6ปัจจัยที่บ่งบอกว่า รัฐบาล คสช. ขาขึ้น หรือขาลง โดย : ณรงค์ ขุ้มทอง

3 ปีกว่าแล้วประเทศไทยอยู่ภายใต้การบริหารแผ่นดินของรัฐบาล คสช. (ทหาร) ผลพวงมาจากมีคนกลุ่มหนึ่งรวมตัวขับไล่รัฐบาลจากการเลือกตั้งของประชาชน ด้วยข้อหาการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่มีคนเขาวิจารณ์กันว่า มีทางเดียวที่จะล้มรัฐบาลนี้ได้ ต้องยึดอำนาจ ขืนปล่อยไว้ให้เป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย ก็จะสร้างปัญหาให้กับประเทศ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการศึกษา ต่อไปนักการเมืองน้ำดีจะท้อถอย นักการเมืองที่เห็นแก่ได้ก็จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศ จนยากยิ่งที่รื้อฟื้นกลับมา

รัฐบาลภายใต้การบริหารโดยทหารจึงต้องออกแรงเป็นพิเศษ ด้วยปัญหาของประเทศที่หมักหมมมายาวนานเกือบทุกด้าน ด้วยแรงบีบจากต่างชาติที่ไม่ยอมรับรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ ด้วยกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกเกือบทุกด้าน ฉุดรั้งให้ประเทศเดินหน้าไม่ได้ นี้คือโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล ยิ่งบริหารด้วยข้าราชการ (ทหาร) ซึ่งชำนาญแต่ด้านการรบ การยุทธ์ ข้าศึก พอเจอกระแสโลกขับเคลื่อนนานๆ เข้า ทำท่าจะไปไม่เป็น ยกแรก ยกสอง ดูเป็นมวยหลัก พอเจอยกสาม ยกสี่ ออกทะเลกลายเป็นมวยวัด อันนี้ต้องระวัง คาถาเสียของทำท่าจะเอาไม่อยู่ กลัวเสียคนแล้วซิ 22 เมษายน 2560 สวนดุสิตโพลเปิดเผยปัญหาจากการจัดทำโพลที่เริ่มส่อให้เห็นว่ารัฐบาลเริ่มเป๋ ซึ่งพอสรุปได้ ดังนี้

1.ด้านเศรษฐกิจ 87.92% รัฐบาลยังแก้ไม่ตก ของกินของใช้ราคาแพง ราคาผลผลิตตกต่ำ การส่งออกมีปัญหา มีคนว่างงาน ตกงาน หวังพึ่งได้แค่การท่องเที่ยว ภาคใต้ฝนตกยางพาราผลัดใบ ฝนตกผิดฤดูตัดยางไม่ได้ การลงทุนขนาดใหญ่ไม่มีหวัง ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเพียงจุดเดียวน่าจะไม่พอ หวังต่างชาติมาลงทุนน่าจะยากยิ่ง บรรยากาศการลงทุนไม่อำนวย เค้าลางแห่งความขัดแย้งยังมีอยู่ ประเทศข้างเคียงมั่นคงกว่า ค่าแรงถูกกว่า รัฐบาลน่าลองนำโครงการใหญ่ๆ มาวางแผนศึกษาความเป็นไปได้ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงที่รัฐมีนโยบายอยู่แล้วขึ้นมาใหม่ โครงการศึกษาความเป็นไปได้คลองไทยเชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน หรืออีกหลายๆ โครงการ ควรหยิบยกขึ้นมาเคาะสนิมดู การแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ควรใช้วิธีการแจกเงิน หรือประกันราคา หรือแทรกแซงราคา ซึ่งเป็นวิธีเดิมๆ ส่วนเรื่องคลองไทยขณะนี้ กำลังเป็นที่สนใจของประชาชน กำลังรวบรวมรายชื่อสรุปให้ท่านนายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ ความคุ้มทุน (ไม่ใช่ขุด)

2.ด้านการทุจริตคอร์รัปชั่น 76.61% ประชาชนยังมองเห็นว่า ยังมีการทุจริตอยู่ ทั้งที่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศเพื่อปราบปรามการทุจริต แต่ดูเหมือนแก้ไม่ได้ ดูแนวโน้มแย่ลงด้วยซ้ำ ยิ่งมีองค์กรต่างประเทศเปิดเผยข้อมูลว่าไทยแย่ลง ก็ยิ่งลดความน่าเชื่อถือ ทั้งที่ท่านนายกรัฐมนตรีมุ่งมั่นตั้งใจมาก มีทางเดียวต้องเด็ดขาดและเป็นธรรม และควรวางแผนระยะยาวปลูกฝังตั้งแต่เด็กใส่เข้าไปในหลักสูตรในเนื้อหาตั้งแต่ชั้นประถมน่าจะดี และทีมงานของรัฐบาลเองจะต้องโปร่งใสจริงๆ ตรวจสอบได้

Advertisement

3.ด้านความเห็นต่าง (ขัดแย้ง) ทางการเมือง 70.45% หวังจากการปรองดองยังไว้ใจไม่ได้ ระยะหลังนิสัยคนไทยเปลี่ยน ไม่ค่อยฟังใคร ไม่ยอมใคร แต่ถ้าย้อนดูประวัติศาสตร์ คนไทยเก่งมาก ถ้ารบกับคนไทยด้วยกัน วิธีแก้ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมให้มากกว่านี้ ต้องจริงจังและจริงใจปราศจากอคติและอย่าสองมาตรฐาน และที่สำคัญ ทำอย่างไรให้คู่ขัดแย้งหันหน้าเข้าหากัน 10 ปีแล้ว ประเทศตกหลุมดำแห่งความแตกแยก แตกร้าว จากคนกลุ่มนี้ และขอวิงวอนคู่ขัดแย้งให้ตั้งสติและกลับไปทบทวนย้อนหลังไป 10 ปี ความขัดแย้งมาจากคน 2 กลุ่มที่ขัดผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน

4.ด้านการบังคับใช้กฎหมาย 64.78% และการใช้ ม.44 เริ่มมีเสียงคัดค้านและเรียกร้องความเป็นธรรม เลิกสองมาตรฐาน เลิกอคติ เลิกเคียดแค้นอาฆาต บางอย่างก็ต้องเด็ดขาดและแน่วแน่ อย่างเช่น กฎหมายเกี่ยวกับการจราจร การใช้รถกระบะของประชาชน ปัญหาต้นเหตุมาจากผู้ออกกฎหมายทั้งสิ้น ปล่อยปละละเลย หูหนวก ตาบอดมานาน พอถึงคราวจะบังคับใช้ก็ยากลำบาก และก็แปลกดีช่วงสงกรานต์ นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงประชาชนจะไม่ปลอดภัย จะบาดเจ็บ ล้มตาย ซึ่งท่านถือว่าประชาชนคือทรัพยากรที่ล้ำค่า ไม่ควรมาล้มตาย แต่ผิดคาด เดินหน้าไม่ได้ ต้องถอยหลังด้วยเสียงคัดค้าน และก็แปลกเช่นกัน คนไทยเราแทนที่จะช่วยกันสนองนโยบายดีๆ ของรัฐบาล กลับประท้วง
รัฐเป็นห่วงไม่อยากให้ล้มหายตายจาก แต่คนไทยไม่ยอม ไม่เห็นด้วย แปลกดี

5.การเดินหน้าให้มีกระบวนการประชาธิปไตย (เลือกตั้ง) 61.18% ยังไม่ชัดเจนมากนัก หลังจากโปรดเกล้าฯรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ การขับเคลื่อนกฎหมายลูกกำลังเดินหน้า แต่ด้วยปัญหาและปัจจัยทั้งเก่าและใหม่ ผู้มีอำนาจจึงต้องคิดหนัก ลางร้าย ความขัดแย้งน่าจะยังมีอยู่ รัฐบาลหรือ คสช.กังวลมากว่าหลังเลือกตั้งแล้วคู่ขัดแย้งยังมีอยู่หรือไม่ รัฐบาลจึงกลัวเสียของ ขณะเดียวกัน คนไทยทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองต้องไม่ลืมว่าที่รัฐบาลทหารเข้ามาบริหารบ้านเมืองก็เพราะคนการเมืองขัดแย้งกันเอง คนการเมืองใช้ช่องทางนี้ หาผลประโยชน์เข้าพรรคเข้าพวกตนเอง นักการเมืองแบ่งปันผลประโยชน์ไม่ลงตัว
จึงเกิดความขัดแย้งกัน

Advertisement

6.การปฏิรูปการศึกษา คือโจทย์ใหญ่ของประเทศ เพราะการศึกษาคือดัชนีชี้วัดทุกๆ ด้าน คือด้านคุณภาพชีวิต ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมและวัฒนธรรม ปฏิรูปมาหลายครั้ง แต่ก็ไม่ก้าวหน้าดังที่หวัง ไม่ถึงเด็ก วัดได้จากไทยเข้าร่วมการประเมิน Pisa ปี 2543
17 ปียังแย่ ยังตามหลังชาติอื่นๆ ปัญหาใหญ่อยู่ที่กระบวนการคัดคนเข้าสู่ตำแหน่ง ตั้งแต่ผู้บริหารโรงเรียนมือใหม่หัดขับ คิดไม่เป็น ทำไม่เป็น แค่อ่านหนังสือเก่ง เรียนเก่ง สอบได้คะแนนดี ก็ได้เป็น ผอ. ควรหาวิธีการอื่นๆ ที่หลากหลาย ลองใช้วิธีแบบบริษัทใหญ่ๆ คัดคนโดยการดูความรู้ ทักษะ ประวัติ และเจตคติ ในการทำงานและบริหารงาน ผู้บริหารองค์กรสำคัญที่สุด เร่งปฏิรูปให้มี ศธ.ภาค/ศธ.จังหวัด ยังไม่พอ ระดับอำเภอควรรื้อฟื้นมาใหม่และควรเร่งทำ หลายคนค้านว่าถอยหลังลงคลอง แต่อยากถามว่าปัญหาการคิด การตรวจสอบในระดับอำเภอ ระดับรากหญ้า ในแต่ละอำเภอให้ใครดูแลส่งเสริมและติดตามการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาระดับอำเภอ 10 ปี เสียหาย ครูกับชุมชนห่างไกลกัน ครูคือคนที่แปลกหน้า รากฐานความสัมพันธ์ สามัคคี ล่มสลาย ต่างคนต่างทำแยกส่วน เดิมข้าราชการอำเภอรักใคร่กลมเกลียวกัน ร่วมมือกันทุกภาคส่วนทุกสังกัด

ปัจจุบันไม่มีนายอำเภอ ขาดมือ ขาดคนรับช่วงนโยบายไปสู่ประชาชน ปรับองค์คณะ กศจ. จาก 22 เหลือ 15 ก็ยังไม่เพียงพอ บางจังหวัดได้คนที่ไม่ตรงกับความต้องการและเข้าใจด้านการศึกษา บางจังหวัดวิ่งเต้นหาเสียงหาคะแนนกันจ้าละหวั่น เล่นพรรคเล่นพวกกัน กรรมการบางคนยังไม่รู้ว่าเป้าหมายของ กศจ.คืออะไร

การบริหารราชการแผ่นดินมี 3 ส่วน คือ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยมีมือมีเท้า คอยสอดส่องดูแล แต่กระทรวงศึกษาฯหลังจาก 9 อรหันต์เข้าบริหารการศึกษา ยุบ ศธ.จังหวัด ยุบ ศธ.อำเภอ ยกเลิกครูในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม (ครู สช./ครูของรัฐ) หมด อ้างว่าโรงเรียนต้องการอิสระ ไม่ควรมีใครควบคุมดูแล เห็นไหม เขาสอนอะไร ทำอะไร เป็นข่าวเกรียวกราวอยู่ในขณะนี้ และสร้างปัญหาให้กับประเทศอย่างใหญ่หลวง ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ที่จริงอยากให้รัฐบาลเชิญ 9 อรหันต์มาช่วยตอบสังคมทีน่าจะดี การรื้อฟื้น ศธ.อำเภอกลับมา ควรทำอย่างเร่งด่วน ไม่ใช่ถอยหลัง แต่อะไรก็ได้
ถ้ามันดีมันแก้ปัญหาได้ ควรทำ หมอธีระเกียรติ รมว.ศึกษาฯอย่ากลัว ลองให้ใครลงไปดูในระดับตำบล อำเภอ ใครดูแลการศึกษา ใครดูแลสังคม ศาสนา และวัฒนธรรม ใครดูแลทุกข์สุขของประชาชน และใครดูแลปัญหาของประเทศ อย่างน้อยครูสามารถเป็นหูเป็นตาให้กับหน่วยเหนือได้ เขตพื้นที่ขาดศักยภาพ พื้นที่รับผิดชอบมากเกินไป มหาดไทยมีนายอำเภอ มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีแพทย์ประจำตำบล กระทรวงศึกษาฯกลับไม่มี อยากรู้นักเอาอะไรมาคิด
ซ้ำร้ายจังหวัดใหญ่ถูกแบ่งออกเป็น 2-3 เขต

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและลึกซึ้ง ส่งเสริมให้ครู-นักเรียนในจังหวัดเดียวกันแบ่งแยกกันโดยไม่รู้ตัว ขาดพลัง เด็กและครูได้เรียนรู้ไม่เท่ากัน ความรัก ความสามัคคีหมดไป เช่น เดิมงานวันครู มีครูนับ 1,000 คน แต่ปัจจุบันไม่มี ไม่จัด ทั้งที่เป็นวันที่ทรงเกียรติแห่งครู เพราะแยกกัน รวมตัวกันไม่ได้ ฝากหมอธีระเกียรติ และท่าน
นายกฯประยุทธ์ที่ให้ความสำคัญด้านการศึกษามาโดยตลอด ช่วยกันแก้โดยด่วน การบริหารแบบปัจจุบันเป็นการบริหารแบบหมาหางด้วนเช่นกัน หรือเป็นองค์การทางการศึกษาที่มีแต่หัว แต่หางไม่มี กลายเป็นสัตว์ประหลาดไปทางการศึกษาของไทย

ความหนักใจและกังวลใจของประชาชนที่แสดงออกจากผลโพลข้างต้น ไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม อย่างน้อยสะท้อนอะไรหลายอย่างที่รัฐบาลและ คสช.ควรตระหนักและใส่ใจ ปัญหาใหญ่คือ ด้านเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่อ่อนไหวและสำคัญมากๆ มีการเปลี่ยนผ่าน เปลี่ยนมือ ทีมงานเศรษฐกิจก็แล้ว ใช้เกือบทุกกระบวนท่าแล้ว ก็ยังไม่ค่อยฟื้น นักลงทุนยังขาดความมั่นใจ ทั้งๆ ที่ลงทุนลงแรงไปมากพอสมควร ในเขตภาคตะวันออก (ระเบียงเศรษฐกิจ) แต่ด้วยวิสัยทัศน์ผู้นำ (บางคน) ค่อนข้างใจแคบ มองในมุมแคบ การลงทุนจะกระจุกตัวอยู่ในภาคกลาง ภาคตะวันออก วิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจก็มักใช้กับวิธีเดิมๆ ใช้ภาครัฐขับเคลื่อนผลออกมาจึงไม่เป็นดังที่หวัง เศรษฐกิจของชาติกว้างขวางและใหญ่โต การลงทุนของเอกชนและต่างชาติ บวกความเชื่อมั่น ยังเป็นปัจจัยสำคัญและเสี่ยง ตราบใดผู้นำไม่กล้าตัดสินใจบวกกับนิสัยคนไทยที่ชอบเหยียบเรือสองแคม สองมาตรฐาน ก็ยากยิ่งอีก การลงทุนในโครงการใหญ่ๆ ควรมีการรื้อฟื้นขึ้นมา และควรรีบเร่งทุกอย่างที่กล่าวมา ขึ้นอยู่กับผู้นำและทีมบริหารประเทศ ต้องกล้านำ กล้าทำ และกล้าตัดสินใจ ยึดอำนาจมาแล้ว เสี่ยงมาแล้วมากลัวอะไร เห็นที่ตัดสินใจซื้อเรือดำน้ำกล้ากันดี ทั้งๆ ที่มีคนเห็นต่าง แต่ถ้าจำเป็น เวลาที่เหมาะสมก็ควรมีเรือดำน้ำ
แต่ผู้เขียนมองว่ารัฐบาลทหารมาแล้วไม่เสริมเขี้ยวเล็บด้านความมั่นคงก็ไม่ใช่ทหาร แต่อย่าลืมว่าอำนาจบางครั้งก็หอมหวานน่าลิ้มลอง แต่บางครั้งอำนาจก็สร้างความเจ็บปวดกับผู้นำและประชาชนมากเช่นกัน สุดท้ายอำนาจที่แท้จริงคือ อำนาจของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศต่างหาก ที่มั่นคงและยั่งยืน และขอย้ำว่า ทุกอย่างถ้าผู้นำไม่กล้า ก็ไม่สามารถเดินหน้าได้ วิลเลียม เชคสเปียร์ เคยกล่าวไว้ และมักเป็นจริงเสมอ

ณรงค์ ขุ้มทอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image