ที่มา | มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | คอลัมน์หน้า 3 มติชน |
แล้ว “เป้า” การส่งออกอันกระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้สำหรับปี 2559 ว่าจะต้องทะยานไปยังตัวเลขร้อยละ 5 ให้จงได้
ก็เริ่ม “สั่นไหว” ก็เริ่ม “คลอนแคลน”
การพบและหารือระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับ “ภาคเอกชน” ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ปรากฏว่าตัวเลขที่ออกมาไม่ตรงกัน
ไม่ใช่ร้อยละ 5 หากแต่น่าจะอยู่ระหว่างร้อยละ 2.2
ความพยายามไม่ว่าจะมองจากกระทรวงพาณิชย์ ไม่ว่าจะมองจาก “ภาคเอกชน” การพบและหารือครั้งนี้มีลักษณะ “กดดัน” ดำรงอยู่โดยพื้นฐาน
น่าสนใจก็ตรงที่กระทรวงพาณิชย์เรียกร้องที่ร้อยละ 3
ความหมายอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ร้อยละ 3 พุ่งปลายหอกปยัง “ภาคเอกชน” อันเกี่ยวกับการส่งออก แต่ที่เหลืออีกร้อยละ 2 กระทรวงจะพยายามอย่างเต็มกำลัง
“ตัวเลข” ยังกำหนดอยู่ที่ “ร้อยละ 5” ไม่แปรเปลี่ยน
หากมองจากฐานเดิมที่ตัวเลขติดลบ และเป็นการติดลบอย่างต่อเนื่องมาแล้วเป็นปีที่ 3 ต้องยอมรับว่า “เป้า” ของกระทรวงพาณิชย์เป็นเป้าที่สูง
ไม่ใช่สูงอย่างธรรมดา หากแต่ความสูงอย่างชนิด “เลิศลอย”
ถามว่าเป้าหมายการส่งออกปี 2559 ของไทย ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเอาไว้ให้เพดานดำรงอยู่ที่หลักร้อยละ 5 มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด
หากถาม ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ คงตอบว่า “เป็นไปได้”
หากถาม ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ซึ่งรับผิดชอบโดยตรงในด้านการส่งออก ก็จะต้องได้รับคำตอบอย่างหนักแน่นและมั่นคงว่า
“ต้องเป็นไปได้อย่างแน่นอน”
อย่างไรก็ตาม หากตรวจสอบข้อมูลไม่ว่าจะเป็นศูนย์วิจัยกสิกรไทย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทหลักทรัพย์ภัทรอันถือว่าเป็น “เครือข่าย” ที่ใกล้เคียงกัน
2 หน่วยงานนี้ประเมินไว้อยู่ที่ราวร้อยละ 2
เป็นการประเมินอย่างมีลักษณะ “กั๊ก” อย่างรอบคอบและรัดกุม ดังความเห็นของนายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ภัทร
“มีความเป็นไปได้ที่การเติบโตจะต่ำกว่าที่ประเมินไว้”
จากปัจจัย 3 ประการ กล่าวคือ 1 ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และน้ำมันลดลง จะทำให้การส่งออกในรูปมูลค่าลดลงตามไปด้วย 1 เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มแย่ลง และ 1 สถานการณ์ตลาดเงินบังคับให้ค่าเงินแต่ละประเทศอ่อนลง
ปัจจัย “ทั้งหมดนี้ล้วนมีผลต่อการส่งออกของไทย” ทั้งสิ้น
บริษัทในเครือ “กสิกรไทย” ไม่ว่าในด้านวิชาการและการวิจัย ไม่ว่าในด้านตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์ อาจมองโลกในด้านดี
แต่เมื่อเสาะข้อมูลจากธนาคาร CIMB ไทย กลับตรงกันข้าม
“เท่าที่ฝ่ายวิจัยได้ประเมินตัวเลข มองว่าจะไม่เติบโตเลย หรือเติบโตที่ร้อยละ 0” เป็นบทสรุปจาก นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสายบริหารความเสี่ยง
ยิ่งติดตาม “ข้อสังเกต” ต่อไปยิ่งเกิดอาการ “สยอง”
“ถ้าดูสถานการณ์ของจีนในขณะนี้ ถือว่ามีความเสี่ยงเช่นกันที่การส่งออกจะติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกปีนี้ดูจะมีมากกว่าปีก่อน”
เห็นได้จากความเสี่ยงโดย “จีน” ที่มีภาวะผันผวนตั้งแต่ต้นปี
“ความเสี่ยงของจีนไม่ได้มีผลเฉพาะทางตรงที่เราส่งออกไปจีนเท่านั้น แต่ยังมีความเสี่ยงทางอ้อมจากประเทศคู่ค้าอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียนด้วย”
ยืนยันว่าหากจีน “จาม” ประเทศอื่น คนอื่นก็จะเป็น “หวัด”
ตัวเลขสวยๆ ที่กำหนดเป็น “เป้าหมาย” การส่งออกของปี 2559 ให้อยู่ที่ร้อยละ 5 จึงอาจจะต้องมีการตัดลด ปรับระดับใหม่
ไม่เพียงแต่ “ภาคเอกชน” จะตัดลงมาเหลือร้อยละ 2
หากบางแห่งไปไกลถึงขนาดถอยจากร้อยละ 0 ลงไปในกรอบแห่ง “ติดลบ”
เรื่องราวในทางเศรษฐกิจอาจฟังดูหะรูหะราจากบรรดา “เกจิ” หรือเหล่า “กูรู” หน้าตาดีทั้งหลาย
แต่ก็ต้องแยกจำแนกว่าถ้อยคำหะรูหะราเหล่านั้นเสมอเป็นเพียงเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ในด้าน “การตลาด” เป็นความโลดโผนแห่งโวหาร “การตลาด”
ตัวเลขและ “ความเป็นจริง” ต่างหากคือ “บรรทัดสุดท้าย” ของคำตอบ