัฐประหาร 2557 คือค่านิยมสิบสองประการ ซึ่งเต็มไปด้วย “ความเป็นไทย” ตามอุดมคติของสังคมที่เคร่งครัดต่อช่วงชั้นอย่างเต็มที่ หรือการปรามกลุ่มผู้จะไปประท้วงผู้นำ คสช. ที่สำนักงานสหประชาชาติในนิวยอร์กว่า จะทำให้ประเทศไทยเสื่อมเสียเกียรติภูมิ (บนเวทีโลก) เพราะมันแสดงให้เห็นความไม่มีหัวมีก้อยในสังคมที่ไร้ระเบียบของไทยอย่างชัดเจน

อีกฝ่ายหนึ่งสนับสนุน”โลกาภิวัตน์”ในอีกความหมายหนึ่งที่ไม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยตรงนั่นคือความเป็นสากล ความเสมอภาคที่เรียกร้องกันมาตั้งแต่รัฐประหาร 2549 คือคุณค่าที่ถือว่าเป็นสากล เช่นเดียวกับ “ประชาธิปไตย”, “นิติรัฐ”, “ความเป็นฆราวาสวิสัย – Secularism”, “เสรีภาพ”, “ความเป็นใหญ่สูงสุดของฝ่ายพลเรือน – Civilian supremacy”, ฯลฯ ในขณะที่ให้ความสำคัญแก่ “ความเป็นไทย” น้อยลง หรือตั้งคำถามกับตำนาน “ความเป็นไทย” ที่เล่ากันมาแต่เก่าก่อน

ผมยังมองไม่เห็นว่าความขัดแย้งของคนสองกลุ่มซึ่งเกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจ2540จะคลี่คลายลงได้ในอนาคตอันใกล้ เพราะที่จริงแล้วจากจุดยืนอันแข็งแกร่งชนิดที่บิดนิดเดียวก็หักของสองฝ่ายนี้ ยากที่จะทำให้ความขัดแย้งคลี่คลายลงได้ จำเป็นที่ต้องปรับตัวกันทั้งสองฝ่าย หรือปรับความคิดมิให้แข็งโป๊กจนเกินไปทั้งสองฝ่าย เช่น “ความเป็นไทย” โดยตัวของมันเองหาได้เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจแต่อย่างไร จะน่ารังเกียจหรือน่าชื่นชมขึ้นอยู่กับการให้ความหมายแก่ “ความเป็นไทย” ต่างหาก พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือเรากำลังขัดแย้งกันด้วยนิยามของอัตลักษณ์ ตราบเท่าที่การนิยามนั้นไม่รอนสิทธิของคนอื่น จะเบี้ยวไปทางวัฒนธรรมชนชั้นสูงมาก หรือทางชาวบ้านมากก็ไม่น่าเป็นปัญหาแต่อย่างไร

ไม่ชอบฟังเพลงลูกทุ่ง มิได้ทำให้ “ความเป็นไทย” ของใครลดน้อยถอยลง เท่ากับไม่ชอบฟังเพลงไทยเดิม ก็ไม่ทำให้ “ความเป็นไทย” ของใครลดน้อยถอยลงเหมือนกัน แต่หากนิยาม “ความเป็นไทย” ด้วยสิทธิที่ไม่เท่าเทียมระหว่างช่วงชั้นต่างๆ นั่นคือรอนสิทธิผู้อื่น ไม่ใช่เพียงแต่ทำลาย “ความเป็นไทย” ของคนอื่นเท่านั้น แต่ทำลาย “ความเป็นคน” ของเขาลงด้วย

การปรับความคิดให้เปิดกว้างพอที่จะทำให้ปรปักษ์มีที่ยืนไม่ใช่เรื่องยากเกินไปเมื่อทุกอย่างชะงักงันไปสักพักหนึ่งทุกฝ่ายก็ต้องหาทางปรับตัวกันเองจนได้เกิดขึ้นมาแล้วในทุกสังคม รวมทั้งสังคมไทยด้วย แต่การสถาปนาอำนาจเด็ดขาดเหนือกฎหมายขึ้นด้วยการรัฐประหารต่างหาก ที่ทำให้ทุกฝ่ายต้องหันไปยึดกุมความคิดตนเองอย่างเหนียวแน่นแข็งโป๊กมากขึ้น การปรับตัวหรือปรับความคิดกลายเป็นความพ่ายแพ้ ซึ่งอาจต้องสูญเสียอะไรอื่นมากไปกว่าตัวความคิดที่เคยยึดถือ และเพื่อจะไม่ต้องปรับความคิด ก็พร้อมจะโกหก, ป้ายสี, ใช้ยุทธวิธีสกปรก เช่น อุ้มฆ่า, กดขี่ข่มเหง, ลี้ภัย, ประณาม, ก่อการร้าย, ฯลฯ ทั้งหมดนี้ยิ่งทำให้ความขัดแย้งร้าวลึกลงไปจนยากจะเยียวยา

 

หมายเหตุ
ผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ในสังคมไทย ยังมีการศึกษาด้านต่างๆ น้อย ส่วนใหญ่ของงานศึกษาเป็นของนักเศรษฐศาสตร์ แต่เราไม่ชัดเจนว่ามันเกิดผลกระทบอย่างไรต่อระบบความสัมพันธ์ทางสังคม หรือวัฒนธรรม ต่อความคิดและการปฏิบัติทางการเมืองอย่างไร ต่อการสร้างและรวมกลุ่มทางสังคมอย่างไร ต่อพื้นฐานทางจิตวิทยาของคนไทยอย่างไร ฯลฯ

ข้อวิเคราะห์ข้างต้นของผมดูจะเป็นการวิเคราะห์แบบเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดมากเกินไปส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะผมหยั่งถึงผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้นได้ในมิติที่ค่อนข้างแคบคือมิติทางด้านเศรษฐกิจที่มีผู้ศึกษาไว้มากกว่าอื่นเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image