การเมือง สะเทือน กระทบ ‘ประชาธิปัตย์’ จาก สุเทพ กปปส.

เหมือนกับการออกมา “สนับสนุน” ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีก 4-5 ปี ของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะเป็นการแสดงออกอย่างเป็น “ส่วนตัว”

คำถามก็คือ หากเป็นส่วนตัวไฉนจึง “เป็นข่าว”

คำถามก็คือ หากเป็นส่วนตัวไฉน นายถาวร เสนเนียม จึงต้องออกมา “อธิบาย” เพื่อให้ความเข้าใจว่าเหตุใด นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จึงต้องคิดอย่างนั้น

คำถามก็คือ หากเป็นส่วนตัวไฉนจึงมีปฏิกิริยาจาก “บางส่วน” ในพรรคประชาธิปัตย์

Advertisement

เป็นบางส่วนอาจคล้ายกับไม่ได้มีน้ำหนักมากนักเมื่อเทียบกับเสียงของ นายถาวร เสนเนียม แต่ก็สะท้อนความเป็นห่วง

ห่วงว่าท่าทีของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อาจสะเทือน “พรรคประชาธิปัตย์”

จึงจำเป็นต้องออกมาแสดงความมั่นใจว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะสามารถนำพาพรรคประชาธิปัตย์ไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้ง

Advertisement

และตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ต้องเป็นของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มิใช่คนอื่น

การออกมาแสดงท่าทีของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ดำเนินไปทั้ง 1 เป็นท่าทีอย่างเป็นส่วนตัว ขณะเดียวกัน 1 ด้วยสถานะทางการเมืองของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ท่าทีนี้จึงมีผลสะเทือน

เพราะนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เคยเป็นถึงเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์

ทั้งยังเป็นเลขาธิการพรรคซึ่งดำเนินกลยุทธ์ทางการเมืองกระทั่งหัวหน้าพรรคเข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนธันวาคม 2551

ทั้งๆ ที่การเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550 ไม่ได้เป็นพรรคเสียงข้างมาก

นี่จึงเหมือนกับ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ในฐานะเลขาธิการพรรคทำให้ นายชวน หลีกภัย ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2540

เสียงของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จึงมี “น้ำหนัก”

ยิ่งกว่านั้น นอกจากน้ำหนักอันมีต่อวงการเมืองในวงกว้างแล้วยังส่งผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งอย่างเป็นการเฉพาะไปยังพรรคประชาธิปัตย์ แม้ว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะลาออกและประกาศไม่ได้มีความสัมพันธ์ก็ตาม

นามของคน เงาแห่งไม้

ความจริง คำประกาศของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ว่าไม่มีปัญหาอะไรกับแกนนำ กปปส.และพร้อมรับแกนนำ กปปส.เข้ามาอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์

ก็ชี้ “ทิศทาง” ของพรรคประชาธิปัตย์อย่างยิ่งอยู่แล้ว

เพราะว่าบทบาทของ กปปส.เมื่อเดือนตุลาคม 2556 มีส่วนอย่างสำคัญในการปูทางและสร้างเงื่อนไขให้กับรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

เป็นรัฐประหารที่ “สังคม” เริ่มมีความแคลงใจใน “เจตนา” และ “ผลงาน”

การที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขานรับแกนนำ กปปส.เข้าเป็นส่วนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์และการที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อันเป็นผู้นำบารมีของ กปปส.ในทางเป็นจริงแสดงการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีในระยะเปลี่ยนผ่านอีก 4-5 ปี

จึงกลายเป็น “โจทย์” ทางการเมืองอันแหลมคมยิ่งสำหรับ “ประชาธิปัตย์”

เพราะหาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยอมรับต่อแนวทางอันมาจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็เท่ากับว่าปฏิเสธบทบาทและความหมายของตัวเอง

และผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ คสช.และของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หากเวลา 3 ปีของรัฐประหารและการบริหารราชการแผ่นดินโดย คสช.และรัฐบาลสามารถสร้างผลงานอันโดดเด่น

ปัญหาก็ไม่น่าจะมีหากชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

แต่หากยิ่งวัน คำถามอันเกี่ยวกับ “รัฐประหาร” ยิ่งกระหึ่มด้วยความคลางแคลงใจ คำถามถึงผลงานของ คสช.และรัฐบาลยิ่งกระหึ่มด้วยความไม่แน่ใจ

การชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงคง “เหนื่อย” มากกว่าปกติธรรมดา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image