เอ็มโอยูการเมือง โดย จำลอง ดอกปิก

พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท



ในบรรดาคณะกรรมการชุดต่างๆ ในกระบวนการหาทางออก แก้ปัญหา ความขัดแย้งแตกแยกในสังคม วาระหลักของ คสช.

ชุด ‘บิ๊กเจี๊ยบ’-พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท

ชื่อทางการคือ คณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ได้รับการจับตามองมากที่สุด

ฉากหน้า-ฉากหลัง การเป็นตัวจริงคุมอำนาจ-กำลังทหารในปัจจุบัน และอนาคต

Advertisement

บัญชาการ คุมเกมการเปลี่ยนผ่าน

จึงได้รับการ ยกเป็นมือวาง ของจริง ทิศทางทุกอย่างน่าจะวางผ่าน คนกำกับดูแลการเปลี่ยนผ่านประเทศในอนาคต

พล.อ.เฉลิมชัย ให้สัมภาษณ์ล่าสุด ถึงความคืบหน้าการจัดทำร่างสัญญาประชาคม

Advertisement

หนึ่งในหัวข้อ ทางออกแก้ปัญหาความขัดแย้ง ว่าขณะนี้ ได้รับเอกสารข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนในสังคม จากคณะอนุกรรมการพิจารณาบูรณาการ ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ชุดที่ 2 แล้ว

จากนี้ต่อไปอนุกรรมการฯชุด ผบ.ทบ.จะประชุมหารือกันว่าจะดำเนินการอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และประชาชนเข้าใจง่าย ไม่เป็นนามธรรมเกินไป

ผบ.ทบ.แย้มว่า ร่างสัญญาประชาคมอาจจะแบ่งเป็นเนื้อหาเป็น 2 ส่วน

1.เนื้อหาสาระ และ 2.ภาคผนวก ขอเวลาดำเนินการสักระยะหนึ่งในการจัดระเบียบโครงสร้าง ก่อนจะนำข้อมูลมาบรรจุต่อไป

พร้อมทั้งแสดงความมั่นใจว่า เชื่อว่าการสร้างความปรองดองจะสำเร็จ เนื่องจากทุกพรรค และทุกกลุ่มการเมือง ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นกันครบ ขณะเดียวกันประชาชนทุกพื้นที่ก็เข้ามาให้ข้อมูล และแสดงความเห็นเช่นกัน นั่นถือเป็นความสำเร็จเบื้องต้นอยู่แล้ว

ร่างสัญญาประชาคมหรือที่เรียกว่า เอ็มโอยูการเมืองนั้น

ก่อนหน้านี้ มีการเปิดเผยเบื้องต้น ว่าหนึ่งในหัวข้อนั้น

คือ การให้พรรคการเมือง กลุ่มการเมืองต่างๆ ลงนามในสัตยาบันร่วมกัน

ทุกพรรค-ทุกฝ่ายต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง

อันที่จริง เรื่องการยอมรับผลการเลือกตั้งนั้น ถึงไม่มีการจับพรรคการเมืองมาลงนาม ทุกพรรคที่ลงสนามแข่งขัน ด้วยกฎกติกาเดียวกัน ต้องยอมรับผลการเลือกตั้งโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว แต่การทำเอ็มโอยู ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่ประการใด เป็นการเน้นย้ำให้ทุกพรรค รักษาคำมั่นสัญญาอย่างเคร่งครัด

การเล่นการเมืองตามท้องถนน ไม่ยอมแม้แต่ให้ใช้กระบวนการเลือกตั้งเป็นทางออกแก้ปัญหาความขัดแย้งตามระบบ เป็นที่ประจักษ์ชัดมาแล้วว่า นำไปสู่อะไร และสร้างความเสียหาย พังพินาศแก่ประเทศชาติบ้านเมืองมากน้อยเพียงใด

การยอมรับผลการเลือกตั้งจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

การเคารพการตัดสินใจของประชาชนจึงเป็นเรื่องสำคัญ

แต่อย่างไรก็ตาม ในขณะที่บ้านเมืองกำลังย่างเดินเข้าสู่โซนประชาธิปไตย มีการประกาศบังคับใช้รัฐธรรมนูญ และจัดทำกฎหมายลูก 4 ฉบับสำคัญอย่างขะมักเขม้น เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง คืนอำนาจตัดสินใจให้ประชาชนตามโรดแมปการปฏิรูปประเทศที่รัฐบาล คสช.วางไว้

กลับมีการส่งสัญญาณผิดๆ สวนทางกับความพยายามสร้างความสามัคคีปรองดอง

ผู้หลัก ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ออกมาแสดงความห่วงใย ทำนองกลัวว่า เมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว จะได้คนเก่า กลุ่มเดิม ชนะเลือกตั้ง เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน

เป็นท่าทีที่แสดงออกในลักษณะที่จะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง

ไม่เคารพการตัดสินใจของประชาชน ผู้ที่เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง ซึ่งผิดหลักการประชาธิปไตย ที่เสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์อย่างยิ่ง

ทั้งที่เป็นผู้กำกับ วางแนวทางการเขียนรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.

ประกอบฯ กติกาทุกอย่าง

แต่กลับแสดงท่าที ไม่ยอมรับ ความชอบธรรมของผู้ที่ได้รับเลือกตามกติกาที่ตัวเป็นผู้กำหนด

ยังไม่ทันเลือกตั้ง ยังไม่ทันมีรัฐบาลใหม่

กลิ่นวงจรอุบาทว์โชยมาแต่ไกล

หากไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ไม่ยอมรับการตัดสินใจของประชาชน

ยากเป็นอย่างยิ่งที่บ้านเมืองจะหลุดพ้นจากวิกฤตความขัดแย้ง

รังแต่จะวนเวียน ย่ำเท้าอยู่ในยุคอนาล็อก

ดำรงอนุรักษ์ความล้าหลังอยู่อย่างนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image